เล่มที่ 16
การผลิตหนังสือ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
งานพิมพ์

ระบบการพิมพ์ที่ใช้ในการผลิตหนังสือในปัจจุบันนี้มีหลายระบบ อันได้แก่

การพิมพ์ด้านระบบการพิมพ์พื้นนูน

            การพิมพ์วิธีนี้เป็นการพิมพ์ที่ใช้ตัวพิมพ์เรียงพิมพ์ โดยมีหลักการว่า ส่วนที่พิมพ์นั้น มีระดับสูงกว่าส่วนที่ไม่พิมพ์ เมื่อเอาหมึกทาตัวพิมพ์ และใช้แรงกดพิมพ์ กดกระดาษลงบนตัวพิมพ์ หมึกก็จะเกาะติดตัวพิมพ์ทำให้ได้สิ่งพิมพ์ ตามที่ต้องการ การพิมพ์ระบบนี้ตัวพิมพ์ และแม่พิมพ์จะมีลักษณะภาพกลับขวา เป็นซ้ายเหมือนภาพที่เห็นในกระจก แต่เมื่อพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษ แล้วก็จะเป็นภาพถูกต้องเหมือนต้นฉบับ ระบบการพิมพ์พื้นนูนเป็นระบบหลัก ที่ใช้ผลิตหนังสือมาเป็นระยะเวลานาน แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนา ระบบการพิมพ์พื้นราบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จึงได้มีการนำเข้ามาทดแทนระบบการพิมพ์พื้นนูน ทำให้ระบบการพิมพ์พื้นนูนหมดความสำคัญลงไป การพิมพ์พื้นนูนจึงใช้ในการผลิตหนังสือน้อยลงตามลำดับ และใช้พิมพ์หนังสือปลีกย่อย จำนวนไม่มากนัก

การพิมพ์ออฟเซต

            เป็นระบบการพิมพ์พื้นราบ แผ่นแม่พิมพ์ออฟเซตส่วนที่ใช้พิมพ์ และส่วนที่ไม่ใช้พิมพ์จะราบเสมอกันหมด แต่ด้วยเทคนิควิธีการทำแม่พิมพ์ ทำให้ผิวแม่พิมพ์ส่วนที่เป็นภาพหรือตัวหนังสือ อันเป็นส่วนที่จะต้องพิมพ์รับหมึก และผิวส่วนที่ไม่พิมพ์รับน้ำและไม่รับหมึก ในการพิมพ์นั้นมีระบบทาน้ำลงบนแม่พิมพ์ก่อน น้ำจะเกาะอยู่บนผิวแม่พิมพ์ส่วนที่ไม่พิมพ์ และเมื่อทาหมึกลงบนแม่พิมพ์ หมึกออฟเซตเป็นหมึกที่มีส่วนผสมของน้ำมันหรือไข น้ำมันและน้ำจะไม่ผสมกัน ส่วนที่มีน้ำเกาะ ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่พิมพ์ก็จะไม่มีหมึกเกาะ แม่พิมพ์ออฟเซตจะมีภาพ และตัวหนังสือเช่นเดียวกับต้นฉบับ ในการพิมพ์นั้นแม่พิมพ์ จะนำหมึกที่เกาะบนแม่พิมพ์ ไปถ่ายทอดพิมพ์ลงบนแผ่นยางก่อน และแผ่นยางจะถ่ายทอดหมึก ลงพิมพ์บนกระดาษอีกทีหนึ่ง จะทำให้ถ่ายทอดหมึก ติดบนผิวกระดาษได้นุ่มนวลกว่าระบบการพิมพ์แบบพื้นนูน ในปัจจุบันนี้ ระบบการพิมพ์แบบพื้นนูน ในปัจจุบันนี้ ระบบการพิมพ์ออฟเซต เป็นระบบที่ใช้ในการผลิตหนังสือแพร่หลายกว่าระบบอื่น ๆ และนำมาใช้พิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือเล่ม

แท่นพิมพ์โรตารี งานพิมพ์บนแท่นโรตารีนี้ สามารถพิมพ์ได้รวดเร็ว จึงเป็นงานที่ต้องการพิมพ์เป็นจำนวนมาก
การพิมพ์ระบบการพิมพ์พื้นลึกหรือกราวัวร์ (Gravure)

            เป็นระบบการพิมพ์ที่ส่วนพิมพ์ จะถูกแกะเป็นร่องลึกลงไปจากระดับผิวของแม่พิมพ์ เมื่อเอาหมึกทาบนแม่พิมพ์ หมึกก็จะจมอยู่ในร่องที่ถูกแกะลึกลงไปนั้น ในการพิมพ์หมึกที่เกาะอยู่บนผิวของแม่พิมพ์ จะถูกเช็ดออกหมด เมื่อนำกระดาษออกมา การพิมพ์ด้วยระบบนี้แม่พิมพ์มีความทนทานมาก สามารถพิมพ์ได้เป็นปริมาณมากกว่าระบบการพิมพ์อื่นๆ และคุณภาพของสิ่งพิมพ์ดีมาก ปัจจุบันการพิมพ์ระบบนี้ในประเทศไทย ใช้พิมพ์เฉพาะหีบห่อสินค้าและธนบัตร ยังไม่ได้นำมาใช้ในการผลิตหนังสือ เพราะปริมาณหนังสือแต่ละรายการ ที่ผลิตกันยังมีปริมาณไม่สูงพอที่จะใช้วิธีพิมพ์ระบบนี้

