เล่มที่ 16
ดาวเทียมเพื่อการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความเป็นมาของการสำรวจทรัพยากรด้วยดาวเทียม

            วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน วิทยาการของการสำรวจทรัพยากรจากระยะไกล (รีโมตเซนซิง) เป็นวิทยาการหนึ่งที่อำนวยประโยชน์มหาศาลแก่มนุษยชาติ ประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศที่เจริญทางวิชาการ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราช อาณาจักร และออสเตรเลีย เป็นต้น ได้นำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวแล้ว และได้ดำเนินการตั้งโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยดาวเทียมขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยเริ่มจาก การเข้าร่วมโครงการกับนาซาแห่งสหรัฐอเมริกา ในโครงการดาวเทียมแลนด์แซต (LANDSAT) และได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีการขยายขอบเขตการใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม ในการจัดการทรัพยากร และติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ และสาขาที่ได้นำเอาข้อมูลไปใช้แล้ว ได้แก่ ป่าไม้ การใช้ที่ดิน การเกษตร ธรณีวิทยา สมุทรศาสตร์ อุทกวิทยาและแหล่งน้ำ ภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น สิ่งที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ข้อมูลทรัพยากรจากดาวเทียม ที่เป็นไปในทางเพิ่มขึ้น ก็เนื่องมาจากการที่ประเทศไทย มีสถานีรับข้อมูลภาคพื้นดิน ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อรับข้อมูลโดยตรงจากดาวเทียมแลนด์แซต (LANDSAT) และโนอา (NOAA) ในตอนเริ่มต้นขอบเขตการรับสัญญาณข้อมูล มีรัศมีกว้างไกลเป็นวงกลม มีรัศมี ๒,๕๐๐ กิโลเมตร ต่อมาในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สถานีรับภาคพื้นดินได้พัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ สามารถรับสัญญาณข้อมูล จากดาวเทียมแลนด์แซตดวงที่ ๕ ซึ่งมีรายละเอียดข้อมูล ๓๐ เมตร X ๓๐ เมตร ข้อ มูลจากดาวเทียม SPOT ของฝรั่งเศส ซึ่งมีรายละเอียดของภาพ ๒๐ เมตร X ๒๐ เมตร ในภาพสี และ ๑๐ เมตร X ๑๐ เมตร ในภาพขาวดำ นอกจากนี้สถานีรับฯ ยังรับสัญญาณจากดาวเทียม MOS-1 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีรายละเอียด ข้อมูล ๕๐ เมตร X ๕๐ เมตร และในขณะนี้สถานีรับฯ กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เพิ่มขีดความสามารถ ในการรับสัญญาณจากดาวเทียม ERS-1 ขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (ESA) ได้อีกด้วย ซึ่งดาวเทียมนี้ จะมี เครื่องบันทึกสัญญาณแบบไมโครเวฟ (microwave) ด้วย

แผนที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ในการสำรวจทรัพยากรและการทำแผนที่จำแนกการใช้ที่ดิน

            จึงเห็นได้ว่าประเทศไทย มีสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินที่ทันสมัย ที่สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมที่สำรวจทรัพยากรทุกดวง ที่โคจรอยู่ในขณะนี้ คือดาวเทียม LANDSAT ดาวเทียม SPOT และดาวเทียม MOS-๑ และในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะสามารถรับสัญญาณจาก ดาวเทียม ERS-1 ได้อีกด้วย ขีดความสามารถเหล่านี้ จะเป็นสิ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ในการสำรวจทรัพยากรเพิ่มขึ้น ในทุกสาขาในอนาคต รวมทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ที่อยู่ในรัศมีการทำงานของสถานีรับฯ ดังกล่าวแล้ว