เล่มที่ 16
การผลิตหนังสือ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ผู้ออกแบบหนังสือ

            การถอดเอาผลิตผลทางความคิดออกมาเป็นผลิตผลทางวัตถุ หรือการทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรมนั้น เป็นเรื่องของผู้ออกแบบหนังสือ ที่กำหนดลักษณะรูปเล่มของหนังสือว่า มีลักษณะรูปร่างใด ขนาดใด และประกอบด้วยอะไรบ้าง

            รูปเล่มหนังสือโดยปกติเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งอาจเป็นหนังสือที่เปิดตามแนวตั้งที่เป็นรูปเล่มของหนังสือส่วนใหญ่ และอีกแบบหนึ่งคือ หนังสือที่เปิดในแนวนอน บางครั้งก็มีการออกแบบหนังสือให้มีรูปร่างแปลกออกไป เช่น เป็นรูปหลายเหลี่ยม เป็นรูปสัตว์ หรือรูปอื่นๆ เพื่อเรียกความสนใจจากผู้อ่าน ซึ่งไม่ได้เป็นหนังสือที่ใช้กันทั่วไป และมักไม่สะดวกแก่การใช้ และการเก็บรักษา ขนาดหนังสือเล่มที่ผลิตกันโดยทั่วไปเป็นสองชุดขนาด คือ ชุดขนาดที่ผลิตจากกระดาษแผ่นใหญ่ ที่ใช้กันมาแต่เดิมคือ ขนาดประมาณ ๓๑ x ๔๓ นิ้ว เมื่อตัดผ่ากลาง ทั้งด้านกว้าง และด้านยาว จะตัดได้เป็นกระดาษ ๔ แผ่น เรียกว่า กระดาษตัด ๔ กระดาษตัด ๔ แผ่นหนึ่ง พิมพ์ด้านละ ๒ หน้าหนังสือ พิมพ์ทั้ง ๒ ด้าน พับกลางจะได้ขนาดหน้าหนังสือประมาณ ๑๐ ๑/๒ x ๑๕ นิ้ว เรียกว่า ขนาดสี่หน้ายก และถ้าพิมพ์ขนาดด้านละ ๔ หน้า พับกลางเป็นมุมฉากสองครั้งตัดกัน จะได้หนังสือ ๘ หน้า ซึ่งมีขนาดประมาร ๑๗ ๑/๒ x ๑๐ ๑/๒ นิ้ว เรียกว่า ขนาดแปดหน้ายก และถ้าพิมพ์ด้านละ ๘ หน้า ก็จะได้หนังสือขนาดเล็กลงไป เรียกว่า ขนาด ๑๖ หน้ายก หนังสืออีกชุดขนาดหนึ่งใช้กระดาษขนาดมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสากล ซึ่งได้กำหนดขนาดกระดาษมาตรฐานออกเป็นกระดาษชุด A และขนาดที่ใช้พิมพ์ในขนาด A๔ เท่ากับ ๒๑๐ x ๒๙๗ มม. (๘.๒๗" x ๑๑.๖๙") และ A๕ เท่ากับ ๑๔๘ x ๒๑๐ มม. (๕.๘๓" x ๘.๒๗")

            หนังสือเล่มที่เป็นแบบเรียน หรือตำรา โดยทั่วไปมีขนาด ๘ หน้ายก ๑๖ หน้ายก A๔ และ A๕ หนังสือพิมพ์รายวันโดยทั่วไป มีขนาด ๒ ขนาด คือ ขนาดแผ่นกว้าง ซึ่งมีขนาดประมาณ ๑๔" x ๒๓" และขนาดเทปลอยด์ (tabloid) มีขนาดประมาณ ๑๑ ๑/๒" x ๑๔ ๑/๒" ผู้ออกแบบหนังสือจะเป็นผู้กำหนดว่า หนังสือเล่มหนึ่งๆ จะประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น จะมีกระดาษหุ้มปกหรือไม่ ผลิตเป็นหนังสือปกอ่อน หรือปกแข็ง ปกจะมีลักษณะอย่างไร รูปหน้าหนังสือแต่ละหน้า แต่ละตอนของหนังสือเป็นอย่างใด จะเลือกใช้ตัวพิมพ์อะไร พิมพ์ที่ใด ภาพที่นำมาประกอบจะเป็นภาพอะไร จะต้องขยาย ต้องย่อ หรืออาจตัดเพียงบางส่วนของภาพมาพิมพ์ จะพิมพ์ในลักษณะใด มีสีอะไรหรือไม่ ต้องการคุณภาพในการพิมพ์เพียงใด ใช้สกรีนในการพิมพ์ขนาดเท่าใด การเรียงลำดับเรื่อง ลำดับหน้า และการทำเล่มออกมาในลักษณะใด ฉะนั้นงานออกแบบหนังสือ จึงเป็นงานคาบเกี่ยว ระหว่างงานของบรรณาธิการกับงานของผู้พิมพ์ งานนี้จึงอาจสังกัดอยู่ในด้านใดด้านหนึ่งก็ได้

            การออกแบบหนังสือ ผู้ออกแบบจะถอดรูปแบบความคิดให้เป็นรูปแบบที่มองเห็นได้ โดยเขียนเป็นแบบร่างอย่างหยาบก่อน โดยใช้ขนาดย่อส่วน เมื่อได้มีความคิดชัดเจนแล้ว ก็จัดทำเป็นแบบร่างอย่างละเอียด ส่วนมากจะทำเท่าขนาดจริง กำหนดตำแหน่งต่างๆ ของเรื่องราว และภาพอย่างชัดเจน เมื่อได้กำหนดแบบของแต่ละหน้าแล้ว ก็จะจัดทำรูปแบบจำลองของสิ่งพิมพ์ หรือดัมมี่ (dummy) โดยจะกำหนดการจัดวางหน้าของหน้าหนังสือแต่ละหน้า ลงบนตำแหน่งที่จะพิมพ์บนแผ่นกระดาษแต่ละยกพิมพ์ กำหนดว่าหน้าใดอยู่ในตำแหน่งของกระดาษที่จะพิมพ์ เมื่อพิมพ์กระดาษหน้าหนึ่งแล้ว กระดาษหน้าหลังจะพิมพ์อย่างไร เมื่อพับแล้ว จะได้ลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อพับแล้ว จะได้ลักษณะเป็นอย่างไร เมื่อได้พิมพ์ พับ และนำมาเรียงต่อๆ กันแล้ว จะได้หนังสือมีหน้าเรียงลำดับสัมพันธ์กันถูกต้องตลอดเล่ม