เล่มที่ 16
การผลิตหนังสือ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของหนังสือ

            ความสนใจของมวลชนที่มีต่อหนังสือได้มีมากขึ้นไปตามความเจริญของสังคม และบ้านเมือง จนมีคำกล่าวกันว่า หนังสือเป็นเครื่องวัดความเจริญของสังคมอย่างหนึ่ง ความสนใจได้แตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวาง และสนใจในรายละเอียดลึกลงไปในแต่ละแขนง ทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และทำให้เกิดหนังสือประเภทต่างๆ ขึ้นมาก แต่ละประเภทมีกลุ่มบุคคลที่สนใจแตกต่างกันไป ลักษณะการใช้งาน อายุการใช้งาน ก็แตกต่างกันไปด้วย วิธีการผลิตหนังสือแต่ละประเภท และวัสดุที่ใช้ผลิต ก็ต้องแตกต่างกันออกไป ผู้ผลิตจะต้องหาวิธีการผลิตให้เหมาะสมกับหนังสือแต่ละประเภท

แผงขายหนังสือพิมพ์และวารสารริมทางเท้า

การแบ่งประเภทของหนังสือมีวิธีแบ่งได้หลายอย่าง แต่เพื่อให้เห็นลักษณะการผลิต และรูปเล่มได้เด่นชัด หนังสืออาจแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ วารสาร (Periodical) และหนังสือเล่ม (book)

วารสาร (Periodical)

            เป็นหนังสือที่มีชื่อหนังสือคงที่ จัดพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตามลำดับเรื่อยไป เช่น หนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกวัน จะมีชื่อหนังสือชื่อเดียวกันตลอด ได้แก่ สยามรัฐ ไทยรัฐ เดลินิวส์ หรือหนังสือที่พิมพ์ออกมาทุกสัปดาห์ ทุกสองสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกระยะเวลาต่างๆ มีชื่อหนังสือเหมือนกัน เช่น สตรีสาร วิทยาจารย์ หลักไท หนังสือเหล่านี้เป็นวารสาร หนังสือประเภทวารสารยังอาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้เป็น หนังสือพิมพ์ (newspaper) และนิตยสาร (magazine)

วารสารประเภทต่างๆ

หนังสือพิมพ์ (newspaper)

            เป็นหนังสือที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข่าวสารปัจจุบันแก่ผู้อ่าน ส่วนนิตยสารนั้นมุ่งที่จะให้ความรู้ ความบันเทิงเป็นสิ่งสำคัญ การที่วัตถุประสงค์ในการจัดทำแตกต่างกัน ลักษณะ และการใช้งานของหนังสือ และลักษณะรูปร่างของหนังสือ จึงย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย จะเห็นว่า หนังสือพิมพ์นั้นพิมพ์บนกระดาษแผ่นใหญ่เรียงซ้อนกัน พับเป็นเล่ม โดยไม่เย็บเล่ม และไม่มีปก ส่วนนิตยสารนั้นมักมีปกที่พิมพ์สีสันสวยงาม เย็บเป็นเล่ม และเจียนเล่มเรียบร้อย ขนาดของเล่มเล็กกว่าหนังสือพิมพ์ การที่หนังสือประเภทใดจะมีรูปเล่ม และขนาดอย่างใด ย่อมแล้วแต่ลักษณะ และวัตถุประสงค์การใช้งานของหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นสำคัญ รูปเล่ม และขนาดเล่ม จะเป็นตัวกำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเชื่อมโยงกันไปทั้งสิ้น

