เศรษฐกิจ สังคมไทยแต่ก่อนเป็นสังคมที่สบาย เพราะมีประชากรน้อย แต่มีที่ทำกินมาก อีกทั้งยังมีฝนตกเป็นประจำ เมื่อถึงฤดูกาล ทำให้ผู้คนกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ตามใจชอบ การทำมาหากิน และอาชีพ มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่โดยรอบบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้แล้ว ก็อาจแบ่งบรรดาชุมชนหมู่บ้านในชนบท ออกเป็นสองพวกใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ชุมชนของพวกชาวนา ที่ปลูกข้าวเป็นพืชหลักพวกหนึ่ง กับชุมชนของผู้ที่ไม่มีอาชีพในการทำนา แต่ทว่า ผลิตสิ่งของที่เกี่ยวเนื่อง ในการอุปโภคบริโภค จากทรัพยากรธรรมชาติ ในแหล่งที่ตนตั้งถิ่นฐานอยู่ เพื่อมาดำรงชีวิต อย่างเช่น พวกที่อยู่ตามป่าเขา ก็ต้องพึ่งผลิตผล จากป่า ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ หรือ เก็บของป่ากิน หรือพวกที่อยู่ทางชายทะเลก็มี อาชีพในการประมงคือจับปลา เป็นต้น ทั้งสองพวกนี้ ดูแตกต่างกันแต่เพียงผลิตสิ่งของที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ทว่าคล้ายคลึงในวิธีการผลิต ที่เป็นแบบเกษตรกรรมขั้นพื้นฐาน คือ เป็นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย เช่น ใช้แรงงานคนหรือสัตว์เป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงมากมาย เพราะทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตนั้น อาจหยิบยืมแลกเปลี่ยน และขอแรงกันได้ ทั้งนี้ก็เพราะวัตถุประสงค์ในการผลิตนั้น ก็เพื่อการยังชีพ ภายในครอบครัวและชุมชนเป็นหลัก แล้วมีส่วนเกินที่จะนำไปแลกเปลี่ยนซื้อขาย เพื่อให้ได้มา ซึ่งสิ่งของจำเป็น แก่ชีวิตในด้านอื่นๆ โดยทั่วไป แต่ก่อนนั้นชุมชนหมู่บ้านในแต่ละท้องถิ่นมีความพยายามอย่างยิ่ง ที่จะทำอะไรให้เลี้ยงตัวเอง ในด้านปัจจัยสี่โดยให้พึ่งพาสิ่งของ จากภายนอกน้อยที่สุด จึงมักพบว่า ในฤดูกาลที่ ว่างจากการประกอบอาชีพหลักเช่นการทำนาแล้ว ชาวบ้านก็อาจจะทำไร่ ปลูกผัก ปลูกถั่ว ปลูกมัน หรือทำสวนครัวเพื่อให้มีอาหารเสริม รวมทั้งมีการทอผ้า และจักสานเครื่องจับปลา ดักสัตว์ รวมทั้งเครื่องใช้ไม้สอยที่พอจะนำมา แลกเปลี่ยนกันเอง ในลักษณะเช่นนี้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินตรา และมีการดำเนินการใน เรื่องตลาดให้ใหญ่โตแต่เพียงอย่างใด ตลาดหรือย่านที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในสังคมหมู่บ้าน แต่ก่อนนั้นจึงเป็นเพียงการที่มีผู้ผลิตสิ่งที่เป็น อาหารสด คาว และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในตอนเช้า หรือตอนเย็นเท่านั้น ส่วนสิ่งที่เป็นสินค้าจำเป็น อื่นๆ ที่มาจากที่ห่างไกลภายนอกนั้น มักจะซื้อขายกัน ในเวลามีตลาดนัด ซึ่งจัดให้มีขึ้นใน บริเวณที่คนจากหลายชุมชนพากันมาซื้อขาย ได้ในวันที่กำหนดไว้ วันหนึ่งวันใดในสัปดาห์ ไม่ได้มีการวางขายในตลาดเป็นประจำอย่างถาวร นอกจากการมีตลาดนัดแล้ว ก็อาจมีกลุ่มชนที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าเร่ จากเมือง หรือแหล่งผลิตสินค้าที่ห่างไกล นำสิ่งของเข้าไปจำหน่าย หรือแลกเปลี่ยนผลิตผลทางเกษตร หรือของที่ได้จากป่ากับชาวบ้าน เช่น พวกมอญจาก ปากเกร็ดและปทุมธานีเอาพวกโอ่งไหใส่เรือ ไปขายให้คนทางภาคเหนือ หรือคนจีนจากใน เมืองเอาพวกของชำและเสื้อผ้าไปขายและแลก เปลี่ยนสิ่งของกับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล เป็นต้น ซึ่งการค้าขายแลกเปลี่ยนแบบนี้ก็จะมีเป็นฤดูกาล