เล่มที่ 15
ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ฝนกรด (acid rain)

            หมายถึง น้ำฝนที่มีค่าความเป็นกรด-เบส (pH value) ต่ำกว่าระดับ ๕.๖ กรดในน้ำฝนเกิดจากการละลายน้ำของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนทริกออกไซด์ ที่มีอยู่ในบรรยากาศ ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างซีกโลกเหนือและใต้ ประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตร จึงใช้เชื้อเพลิงมากกว่าซีกโลกใต้ประมาณ ๑๖ เท่า จึงทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกไซด์ของกำมะถัน และออกไซด์ของไนโตรเจน มากกว่าปกติ เมื่อฝนตกลงมาจึงละลายก๊าซเหล่านั้น ทำให้น้ำฝนมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น สำหรับธาตุไนโตรเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เมื่อตายไป ซากพืชและสัตว์จะเน่าสลาย มีก๊าซแอมโมเนียเกิดขึ้น จุลินทรีย์บางกลุ่มจะเปลี่ยนก๊าซแอมโมเนียให้เป็นสารจำพวกไนไทรต์ และไนเทรต และจุลินทรีย์กลุ่มอื่น ก็อาจจะแปลงสารดังกล่าว ย้อนกลับไปเป็นก๊าซไนโตรเจนในบรรยากาศได้ ส่วนพืชจำพวกถั่วมีความสามารถต่างจากพืชอื่นคือ ดึงก๊าซไนโตรเจนในบรรยากาศมาใช้ได้โดยตรง แล้วทำให้เกิดปุ๋ยในดินเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นปรากฏการณ์ฟ้าผ่า จะทำให้ก๊าซไนโตรเจนกลายเป็นสารประกอบไนโตรเจนได้ จากการทำงานของเครื่องยนต์ของรถ เรือ และเครื่องบิน ก็ทำให้เกิดก๊าซไนทริกออกไซด์ได้เช่นกัน และเมื่อไปทำปฏิกิริยากับโอโซนต่อไป ก็จะทำให้เกิดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เมื่อเกิดฝนจะละลายน้ำ ทำให้เกิดกรดไนทรัส และกรดไนทริก ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างแสดงความแปรปรวนของสารประกอบไนโตรเจน ดังนั้นจึงคาดเดา ปริมาณของสารประกอบไนโตรเจนในบรรยากาศได้ค่อนข้างยาก แต่พอที่จะเห็นได้ว่า ออกไซด์ของไนโตรเจนเกิดจากตามวิถีธรรมชาติมากกว่าที่จะเกิดจากการกระทำของมนุษย์นับสิบเท่า