หนังสือพิมพ์

            ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ต้องการทราบข่าว อันเป็นปัจจุบัน และจะสนใจในข่าว ไม่พิถีพิถันมากนักในเรื่องความประณีตในการจัดพิมพ์ และการทำเล่ม โดยปกติหนังสือพิมพ์จะพิมพ์วันต่อวัน ความรวดเร็วในการผลิต และการกระจายหนังสือไปให้ถึงมือผู้อ่าน จึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมีระบบการรวบรวมข่าวให้ได้ รวดเร็วและครอบคลุมความสนใจของผู้อ่านให้ทั่วถึง ปริมาณผู้อ่านมีมากจึงต้องจัดพิมพ์ ออกเป็นจำนวนมากต่อวัน การเรียงพิมพ์จะ เรียงเป็นคอลัมน์เพราะสะดวกในการนำมาจัด หน้า หน้าหนึ่งๆ ในหนังสือพิมพ์ประกอบด้วย เรื่องหลายเรื่องพร้อมรูปภาพประกอบในหน้า เดียวกัน โดยเฉพาะหน้าแรกเป็นหน้าที่ผู้อ่าน จะตัดสินใจเลือกซื้อ จึงควรเลือกข่าวสำคัญๆ หลายข่าวลงพิมพ์รวมไว้ในหน้าแรก โดยเลือกข่าวสำคัญที่สุด พิมพ์เป็นหัวข่าวใหญ่ และข่าวรองลงไปตามลำดับ เพื่อจะได้ดึงดูดความสนใจจากคนหลายกลุ่ม การพิมพ์ต้องพิมพ์ด้วยความรวดเร็ว จึงควรมีรูปเล่มที่สามารถผลิตได้ด้วย ความรวดเร็ว เมื่อพิมพ์และพับเสร็จออกจาก แท่นพิมพ์ก็จัดส่งให้ถึงมือผู้อ่านได้เร็วที่สุด

ผู้อ่านหนังสือพิมพ์จะสนใจในข่าวอันเป็นปัจจุบัน

            ผู้อ่านสามารถอ่านได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่ว่าจะกำลังดื่มกาแฟ เข้าห้องน้ำ โดยสารรถหรือเรือ แม้มีเวลาอ่านเพียงเล็กน้อย ถ้ามีข่าวที่ตนสนใจ ก็จะอ่านก่อน หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งๆ ประกอบด้วยข่าวหลายข่าว เรื่องหลาย เรื่องกระจายไปทั้งหน้า ผู้อ่านจะดูไปตามหัวข่าวทั้งหมดแล้วจึงตัดสินใจว่าสนใจเรื่องใด เป็นอันดับแรกก็จะอ่านเรื่องนั้นก่อน จบแล้วก็จะอ่านเรื่องที่สนใจรองลงไปตามลำดับ ไม่ได้อ่านหมดทุกเรื่องอ่านเพียงแต่เรื่องที่ตนสนใจ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง อยู่ในความสนใจเพียงวันเดียวหรือไม่ถึงวัน จึงมีราคาอยู่เพียงวันเดียว เมื่อพ้นวันไปแล้วก็หมดราคา จนเรียกได้ว่า สูญค่า เพราะราคาหนังสือพิมพ์นั้นจะต่ำกว่า ราคาของกระดาษเปล่าที่ยังมิได้พิมพ์ ต้องรวบ รวมขายกันตามน้ำหนักเป็นกิโลกรัม กระดาษที่ใช้พิมพ์ จึงใช้กระดาษปรู๊ฟหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะราคาถูกไม่ต้องมีความทนทาน

นิตยสาร (magazine)

สำหรับนิตยสารนั้น ผู้ซื้อจะมีความพิถีพิถันมากกว่าซื้อหนังสือพิมพ์ นิตยสารจึงมีปกที่พิมพ์ภาพสวยงาม อายุการใช้งานมีระยะเวลานานกว่าหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะมีอายุอย่างน้อย เท่ากับระยะเวลาออกนิตยสารนั้นๆ นิตยสารจึงยังคงคุณค่านานกว่าหนังสือพิมพ์ แม้เมื่อพ้นเวลาใช้งานแล้ว ก็ยังพอมีราคาอยู่บ้าง

ผู้อ่านนิตยสารต้องมีความสนใจ และมีเวลาว่างพอสมควร จึงจะหยิบอ่าน โดยจะพลิกดูหน้าต่างๆ ไปก่อนตลอดเล่ม หรือเกือบตลอดเล่ม ว่านิตยสารเล่มนั้นมีเรื่องใดบ้าง จะไม่อ่านเรียงลำดับกันไปจากหน้าแรกเรื่องแรก แต่จะเลือกอ่านเรื่องที่ถูกใจก่อนเป็นเรื่องๆ ไป ปกติผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหมดทุกเรื่องในเล่ม

หนังสือเล่ม ประเภทสารคดีและบันเทิงคดี

หนังสือเล่ม (book)

