เล่มที่ 16
สังคมและวัฒนธรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
จักรวาล

            ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้นว่า ในการดำรงความเป็นมนุษย์ของคนเรานั้น มิได้หยุดอยู่แค่เพียงความสัมพันธ์ทางสังคม และเศรษฐกิจ เท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องอย่างแยกออกไม่ได้กับเรื่องของระบบความเชื่อ เพราะระบบความเชื่อ มีความหมายความสำคัญ ทั้งในด้าน การบรรเทาความกระวนกระวายทางจิตใจ การสร้างความมั่นใจ และการสร้างพลังใจ ในการดำรงชีวิต รวมทั้งในขณะเดียวกัน ก็ช่วยในด้านการรักษา และควบคุมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ให้เป็นไปอย่างราบรื่นอีกด้วย เรื่องของเศรษฐกิจเป็นความต้องการทางวัตถุ ที่จะทำให้คนเห็นแก่ตัวทำอะไรเฉพาะตัวเอง เพื่อพรรคพวกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่เรื่องของระบบความเชื่อ เป็นเรื่องทางจิตใจ ที่เป็นของส่วนรวม ซึ่งมีความหมายในอันที่จะเหนี่ยวรั้ง ความเห็นแก่ตัวทางเศรษฐกิจ และทางวัตถุให้อยู่ในระดับที่พอดี

การสวดมนต์กราบไหว้พระพุทธรูปหรือวิงวอนเทพเจ้าเพื่อให้เมตตาช่วยเหลือนั้นเป็นเรื่องของศาสนาการสวดมนต์กราบไหว้พระพุทธรูปหรือวิงวอนเทพเจ้า เพื่อให้เมตตาช่วยเหลือนั้น เป็นเรื่องของศาสนา

            เพื่อที่การอยู่ร่วมกันของมนุษย์จะดำรงสืบไป ระบบความเชื่อในทุกสังคมมนุษย์นั้น อาจแบ่งออกกว้างๆ เป็น ๒ อย่าง คือ ศาสนา และไสยศาสตร์ อย่างแรกเป็นเรื่องของความเชื่อ ที่ทำให้มนุษย์สยบแก่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติ มีการกราบไหว้วิงวอน ขอความช่วยเหลือ แต่อย่างหลังเป็นเรื่องความพยายามของมนุษย์ ที่จะควบคุม และใช้สิ่งนอกเหนือธรรมชาติ ให้ทำประโยชน์ให้แก่ตน อย่างเช่น การทำเสน่ห์ยาแฝด หรือการใช้เวทมนต์คาถาเสกหนังควาย หรือตะปูเข้าท้องคนอื่นนั้น เรียกได้ว่า เป็นไสยศาสตร์ แต่การสวดมนต์ กราบไหว้พระพุทธรูป หรือวิงวอนเทพเจ้า เพื่อให้เมตตาช่วยเหลือนั้น เป็นเรื่องของศาสนา ความแตกต่างที่สำคัญ ระหว่างศาสนากับไสยศาสตร์ ก็คือ ศาสนาเป็น เรื่องที่คนสยบต่อสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ มีผลทำให้ทุกคนในสังคม ต้องอยู่ในกรอบความประพฤติ และกฎเกณฑ์ทางสังคม ในการอยู่ร่วมกัน เป็นที่มาของระบบศีลธรรม และจารีตกฎเกณฑ์ที่ควบคุม ความประพฤติของคนในสังคม ส่วนไสยศาสตร์นั้น อาจเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมได้ เช่น การใช้เวทมนตร์คาถาทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น ในเรื่องนี้จึง ทำให้ไสยศาสตร์แบ่งออกเป็น "ไสยดำ" และ "ไสยขาว" อย่างแรก ใช้ไปในทางที่ชั่วร้าย ในขณะที่อย่างหลังใช้ไปในทางป้องกันความชั่วร้าย อย่างเช่น การสวดมนต์ หรือการสวดคาถาปัดเป่าโรคร้าย โรคระบาด เป็นต้น

ผีเปรตที่วัดพืชอุดม จ.ปทุมธานี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของคนไทย ที่ว่า ถ้าทำกรรมชั่ว จะไปเกิดเป็นคนยากจน หรือผีเปรตในนรก

