เล่มที่ 16
สังคมและวัฒนธรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เรื่องของสังคมและ วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ เปรียบเสมือนเหรียญเงินที่มีด้านหน้า และด้านหลัง สังคมนั้นหมายถึง กลุ่มคนที่อยู่รวมกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่งมาช้านาน จนมีความรู้สึกว่า เป็นพวกเดียวกัน และมีภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีทางในการดำรงชีวิตร่วมกันเป็นแบบอย่างเดียวกัน วัฒนธรรมนั้นหมายถึง บรรดาขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา และทุกสิ่งทุกอย่างที่คนในสังคมนั้น สร้างขึ้นมา เพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสังคม ก็ไม่มีวัฒนธรรม ทั้งสองอย่างจึงเป็นของคู่กันอย่างแยกไม่ออก

มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่อยู่ด้วยตนเองตามลำพังไม่ได้ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่แรกเกิดจนตายมนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ด้วยตนเองตามลำพังไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ตั้งแต่แรกเกิดจนตาย

            แต่ทว่าการที่จะทำความเข้าใจกับคำว่า สังคม และวัฒนธรรมนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะดูเป็นนามธรรม ที่ไม่อาจกำหนดให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ อย่างเช่น ถ้าหากว่า สังคมหมายถึง กลุ่มชนแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากำหนด เป็นกรอบเป็นเกณฑ์ว่า กลุ่มชนขนาดใด ถึงจะเป็นสังคม อาจเป็นได้ทั้งกลุ่มคนที่รวมอยู่ในประเทศเดียวกันลงมา จนถึงเมือง บ้าน และครัวเรือนในระดับภูมิภาค และท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ส่งผลไปถึงวัฒนธรรม ทำให้บางสิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน แต่บางสิ่งก็ไม่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นนี้เห็นได้ชัด ทั้งบุคคลทุกผู้ทุกนามในประเทศ แต่ถ้าหากบอกว่า ในประเพณีการเกิดของคนไทยนั้น เมื่อเด็กเกิดมาแล้ว ต้องมีแม่ซื้อ กล่าวคือ สมมติให้ มีหญิงที่คุ้นเคยกับครอบครัวของเด็ก มาขอซื้อเด็กไปจากพ่อแม่ เพื่อเป็นการอ้างและแสดงให้ผีรู้ว่า พ่อแม่ไม่อาลัยรักในลูก จึงให้คนอื่นซื้อไป เพราะถ้าแสดงว่า รักลูกห่วงลูกแล้ว ผีที่มีจิตใจริษยา อาจมาเอาชีวิตเด็กไปได้ ประเพณีเช่นนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่า เป็นประเพณี หรือวัฒนธรรมของคนไทยทั้งประเทศได้ เพราะ บางท้องที่ บางครอบครัว อีกเป็นจำนวนมาก อาจไม่มีประเพณีแม่ซื้อดังกล่าวก็ได้ ดังนั้นการที่จะอธิบายว่า คนไทยต้องมีประเพณีแม่ซื้อ จึงเป็นเรื่องไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด หรือบางทีในท้องถิ่นหนึ่ง ผู้คนในท้องถิ่นนั้น เคยมีประเพณีแม่ซื้ออยู่ในสมัยหนึ่งนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวเสื่อมหรือหมดไป โดยไม่มีใครปฏิบัติอีกแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจจะอธิบายได้ว่า เป็นประเพณีของคนไทยในปัจจุบัน เช่นกัน

สังคมในชนบทของไทย เป็นสังคมที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสิ่งต่างๆ เช่น งานทำบุญต่างๆ งานศพ เป็นต้น
            โดยนัยเช่นนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรม จึงเป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่สัมพันธ์กับกลุ่มคนเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับสถานที่ และเวลาอีกด้วย ซึ่งผลของความสัมพันธ์เช่นนี้ ทำให้ลักษณะของสังคม และวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ภาพนิ่ง แต่เป็นภาพที่เคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นสังคม และวัฒนธรรม จึงมีธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การที่จะเข้าใจในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการวินิจ และวิเคราะห์กัน จึงจะแลเห็น และเกิดความเข้าใจได้ แต่ทว่า การจะวิเคราะห์ได้ก็ต้องมีแนวคิด ทฤษฎี และวิธีการ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานเสียก่อน แนวคิดอย่างกว้างๆ ที่จะทำความเข้าใจเรื่องของสังคม และวัฒนธรรม ในที่นี้คือ การเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ นั่นก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ด้วยตนเองตามลำพังไม่ได้ ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่แรกเกิดจนตาย จึงเป็นสัตว์ที่เรียกว่า สัตว์สังคม สัตว์สังคมอื่นๆ ก็มีอีกมากมาย เช่น พวกมด ผึ้ง ปลวก ไปจนถึงสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับมนุษย์ เช่น พวกลิง แต่มนุษย์ก็แตกต่างไปจากบรรดาสัตว์สังคมอื่นๆ เหล่านั้นตรงที่ว่า มีช่วงเวลาที่ต้องพึ่งผู้อื่นยาวนานกว่า เช่น เมื่อเด็กแรกเกิดมาก็ต้องอาศัยการดูแลของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และครอบครัวเป็นเวลานานก่อนที่จะเติบโต และช่วยตัวเองได้ ยิ่งกว่านั้นต้องอาศัยการเรียนรู้ และปรับตัวเอง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมตลอดเวลา โดยเฉพาะความสามารถในการเรียนรู้ การส่งภาษา อันเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ และการสื่อสารได้อย่างกว้างขวางนั้น เป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากบรรดาสัตว์สังคมอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะบรรดาสัตว์อื่นนั้น ความสามารถในการเรียนรู้ และการส่งภาษามีน้อยมาก อีกทั้งการรวมกลุ่มอยู่รวมกัน ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปโดยสัญชาตญาณมากกว่า ดังเช่น พวกสัตว์ประเภทผึ้ง มด ปลวก เป็นต้น มีลักษณะอย่างใดก็เป็นอย่างนั้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใด ในขณะที่การรวมกลุ่มทางสังคมของมนุษย์ มีลักษณะเคลื่อนไหว และเปลี่ยนตลอดเวลา

สังคมไทยในสมัยก่อน ผู้ชายจะนิยมสักตนเองเป็นรูปต่างๆ เพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่ง และมีความเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว

            ยิ่งไปกว่านั้นความสามารถในการเรียนรู้ การคิด และการส่งภาษาที่เป็นสัญลักษณ์ได้นี้เอง ยังทำให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่นอกเหนือไปจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ในถิ่นฐานที่คนอาศัยอยู่ ไปถึงเรื่องของสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ อันไม่อาจหาคำตอบได้ด้วย การพิสูจน์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์มีความสัมพันธ์กับปัญหาในเรื่องเวลา และสถานที่ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั้นก็คือเวลา และสถานที่ ก่อนที่ตนเองจะมาเกิดในโลกนี้ และเมื่อตายแล้ว จะไปที่ไหน เป็นอย่างใดในอนาคต จากสิ่งที่เป็น ปัญหา และการต้องการหาคำตอบนี้เอง ทำให้ชีวิตของมนุษย์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น และมีการสังสรรค์กัน เพื่อให้มีอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ที่เป็นปัจจัยสี่แต่เพียงอย่างเดียวไม่ หากยังมีความสัมพันธ์ข้ามพ้นมิติของความเป็นจริง ไปยังเรื่องของจักรวาล ที่เป็นองค์รวมทั้งหมดในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ เป็นเรื่องของการเปลี่ยนจากความพยายาม ที่จะพิสูจน์ให้เห็นจริงตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาเป็นเรื่องของความเชื่อ ที่มีทั้งการหาเหตุผลอย่างเป็นตรรก มาอธิบายมาจัดให้เป็นระบบที่เรียกว่า ศาสนา และการสร้างบรรดาพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ขึ้น เพื่อบรรเทาความกังวลใจ ในเรื่องความไม่แน่นอนต่างๆ ในชีวิต

            ตามที่กล่าวมานี้ก็พอจะสรุปให้เห็นได้ว่า ชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ ๓ อย่าง ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ คือ โครงสร้างสังคม ระบบเศรษฐกิจ และระบบความเชื่อในเรื่องของจักรวาล ความสัมพันธ์อย่างได้ดุลระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ ทั้งความต้องการทางวัตถุ และด้านจิตใจ ดังนั้นในการเสนอให้เห็นภาพพจน์ทางสังคม และวัฒนธรรมไทยในที่นี้ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ประกอบทางสังคม และวัฒนธรรม ทั้งสามอย่างที่กล่าวมานี้เป็นสำคัญ