            เป็นประเภทใหญ่ของหนังสืออีกประเภทหนึ่ง อาจแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้หลายวิธี คือ แบ่งตามลักษณะของผู้อ่าน เช่น หนังสือเด็ก หนังสือผู้ใหญ่ หรือแบ่งตามเนื้อหาสาระ เช่น หนังสือสารคดี หนังสือบันเทิงคดี ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งย่อยออกไปได้อีก เช่น สารคดี อาจแบ่งเป็นแบบเรียนในระดับการศึกษาต่างๆ คู่มือครู แบบฝึกหัดตำราทางวิชาการ หนังสืออ้างอิง บันเทิงคดีก็แบ่งเป็น นวนิยาย กวีนิพนธ์ หนังสือเด็กก็อาจแยกออกเป็น หนังสือภาพ หนังสือการ์ตูน นิยาย หนังสือแต่ละประเภทก็มีลักษณะรูปเล่ม เฉพาะที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของหนังสือประเภทนั้นๆ การผลิตหนังสือแต่ละประเภท จึงมีวิธีการ และอุปกรณ์ ที่เหมาะสมแก่การผลิตหนังสือประเภทนั้นๆ ซึ่งก็ย่อมแตกต่างกันออกไปแต่ละประเภท
การซื้อหนังสือเล่ม ผู้ซื้อจะเลือกซื้อพิถีพิถันมาก เช่น เลือกเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจ เลือกผู้ประพันธ์ที่ตนชอบ พิถีพิถันในคุณภาพของการพิมพ์ การทำเล่ม และราคา เมื่อซื้อเล่มใดแล้ว ก็จะอ่านจากหน้าแรกเรียงลำดับจนจบเล่ม เว้นแต่ซื้อมาผิด อ่านไปแล้วไม่ชอบ ก็ไม่อ่านต่อ หรืออาจฝืนอ่านไป จนจบเล่ม หนังสือเล่มมักไม่สูญค่า อ่านแล้วก็ยังเก็บไว้อ่านได้อีกในภายหลัง หรือให้ผู้อื่นอ่านต่อได้ ในแต่ละประเภทย่อยของหนังสือเล่มต่างๆ ก็มีลักษณะเฉพาะ เช่น หนังสือสำหรับเด็กก็มักมีภาพมากและใช้ตัว หนังสือตัวโต ส่วนหนังสือแบบฝึกหัดที่นักเรียน ต้องเขียนคำตอบในเล่ม มักเป็นหนังสือปกอ่อน ใช้กระดาษไม่ต้องดีมาก พอให้เขียนตอบได้ ไม่ซึมหมึก เพราะใช้เขียนกันครั้งเดียว ราคาไม่แพง เพื่อให้นักเรียนสามารถซื้อได้

หนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กจะใช้ภาพที่สวยงาม และใช้อักษรตัวโตๆ เพื่อให้อ่านง่ายและน่าสนใจ

หนังสืออ้างอิง

            เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษอีกแบบหนึ่ง ที่ผู้อ่านจะเลือกอ่านค้นคว้าเอาเฉพาะเรื่องที่ต้องการ เช่น หนังสือพจนานุกรมจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง ผู้ซื้อจะค้นดูศัพท์เฉพาะคำที่ต้องการทราบความหมาย โดยจะเปิดดูหน้าและตำแหน่งตรงที่มีศัพท์ที่ต้องการจะค้น แล้วอ่านดูว่ามีคำแปลว่าอย่างใด เข้าใจแล้วก็ปิดเล่ม หนังสือเล่มหนึ่งๆ ได้อ่านจริง ๆ ไม่กี่บรรทัดไม่กี่หน้า หากเป็นพจนานุกรมฉบับกระเป๋าก็จะต้องผลิตให้มีขนาดเล็ก สามารถพกติดตัวไปได้สะดวก สามารถค้นดูศัพท์ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ขนาดของเล่มหนังสือจะเป็นสิ่งกำหนดตัวพิมพ์ ความหนาของแผ่นกระดาษและชนิดของกระดาษที่จะพิมพ์ เพื่อให้หนังสือมีขนาดพอเหมาะที่จะบรรจุศัพท์ต่างๆ ลงในเล่มให้ครอบคลุมได้กว้างขวางที่ต้องการ และให้ได้ขนาดกว้าง ยาว และหนา พอที่จะพกในกระเป๋าเสื้อของผู้อ่านได้