            สังคมมนุษย์ในโลกต่างกัน มีระบบความเชื่อ ที่เนื่องด้วยศาสนา และไสยศาสตร์แตกต่างกันออกไป สังคมที่มีพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดีอยู่แล้ว มักให้ความสนใจในเรื่องของไสยศาสตร์น้อยมาก ในขณะที่ความ สนใจในเรื่องทางศาสนาก็แคบลง เป็นเรื่องที่ เน้นในทางปรัชญามากกว่า ส่วนสังคมในประเทศ ที่ยังล้าหลังทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้น ยังให้ความสนใจกับเรื่องไสยศาสตร์และ ศาสนาที่เน้นการสยบต่อสิ่งนอกเหนือธรรมชาติอยู่ ความแตกต่างกันระหว่างสังคมทั้งสอง ระดับนี้เห็นได้จากการประกอบพิธีกรรม สังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่สนใจในเรื่องพิธีกรรมในระบบความเชื่อทั้งศาสนาและไสยศาสตร์ ส่วนสังคมที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา มักเน้นความสำคัญ ของพิธีกรรมในกิจกรรมต่างๆ อยู่อย่าง ไม่เสื่อมคลาย สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติตลอดเวลา โดยเฉพาะต้องพึ่งฝน ที่ลมมรสุมพัดพามาตกเป็นประจำ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงต้องมีการประกอบพิธีกรรมทั้งทางศาสนา และไสยศาสตร์กันต่างๆ นานา เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เหตุนี้จึงทำให้ระบบความเชื่อ ของคนไทย มีลักษณะซับซ้อนและหลากหลาย ในเรื่องประเพณีพิธีกรรมอย่างไม่เสื่อมคลาย คนไทยทั่วไปไม่ค่อยจะรับรู้และเข้าใจ ในเรื่องที่เป็นปรัชญาทางศาสนา แต่ยังผูกติดกับการประกอบพิธีกรรมที่คิดว่าเมื่อกระทำเรียบร้อย แล้วก็บรรลุความมุ่งหมาย

ภาพวาดฝาผนังแสดงถึง นรกสวรรค์ ที่มักอยู่ในความเชื่อของคนทั่วไปภาพวาดฝาผนังแสดงถึง นรกสวรรค์ ที่มักอยู่ในความเชื่อ ของคนทั่วไป

            ทุกวันนี้ศาสนา และไสยศาสตร์ที่คนไทยเชื่อถือกันมานาน เป็นระบบความเชื่อ ที่เกิดจากการผสมผสานของศาสนาใหญ่ๆ เช่น พุทธศาสนา ศาสนาฮินดู ที่มาจากภายนอก กับระบบความเชื่อดั้งเดิม เกี่ยวกับการถือผีและลัทธิเกี่ยวกับวิญญาณที่มีมาแต่เดิม จากการผสมผสานที่มีมาช้านานดังกล่าวนี้ ทำให้ภาพพจน์ และความเชื่อ ในเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลของคนไทยมีความซับซ้อน และหลากหลาย นั่นก็คือ การที่คิดว่า มีทั้งโลกนี้ และโลกหน้า และความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ที่ขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรม คือถ้าหากทำกรรมดีก็จะเกิดในที่ดี เป็นขุนนาง เป็นกษัตริย์ เป็นเทวดา แต่ถ้าทำกรรมชั่วจะไปเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ หรือผีเปรตในนรก อย่างไรก็ตามความคิดในเรื่องจักรวาลที่เกี่ยว กับโลกนี้ และโลกหน้าของคนไทย ก็มีความแตกต่างไปเป็น ๒ ระดับ คือระดับคนทั่วไป กับผู้รู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ในระดับคนธรรมดาทั่วไป โลกนี้โลกหน้าประกอบด้วย สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกที่อยู่ใต้บาดาล สวรรค์เป็นที่อยู่ของเทพ โลกเป็นที่อยู่ของมนุษย์และอมนุษย์ เช่นพวกผีที่มีทั้งดีและร้าย ส่วนนรกเป็นที่อยู่ ของผู้ที่ตายไปแล้วไปเกิดเป็นเปรต แต่ละแห่ง ต่างก็มีการแบ่งชั้น และการแบ่งชั้นของบุคคลแตกต่างกันไป ตามกฎแห่งกรรม อย่างเช่น บนสวรรค์ก็มีเทวดา หรือเทพหลายระดับ มีทั้งเทวดาชั้นต่ำ ที่ไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม และเป็นเพียงบริวารของเทวดาผู้ใหญ่ ซึ่งล้วนแต่เป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูเกือบทั้งสิ้น เช่น พระอินทร์ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น ในโลกมนุษย์ ก็มีการแบ่งมนุษย์ออกเป็นคนธรรมดาสามัญ พวกไพร่ ข้าทาส เจ้าขุนมูลนาย คหบดี ขุนนาง ข้าราชการ เจ้านาย และกษัตริย์ นอกจากมนุษย์ แล้วก็มีสิ่งนอกเหนือ ในขณะที่ในนรกก็แบ่ง ออกเป็นชั้นๆ ตามกรรมของผู้ที่อยู่และรับโทษ ทั้งสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกนั้น มักมีการ เขียนภาพแสดงไว้ให้เห็นตามผนังโบสถ์ วิหาร ของวัดวาอาราม และตามสมุดข่อย ใบลาน ที่ใช้ในการเทศน์ และศึกษาเล่าเรียนของพระและ ประชาชนทั่วไป

