เล่มที่ 16
ดาวเทียมเพื่อการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเกษตรกรรม

            คำว่า "เกษตรกรรม" นั้น หมายถึง กิจกรรมต่างๆ อันรวมไปถึงการเพาะปลูก การผลิตผลิตผลที่เก็บเกี่ยวได้จากการเพาะปลูก การดำเนินการตลาด เพื่อการขายผลิตผล ที่ได้จากพืชและสัตว์ ทั้งโดยทางตรง และทางอ้อม จุดประสงค์หลักของการทำการเกษตรกรรมที่ทันสมัย ก็เพื่อให้ใช้ผืนแผ่นดินที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มาก และเพียงพอแก่ความต้องการ และในขณะเดียวกัน ก็มีการป้องกันการเสื่อมโทรมของดิน และการใช้ที่ดินอย่างผิดกฎเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเกษตรกรรมแล้วนั้น เขาจะมีสถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐ ช่วยกันในการเพิ่มผลิตผล โดยมีการส่งเสริมความรู้ความสามารถ ในการปรับปรุงพันธุ์พืช การใส่ปุ๋ย การกำจัดแมลง การชลประทาน การป้องกัน ดินพังทลาย การปรับปรุงดิน และการขยายพันธุ์สัตว์ต่างๆ เป็นต้น

แผนที่ประเทศไทย ทำขึ้นจากการต่อภาพที่ได้จากดาวเทียมแลนด์แซตเข้าด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า ขบวนการโมเสกภาพ

            ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีพืชเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ถั่วเหลือง ฝ้าย สับปะรด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และผลไม้ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ตามภาคต่างๆ มากน้อยแตกต่างกันไป เนื่องจากความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ ศัตรูต่างๆ เช่น แมลง เชื้อรา และอุบัติภัยทางธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น

ภาพถ่ายภาคพื้นดิน แสดงให้เห็นตัวอย่างของพื้นที่การเกษตร ซึ่งต้องใช้ดาวเทียมสำรวจ เพื่อทราบข้อมูลต่างๆ ประกอบ : สวนยางจันทบุรี

            การที่จะบริหารทรัพยากรการเกษตรให้ได้ผล และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อเวลา โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่กว้างขวาง และมีพืชพันธุ์หลายชนิดอยู่รวมกัน การที่จะได้ข้อมูลอย่างถูกต้องและแม่นยำ จากบริเวณที่กว้างขวางนั้น ต้องใช้วิธีจากระยะไกล (รีโมตเซนซิง) ซึ่งใช้ได้ทั้งเครื่องบิน และดาวเทียม เป็นพาหนะในการนำอุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่เหมาะสม ขึ้นไปบันทึกข้อมูล ในที่นี้ จะได้กล่าวถึงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับดาวเทียมเท่านั้น