ที่สะดวกแก่การคมนาคมเป็นสำคัญ ไม่ได้มีตลอดทั้งปี ในทำนองเดียวกัน ก็มีพวกชาวบ้าน ที่เมื่อว่างจากการเพาะปลูกแล้ว หันมาประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าชั่วคราว นำเอาผลิตผลจาก ชนบทเข้ามาขาย และแลกเปลี่ยนสินค้าในเมือง ตามฤดูกาลที่การเดินทางไปมาสะดวก ส่วนมากการติดต่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนสิ่งของ ตามฤดูกาลเช่นนี้ มักเป็นการเกี่ยวข้องกันระหว่างชุมชนในท้องถิ่นที่เป็นชนบทกับชุมชนเมือง ที่เป็นศูนย์กลางในระดับจังหวัด และภูมิภาคเป็นสำคัญ | |||
ตลาดสดในหมู่บ้านซึ่งมีสภาพเป็นสังคมหมู่บ้าน | |||
ในอดีตชุมชนในระดับเมืองมิได้แตกต่าง ไปจากชุมชนหมู่บ้าน เป็นแต่เพียงศูนย์กลางใน การปกครองท้องถิ่นเท่านั้น โดยเน้นที่จวนเจ้าเมืองเป็นสำคัญ ในส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของนั้น ก็เพียงแต่อาจเป็นสถานที่เกิดตลาดนัดขึ้นเป็นประจำเท่านั้น ไม่ได้เป็นย่านตลาดที่มีพ่อค้าแม่ค้าอยู่ประจำ และขายของกันตลอดเวลา การมีย่านตลาดที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสถานที่ ค้าขายอย่างถาวรเช่นนี้ มักพบในเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด หรือภูมิภาค เพราะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ที่ติดต่อได้สะดวก ทั้งบรรดาชุมชนหมู่บ้าน และเมืองอื่นๆ ที่อยู่ใกล้และไกลออกไป ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ชุมชนหมู่บ้านกับเมืองใหญ่ ที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยโบราณ มีความแตกต่างกัน ทั้งในระยะทางที่ห่างไกล และความสะดวก ในด้านการคมนาคมติดต่อ จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ สภาพการณ์จึง เปลี่ยนไป เพราะมีการสร้างถนน ทางรถไฟ ตลอดจน กิจการขนส่งทางน้ำ เช่น เรือเมล์จาก เมืองหลวงไปยังจังหวัดต่างๆ ทำให้การไปมา หาสู่ระหว่างเมืองสะดวกขึ้น พร้อมกันนั้น ก็มีชาวต่างประเทศ ที่มีความรู้ความชำนาญในกิจการ ต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขาย เกิดห้างร้าน บริษัท ธนาคาร ขึ้นในเมืองหลวง และหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดหลายแห่ง | |||
ชุมชนริมน้ำ | กลุ่มชนต่างชาติที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เข้าสู่ชนบท ในระดับเมืองเล็กๆ ที่เป็นศูนย์กลางของท้องถิ่น ก็คือพวกคนจีน คนจีนเข้ามาเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ทว่า ตั้งหลักแหล่งจำกัดอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น โดยมีอาชีพการค้าขายและรับจ้างเฉพาะบางอย่าง เช่น งานช่างฝีมือ และเจ้าหน้าที่ประจำเรือค้าขาย ของทางรัฐบาลไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ฯ คนจีนเข้ามามาก โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ลงมา แพร่กระจายไปตามบ้านเล็กเมืองน้อย และท้องถิ่นต่างๆ มีอาชีพ และการงาน ในระดับต่างๆ นับตั้งแต่การเข้ารับราชการเป็นขุนนางเป็นเจ้าภาษีอากร เป็นพ่อค้า ทั้งขายปลีก ขายส่งและหาบเร่ เป็นกุลีรับจ้างแบกหาม งานช่าง และงานกรรมกรแทบทุกชนิด โดยย่อก็คือ คนจีนสามารถประกอบอาชีพได้มากมายหลายอย่าง ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพ แต่เพียงเป็นกสิกร เช่น ชาวนาและชาวไร่ ที่ทำการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงตัวเองเท่านั้น | ||