การเทศน์มหาชาติ
            ส่วนในระดับคนที่มีความรู้เป็นนักปราชญ์ ราชบัณฑิตนั้น ความรู้ความเข้าใจในเรื่องจักรวาล และศาสนา จะแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป คือ มีความลุ่มลึกในทางที่เป็นปรัชญามากกว่า การให้ความสำคัญทางด้านพิธีกรรม เรื่องของโลกนี้ และโลกหน้านั้น หาได้ประกอบด้วย สวรรค์ โลก และนรกไม่ หากเป็นเรื่องของภูมิสามภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ เรื่องของนรก โลก และสวรรค์ของคนทั่วไป รวมทั้งของศาสนาอื่นๆ ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่ในกามภูมิเท่านั้น เพราะยังเป็นเรื่องของความรู้สึกทางโลกีย์อยู่ ดังเห็นได้จากภาพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ ก็แวดล้อมไปด้วยเทวดาหญิง-ชายเป็นคู่กันอยู่ แม้แต่เรื่องของพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ก็ยังมี พระอุมา พระลักษมี และพระสุรัสวดีเป็นชายา รูปภูมิอยู่เหนือกามภูมิขึ้นไปเป็นที่อยู่ของบรรดา พรหม คือผู้ที่หมดความรู้สึกในเรื่องโลกีย์ แต่ยังต้องการมีตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นพระพรหมใน ทางพุทธศาสนาจึงมีหลายองค์และในภาพเขียน ที่ปรากฏในหนังสือไตรภูมิ จึงมักเป็นภาพของเทวดาสี่หน้าที่สถิตอยู่ในวิมานแต่เพียงผู้เดียว อรูปภูมิเป็นที่อยู่ของบรรดาพรหม ที่หมดความต้องการในเรื่องการมีตัวตน แต่ยังมีความรู้สึก อยู่ มักปรากฏในภพไตรภูมิเพียงวิมานที่ว่างเปล่า ในภูมิที่เรียกว่า อรูปภูมิ เท่านั้น ถ้าหากดับความรู้สึกความต้องการทั้งหมดได้ บุคคลนั้นก็ พ้นอรูปภูมิเข้าสู่โลกุตระ ถือนิพพาน อันเป็นความมุ่งหมายสุดยอดของพระศาสนา

ความเชื่อในเรื่องโชคลาง เช่น การดูหมอดู มีการทำนายโชคชะตา ผูกดวงสะเดาะเคราะห์ มักจะนำไปสู่การประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ต่างๆ นานา