การพิมพ์อัดสำเนา

            หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พิมพ์โรเนียว คือ การพิมพ์ปรุไข (mimeograph) เป็นการพิมพ์ระบบการพิมพ์พื้นปรุ ตัวแม่พิมพ์เป็นแผ่นกระดาษไข ซึ่งเป็นกระดาษที่มีเยื่อกระดาษเคลือบด้วยไข เมื่อใช้พิมพ์ดีดตีพิมพ์ตัวอักษรลงไปบนแผ่นไข หรือใช้โลหะแหลมขูดขีดเป็นเส้น เป็นภาพก็จะทำให้ไขที่เคลือบส่วนนั้นแตกเป็นรอยขึ้น เมื่อใช้หมึกทาทางด้านหนึ่งของแผ่นกระดาษไข หมึกก็จะทะลุตามรอยปรุบนกระดาษ ลงบนเกาะแผ่นกระดาษที่พิมพ์ซึ่งตั้งรอบรับอยู่อีกด้านหนึ่ง ของแผ่นกระดาษไข ระบบการพิมพ์วิธีนี้ใช้คุณภาพ ในทางการพิมพ์พอใช้ได้ แต่ไม่ดีเท่ากับระบบการพิมพ์ที่กล่าวมาในตอนต้น และพิมพ์เป็นปริมาณมากไม่ได้ เพราะแม่พิมพ์ไม่ทนทานจึงใช้ในงานพิมพ์หนังสือ ที่มีปริมาณไม่มากมักมีจำนวนพิมพ์ครั้งหนึ่งๆ เป็นจำนวนร้อยเท่านั้น
เครื่องพิมพ์ออฟเซต ในปัจจุบันเป็นระบบที่ใช้ในการผลิตหนังสือแพร่หลายกว่าระบบอื่น ๆ
เครื่องพิมพ์ออฟเซต ในปัจจุบันเป็นระบบที่ใช้ในการผลิตหนังสือแพร่หลายกว่าระบบอื่นๆ
การพิมพ์ด้วยแสง

            เป็นระบบการพิมพ์ไม่สัมผัส คือ ไม่ต้องมีแรงกดพิมพ์ในระหว่างพิมพ์ การพิมพ์ในระบบนี้ได้พัฒนาไปด้วยความรวดเร็ว เช่น เครื่องถ่ายเอกสารชนิดต่างๆ ได้มีการผลิตออกมามากแบบในปัจจุบัน ตลอดจนการพิมพ์ด้วยระบบแสงเลเซอร์ ซึ่งเป็นระบบการพิมพ์ที่ใช้แสงสร้าง คุณสมบัติบนผิวกระดาษพิมพ์ ให้จุดที่ต้องการพิมพ์ รับผงหมึก ให้ผงหมึกเกาะติดกระดาษ และจุดที่ไม่ต้องการพิมพ์ ผงหมึกจะไม่เกาะ เมื่อผ่านความร้อน ผงหมึกจะละลายเกาะติดผิวกระดาษ เครื่องถ่ายเอกสารมีการปรับปรุง ให้สามารถตั้งกำหนดจำนวนแผ่นเอกสารออกมามากแผ่นได้ จึงสามารถนำมาใช้ในการผลิตหนังสือได้ แต่ก็เหมาะสำหรับการผลิตหนังสือเป็นจำนวนน้อย เพราะความรวดเร็ว ในการผลิตสู้ระบบวิธีพิมพ์ ที่อาศัยแรงกดพิมพ์ไม่ได้ และคำใช้จ่ายในการพิมพ์สำหรับการพิมพ์ เป็นจำนวนมากก็ไม่ประหยัดขึ้น จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการพิมพ์ที่ใช้แรงกดพิมพ์

            ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการเรียงพิมพ์ในระบบการเรียงพิมพ์ด้วยแสง ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประกอบ ทำให้สามารถป้อนข้อมูลเนื้อความที่เรียงพิมพ์และภาพ เข้าไว้ในส่วนเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์ และสามารถเรียกภาพ และตัวหนังสือที่เรียงพิมพ์เรียบร้อยแล้ว โดยจะเลือกให้เรียงพิมพ์ ด้วยตัวพิมพ์แบบใดก็ได้ ตามที่ได้ป้อนแบบเอาไว้ในคอมพิวเตอร์ สามารถจัดให้ภาพ และตัวหนังสือเข้ามาประกอบกันเป็นหน้าหนังสือ ตามที่ต้องการบนจอภาพซึ่งสามารถจะจัดหน้าหนังสือได้ ตามที่ผู้ออกแบบหน้าหนังสือต้องการ และสามารถสั่งให้เครื่องนั้น พิมพ์ออกมาเป็นหน้าหนังสือ ตามแบบที่จัดไว้บนจอภาพ ทำให้พิมพ์หนังสือได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบนี้เรียกว่าระบบจัดพิมพ์ตั้งโต๊ะ (Desktop publishing) ระบบการจัดพิมพ์แบบนี้ ตัดขั้นตอนง่ายก่อนพิมพ์ไปได้มาก การจัดวางหน้า การเข้าหน้าหนังสือ ทำได้รวดเร็วตัดขั้นตอนการทำแม่พิมพ์ออกไป แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ขอบเขต การสร้างแบบตัวพิมพ์ยังมีขอบเขตจำกัด คุณภาพตัวอักษรที่เรียง ยังคมชัดไม่เท่ากับการเรียงพิมพ์ด้วยวิธีที่ใช้อยู่เดิม และในด้านความรวดเร็วยังไม่อาจพิมพ์ให้เร็ว ได้เท่าแท่นพิมพ์โดยทั่วไป ระบบการจัดพิมพ์ตั้งโต๊ะ จึงเหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่ไม่ต้องการคุณภาพสูงนัก และปริมาณการพิมพ์จำนวนไม่มาก
            การผลิตหนังสือเล่ม มักมีปัญหาที่จะต้องรอให้พิมพ์เสร็จหมดทั้งเล่ม แล้วจึงนำมาทำเป็นเล่มได้ การผลิตหนังสือเล่มหนาเป็นจำนวน มากๆ ผู้พิมพ์จะต้องพิมพ์หนังสือหลายยก พิมพ์เก็บไว้เป็นจำนวนมาก จะต้องใช้เวลานาน กว่าจะพิมพ์เสร็จหมดทุกยกพิมพ์ จะต้องมีที่ เก็บยกพิมพ์รอไว้เพื่อให้พิมพ์ได้ครบหมดทุก ยกแล้วจึงจะทำเล่มได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บ และต้องเสียดอกเบี้ย ในการต้องรอเวลา การทำเล่ม จึงได้พัฒนาการพิมพ์ระบบสายพาน (Printing belt system) ขึ้น โดยมีการสร้างเครื่องพิมพ์คาเมรอน (Cameron press) ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์โรตารี ใช้กระดาษม้วนพิมพ์ แม่พิมพ์เป็นแม่พิมพ์ระบบการพิมพ์พื้นนูน เป็นแม่พิมพ์ยาง ยึดติดบนสายพาน โดยจัดหน้าให้ได้ลำดับ เมื่อพิมพ์ทั้งสองด้านของกระดาษ และพับแล้ว หน้าจะเรียงลำดับได้ถูกต้อง สายพานจะมีสองสาย จะยึดแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์ บนแต่ละหน้าของม้วนกระดาษ หน้าพิมพ์จะเรียงติดต่อกันไป ตามความยาวของสายพานจนจบเล่มหนังสือ แท่นพิมพ์คาเมรอนนี้ จะพิมพ์บนกระดาษทั้งสองหน้าพร้อมกันและพิมพ์ติดต่อกันไปบนม้วนกระดาษ เมื่อพิมพ์ไปได้ตอนหนึ่งก็จะมีเครื่องพับ พับกระดาษให้เป็นยกพิมพ์ และมีใบมีดตัดกระดาษออกมาเป็นยกพิมพ์หนึ่งๆ เรียงซ้อนกันออกมาเป็นเล่มหนังสือทั้งเล่ม การพิมพ์ด้วยระบบนี้ จึงสามารถพิมพ์หนังสือให้เป็นเล่มได้รวดเร็ว ไม่ต้องเก็บยกพิมพ์ รอใช้ในโรงพิมพ์นาน สามารถนำยกพิมพ์ที่พิมพ์เรียงซ้อนกันเป็นเล่ม ออกจากแท่นพิมพ์ไปทำเล่มหนังสือได้ทันที แต่ระบบเครื่องพิมพ์ค่อนข้างยุ่งยากมาก การพิมพ์ก็ได้เพียงหนังสือขาวดำเท่านั้น คุณภาพการพิมพ์ด้อยกว่าระบบการพิมพ์ออฟเซต แม้จะพิมพ์ออกมาเป็นเล่มหนังสือได้ทันที แต่ความเร็วในการพิมพ์แต่ละแผ่นพิมพ์ช้า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบการพิมพ์โรตารีอื่นๆ ระบบการผลิตหนังสือวิธีนี้จ ึงไม่นิยมใช้กันมากนัก