คนจีนที่เข้ามาเป็นชาวสวน และชาวไร่ ก็มีเป็นจำนวนมาก เช่น ทำสวนผัก สวนผลไม้ และพืชไร่ทางเศรษฐกิจ เช่น อ้อย และสับปะรด เป็นต้น แต่ทว่าการเพาะปลูกของคนจีนนั้นไม่ใช่ในระดับ เพื่อเลี้ยงตัวเองอย่างคนไทย หากผลิตเป็นจำนวนมาก เพื่อขายให้ได้กำไร แล้วนำมาลงทุนขยายกิจการให้ใหญ่โตต่อไป ซึ่งในไม่ช้าก็เกิดอาชีพต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น เกิดการขยายตัวทางการค้าขาย ที่แพร่จากเมืองหลวงสู่ หัวเมืองต่างๆ ในเวลาต่อมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้ เห็นได้จาก ความเคลื่อนไหวสองอย่าง ด้วยกัน อย่างแรกเกิดจากพ่อค้าคนกลางที่ออก ไปซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านชาวเมือง ตามท้องถิ่นต่างๆ เป็นการกระตุ้นให้ ชาวบ้านผลิตหรือเสาะหาสินค้าท้องถิ่นมาตอบ สนอง ในขั้นแรกก็ไปมาหาสู่กันตามฤดูกาล ต่อมาบรรดาพ่อค้าเหล่านั้นก็จะตั้งหลักแหล่ง ค้าขายอย่างถาวรในท้องถิ่นนั้นๆ มีการแต่งงาน กันระหว่างคนจีนและคนท้องถิ่นขึ้น อย่างหลัง เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้าน และผู้ปกครอง ในท้องถิ่นที่ตอบสนองการขยายตัวทางการค้า เพราะความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น เจ้าเมือง หรือนายอำเภอ จึงชักชวน หรือสนับสนุนคนจีน ให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งย่านตลาดขึ้น ในบริเวณใกล้กับจวนเจ้าเมือง หรือไม่เช่นนั้นก็ ในย่านที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม จึงเป็นเหตุให้เมือง ที่เคยมีสภาพเป็นชุมชนหมู่บ้าน กลับกลายเป็นชุมชนเมืองที่มีผู้คนหลายกลุ่ม หลายอาชีพมาอยู่ร่วมกัน ลักษณะที่โดดเด่น ของการมีย่านชุมชนที่เป็นตลาดขึ้นก็ คือ มีโรงมหรสพ สถานที่เล่นการพนัน บ่อนเบี้ย โรงน้ำชา และสถานที่บริการอื่นๆ ซึ่งนับเป็นของแปลกใหม่ในสังคมหมู่บ้าน | |||
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จเปิดทางรถไฟสายโคราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ | |||
ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ได้เกิดชุมชนที่เป็นย่านตลาด ถาวรขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ในระดับอำเภอ เกือบทั่วทุกหนทุกแห่งในประเทศ ชุมชนที่เป็นย่าน ตลาดนี้มีโครงสร้างเป็นสังคมเมืองอย่างแท้จริง เพราะประกอบด้วย ผู้คนหลายอาชีพหลายรูปแบบในการดำรงชีพมาอยู่รวมกัน กลายเป็นแหล่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและคมนาคม ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้บรรดาผู้คนที่อยู่ในชุมชน หมู่บ้านต้องมาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเพราะเกิด ความต้องการในสินค้าใหม่ๆ ซึ่งหลายๆ อย่าง ไม่ใช่สิ่งจำเป็นแก่ชีวิตในด้านปัจจัยสี่ หากเป็น สิ่งของฟุ่มเฟือย เพื่อการมีหน้ามีตา และการเพลิดเพลินเท่านั้น | |||
คนจีนสามารถประกอบอาชีพได้มากมายหลายอย่าง เช่น เป็นกุลีรับจ้างแบกหาม งานกรรมกรแทบทุกชนิด ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพแต่เพียงเป็นกสิกร ทำการเพาะปลูก เพื่อเลี้ยงตัวเอง เท่านั้น | |||