            ความเข้าใจในเรื่องระบบความเชื่อ และจักรวาล ที่ไม่ทัดเทียมกันของบุคคลต่างๆ ในสังคมไทยนี้ มีผลเกี่ยวข้องไปถึงพฤติกรรม ในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของคนไทยเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความหลากหลายในแง่มุมของการมองโลกที่แตกต่างกันออกไป ตามฐานะทาง สังคม ในสังคมหมู่บ้านตามท้องถิ่นชนบทที่ ชาวบ้านมีการศึกษาน้อย มักทำอะไรตามกัน เป็นแบบประเพณีความเชื่อ ในทางศาสนาและไสยศาสตร์ ที่แสดงออกด้วยการประกอบประเพณีพิธีกรรม เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมาก พิธีกรรม ที่เรียกว่า การทำบุญนั้น มีความหมายต่อการอยู่รวมกัน ในสังคมของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะงานประเพณีทุกอย่างทั้งในระดับชุมชน และครอบครัวจะมีเรื่องของการทำบุญผสมอยู่ด้วยเสมอ วัดประจำหมู่บ้านก็ดี และวัดประจำท้องถิ่นก็ดี จึงกลายเป็นสถานที่ชุมนุม ในกิจกรรมทางสังคม ผู้คนทุกเพศทุกวัยที่อยู่ทั้งใกล้ และไกลได้มาพบปะกัน สังสรรค์กันและร่วม มือกันในการทำบุญร่วมกัน นับเป็นการสร้าง ความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันทาง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และในด้านอื่นๆ ต่อไป

            นอกจากนั้นงานประเพณีบางอย่าง เช่น งานเทศน์มหาชาติ ที่เน้นในเรื่องการให้ทาน ของพระเวสสันดร และการเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ที่บรรยายถึงการไปโปรดสัตว์ในนรกของพระมาลัย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ทรมาน ในนรกนั้น ก็ล้วนเป็นการอบรมใน เรื่องของคุณธรรมและศีลธรรมในการอยู่ร่วม กันอย่างเป็นกันเองของคนในสังคมชนบทเป็น อย่างดี การทำบุญของคนในชนบทที่ปฏิบัติจน เป็นประเพณีนั้น มุ่งหวังความสุขในโลกหน้า เพื่อจะเกิดใหม่มีฐานะดีกว่าแต่เดิมบ้าง ให้อยู่ ในสมัยพระศรีอาริย์บ้างนั้น ล้วนเป็นความต้อง การทางจิตใจที่นอกเหนือไปจากความต้องการ ทางวัตถุทั้งสิ้น แตกต่างไปจากคนในเมืองหรือ คนที่มีฐานะมั่งคั่งที่มีการศึกษาดีกว่า บุคคล เหล่านี้มักให้ความสนใจในเรื่องของโลกหน้า ภพหน้าน้อย หากสนใจที่จะรักษาสถานภาพ ความเป็นอยู่ในโลกนี้ให้ถาวร การเข้าวัดและการทำบุญจึงมีความมุ่งหมาย ต่างไปจากบรรดาชาวบ้าน คนในเมืองหรือคนรวยมักทำบุญเพื่อ หวังว่าจะรวยเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็เพื่อจะได้แคล้วคลาด หลุดพ้นจากเคราะห์ร้ายโชคร้ายต่างๆ ยิ่ง กว่านั้นการทำบุญแต่ละครั้งยังมุ่งหวังในเรื่อง การแสดงความโอ่อ่าความสำคัญ ในเรื่องฐานะ ที่จะมีผลไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และเศรษฐกิจกับผู้อื่นอีกด้วย สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความต้องการเพียงความสุขในโลกนี้ ที่นอกเหนือไปจากการทำบุญก็คือ ความเชื่อในเรื่องโชคลาง ที่ต้องปรึกษาพวกหมอดู หมอผี มีการทำนายโชคชะตา ผูกดวง สะเดาะเคราะห์ ที่นำไปสู่การประกอบพิธีกรรม ทางไสยศาสตร์ต่างๆ นานา ล้วนแต่เป็นการ เน้นในเรื่องวัตถุนิยมและการเป็นปัจเจกบุคคลที่ อาจกระทบกระเทือนต่อศีลธรรม และจริยธรรมทางสังคมได้