ในขณะเดียวกันบรรดาพวกพ่อค้าในเมือง เหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นคนกลางเข้าไปซื้อสินค้า ที่ผลิตจากชาวบ้านในท้องถิ่น มาขายต่อไปยังที่อื่นอีกต่อหนึ่ง ทำให้เกิดการค้าในระบบตลาด ที่ใช้เงินตราเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง พร้อมกันนั้น ก็เกิดกลุ่มชนชั้นกลางขึ้น อย่างแพร่หลายด้วย ภาพพจน์ของสังคมชนบท ที่เริ่มมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น นอกจากเห็นได้ จากการเกิดย่านตลาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง ทางเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นแล้ว ยังเห็นได้จากการเกิดขึ้นของบรรดาโรงสี และโรงเลื่อยไม้ ตามเส้นทางคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบกใน ที่ต่างๆ รวมทั้งการเกิดรูปแบบอาคารบ้านเรือน ที่หลากหลายไปจากเดิม เช่น เกิดการสร้างบ้าน ขนาดใหญ่ด้วยไม้จริง หลังคาทรงปั้นหยา หรือมนิลา มีลวดลายสลักไม้ประดับตามหน้าจั่วซุ้ม ประตูหน้าต่าง รวมไปถึงอาคารที่เป็นตึกด้วย แม้แต่บรรดาเรือนแบบประเพณีที่เรียกว่า เรือนไทยก็มีการสร้างด้วยไม้จริงเป็นเรือนฝาเงยบัว และฝาปะกนเพิ่มขึ้น
ส่วนบรรดาเมืองใหญ่ในระดับนคร ที่เป็นศูนย์กลางของจังหวัด และภูมิภาคนั้น เศรษฐกิจ ทำให้ย่านตลาดขยายใหญ่โต จนแยกออกจากบริเวณที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง และที่ทำการของรัฐบาล มีลักษณะเป็นชุมชนธุรกิจการค้า ที่บรรดาชนชั้นกลางอยู่อาศัย และประกอบกิจการ ลักษณะทั่วไปจะประกอบด้วยห้องแถว ที่มีทั้งตึกและอาคารไม้สองฟากถนน มีการ รวมกลุ่มกันเป็นหมู่ๆ ตามประเภทสินค้าที่มี ทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าจำเป็นแก่ชีวิตประจำวัน มีย่านตลาดสด ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงมหรสพ เช่น โรงหนัง โรงละคร ร้านขายยา ทั้งยาฝรั่ง และยาสมุนไพร มีธนาคาร โรงรับจำนำ ศาลเจ้า ท่าเรือ และท่ารถ อันเป็นย่าน ชุมทางคมนาคมที่จะติดต่อไปยังที่อื่นๆ | |||
สถานเริงรมย์ ย่านพัฒนพงศ์แหล่งบันเทิงของชาวไทยและต่างชาติ | |||
ย่านตลาด หรือชุมชนธุรกิจการค้า ที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นผลิตผลอย่างแท้จริงจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถ้าหากมองในเรื่องพัฒนาการทางสังคมแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ทำให้เกิดความซับซ้อนทางสังคมเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็จะเห็นได้ว่าเป็นการ เพิ่มชนชั้นให้มากขึ้นกว่าแต่เดิมอีกชั้นหนึ่ง กล่าว คือแต่ก่อนสังคมไทยทั่วไปมีอยู่เพียงสองชนชั้น เท่านั้น คือ ชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูก ปกครอง เช่น พวกไพร่ ข้าทาส ตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ได้เกิดชนชั้นพ่อค้าหรือ ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมาอีกชนชั้นหนึ่ง นับเป็น ชนชั้นทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และเป็นชนชั้นที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว ในสังคมไทยมากที่สุด เพราะเป็นชนชั้น ที่เกิดขึ้นโดยเสรีมากกว่าชนชั้น อื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของคน จากการเป็นชาวนาหรือชาวไร่มาเป็นขุนนาง ข้าราชการอันเป็นชนชั้นปกครองนั้นดูยากเย็น เพราะถ้าหากไม่เป็นเชื้อสายผู้ดีมีตระกูล หรือ มีความสามารถเล่าเรียนเก่ง จนเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตแล้ว โอกาสที่จะเขยิบฐานะให้สูงขึ้นก็ยาก แต่ทำนองตรงข้าม ถ้าหากเป็นคนขยัน หมั่นเพียร ทำการค้าขายจนร่ำรวย ก็อาจเปลี่ยนแปลงฐานะ จากชนชั้นชาวนา หรือกรรมกร มาเป็นชนชั้นกลาง ชั้นพ่อค้า ได้โดยไม่ยาก เหตุนี้ ชนชั้นกลางจึงเติบโตและขยายตัว ออกเป็นหลาย ระดับตามฐานะทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว |