เล่มที่ 16
ดาวเทียมเพื่อการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรในสาขาต่างๆ

            ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ได้เอื้ออำนวยประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ในการนำเอาข้อมูลไปศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งพอยกตัวอย่างได้ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร สำนัก งานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นอาทิ รวมไปถึงมหาวิทยาลัย ทั้งส่วนกลางแ ละส่วนภูมิภาค โดยได้มีการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรในสาขาต่างๆ ดังนี้

ด้านป่าไม้

            กรมป่าไม้ได้นำข้อมูลจากดาวเทียม ไปใช้ศึกษาพื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศ และติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร การสำรวจหาพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และป่าเสื่อมโทรม ทั่วทั้งประเทศ การใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ศึกษาหาบริเวณพื้นทีที่สมควร จะทำการปลูกสร้างสวนป่า ทดแทนบริเวณป่าที่ถูกบุกรุกแผ้วถางทั่วประเทศ การศึกษาหาสภาพการเปลี่ยนแปลง จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ทุกระยะ ๓ ปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมกัน ในระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น การร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และองค์การต่างประเทศ ทำการศึกษา และวิจัยงานด้านป่าไม้ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสม อาจใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าช่วย หรือทำการวิเคราะห์ด้วยสายตา หรือทั้งสองวิธีรวมกัน
การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาสภาพป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อใช้ทำนากุ้ง
การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษาสภาพป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อใช้ทำนากุ้ง
ด้านการใช้ที่ดิน

            ด้วยเหตุที่การใช้ที่ดินในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆ โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดลักษณะการใช้ที่ดินว่า จะเป็นไปในลักษณะใด เช่น การทำเกษตรกรรม การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน หรือการสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลจากดาวเทียม จึงถูกนำมาใช้ โดยกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อใช้ในการศึกษา และการวิเคราะห์ การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน ตลอดจนการจัดทำแผนที่แสดงขอบเขตการใช้ที่ดินแต่ละประเภท การนำข้อมูลจากดาวเทียม มาใช้ดำเนินกรรมวิธีการวิเคราะห์ ทั้งสองแบบ คือ การแปลด้วยสายตา และการใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ทำให้ได้ผลที่ดี และเป็นที่เชื่อถือได้ โครงการทางด้านการใช้ที่ดินที่ได้ทำไปแล้ว มีหลายโครงการ ทำการศึกษา โดยหน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม การประเมินการชะล้างพังทลายของดินบริเวณบางส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม SPOT และ LANDSAT เป็นต้น

ด้านการเกษตร

            การใช้ข้อมูลดาวเทียมด้านการเกษตร ส่วนใหญ่ใช้ศึกษาพื้นที่เพาะปลูก ความชื้นในดิน การเปลี่ยนแปลงบริเวณเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ การประเมินความเสียหายจากศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และมีความต่อเนื่องประกอบด้วย ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ คือ ดาวเทียม LANDSAT ระบบ TM ดาวเทียม SPOT และ MOS-1 ที่ให้ข้อมูลรายละเอียดสูง จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมยิ่งขึ้น และเนื่องจาก มีการถ่ายภาพซ้ำที่เดิมทุกๆ ๑๘ วันของดาวเทียมLANDSAT และทุกๆ ๑๖ วันของดาวเทียม SPOT ทำให้สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของภาพบริเวณเดียว ซึ่งถ่ายภาพต่างวัน และต่างฤดูกันได้

การเพาะปลูกทางภาคเหนือ ต้องใช้ข้อมูลจากดาวเทียมหาบริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมจะทำการเพาะปลูก
            กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้นำข้อมูลจากดาวเทียม ไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่น การใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นาข้าวภาคกลาง ศึกษาหาผลิตผลของข้าว การสำรวจพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไทย การศึกษาความเป็นไปได้ ของการประมาณพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ในบริเวณภาคใต้ และการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพของการเกษตร โดยการแปลภาพจากดาวเทียม SPOT ด้วยสายตา

ด้านธรณีวิทยาและธรณีสัณฐาน

            การนำข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมาใช้งานในด้านนี้ จะมีลักษณะ และวิธีการ แตกต่างไปจากการแปลข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น ป่าไม้ การใช้ที่ดิน และเกษตรกรรม ซึ่งอาศัยแต่เพียงปัจจัยการแปลภาพพื้นฐาน ก็สามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่การแปลความหมายทางธรณีวิทยา และธรณีสัณฐาน จะอาศัยวิธีการอ่านข้อมูลที่เห็นได้โยตรง เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทางน้ำ ลักษณะการใช้ที่ดิน ตลอดจนองค์ประกอบในการแปลภาพรวมกันเข้า แล้วจึงจะแปลความหมายทางด้านธรณีสัณฐาน และทางธรณีวิทยาอีกชั้นหนึ่ง ความสามารถของดาวเทียมในปัจจุบันนี้ มีคุณสมบัติในการเห็นภาพสามมิติ (ดาวเทียม SPOT) จึงทำให้สามารถศึกษาลักษณะภูมิประเทศได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจากดาวเทียม ซึ่งมองเห็นบริเวณกว้างขวาง สามารถรวมเอาภาพทางธรณีสัณฐานขนาดใหญ่ไว้ในภาพเดียวกันได้

การบุกรุกแผ้วถางป่าชายเลน เพื่อทำการเพาะเลี้ยงกุ้ง ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม และขาดความสมดุลของธรรมชาติ
จะเป็นผลเสียในระยะยาว
            หน่วยงานหรือส่วนราชการต่างๆ ที่ใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมในการปฏิบัติงาน หรือการศึกษาวิจัย ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทำให้ทราบได้ว่า การใช้ข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อการศึกษาลักษณะ และโครงสร้างทางธรณีสัณฐานนั้น เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยพอสมควรทีเดียว

ด้านอุทกวิทยา

            การศึกษาในด้านอุทกวิทยา อาจรวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับ "อุทกภาค" ซึ่งหมายถึง น้ำทั้งบนบก ในทะเล น้ำบนดิน และใต้ผิวดิน ซึ่งรวมไปถึงแหล่งที่มา ปริมาณการไหลเวียนคุณภาพ และมลภาวะ เป็นต้น โดยเฉพาะแหล่งน้ำบนดิน ภาพถ่ายจากดาวเทียม จะสามารถมองเห็นแหล่งที่ตั้ง รูปร่าง และขนาด ได้เป็นอย่างดี ถ้าหากขนาดที่ปรากฏอยู่บนภาพดาวเทียมไม่เล็กจนเกินไป เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติในการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตั้งแต่ความยาวคลื่นประมาณ ๐.๗ ไมครอน ขึ้นไปได้เกือบหมด ดังนั้นภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้ (๐.๗-๑.๐) จะแสดงขอบเขตบริเวณที่เป็นน้ำบนผิวดินได้เด่นชัด และนำมาศึกษาขอบเขตน้ำผิวดินได้ดีกว่าช่วงคลื่นอื่นๆ

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลระยะไกลด้วยดาวเทียม โดยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถให้ผลออกมาหลายสาขา เนื่องจากพื้นที่ปกคลุมกว้างขวาง ภาพนี้แสดงให้เห็นการใช้ที่ดิน สิ่งปกคลุมดิน พื้นที่ทำการเกษตร และแหล่งน้ำผิวดิน เป็นต้น

การชลประทาน

            ได้มีการนำเอาข้อมูลจากดาวเทียมไปใช้ในการวิจัย เรื่องการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เพื่อการชลประทาน บริเวณพื้นที่ชลประทานของโครงการการเกษตรชลประทาน ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามประเมินผลการส่งน้ำบริเวณโครงการฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาวางแผน ด้านการจัดสรรน้ำ และการปรับปรุงระบบชลประทานที่ใช้งานอยู่ให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

            ได้วิจัยเรื่องการใช้ภาพดาวเทียม ศึกษาการใช้น้ำ และการบำรุงรักษาเขื่อน อ่างเก็บน้ำ เพื่อหาทางนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้เป็นประโยชน์ในงานด้านวิศวกรรม เกี่ยวกับการาบำรุงรักษาเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ

ลักษณะการเคลื่อนตัวของมลภาวะทางน้ำจำพวกตะกอน ที่ออกสู่อ่าวไทยตอนบน ทางปากแม่น้ำแม่กลอง และท่าจีน สีน้ำเงินเข้มคือ บริเวณที่น้ำลึกและใส สีฟ้าและฟ้าอ่อนคือ บริเวณน้ำตื้น และมีตะกอนแขวนลอย

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย

            ได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม LANDSAT ในการศึกษาน้ำผิวดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจุดประสงค์ในการนับจำนวนอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการเก็บกักน้ำของแต่ละอ่าง เพื่อใช้ในการวางแผนการบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งการวางแผนการจัดหาน้ำให้เพียงพอแก่ความต้องการ ตลอดทุกฤดูกาล

ด้านสมุทรศาสตร์

            การใช้ประโยชน์ของข้อมูลจากดาวเทียมในด้านสมุทรศาสตร์นั้น ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับตะกอนในทะเล และคุณภาพน้ำบริเวณชายฝั่ง เช่น การศึกษาการแพร่กระจายตัวของตะกอนแขวนลอยบริเวณรอบเกาะภูเก็ต และการแพร่กระจายตัวของตะกอนในบริเวณปากแม่น้ำต่างๆ ของอ่าวไทยตอนบน เช่น ปากแม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง และท่าจีน เป็นต้น ผลไม้จากการศึกษานั้นมีมาก เช่น เป็นประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสมุทรศาสตร์ และการประมง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำการศึกษาดังกล่าวแล้ว

อุบัติภัยจากธรรมชาติที่ อ.พิปูน นครศรีธรรมราช เมื่อ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ เห็นร่องรอยแห่งอุบัติภัย เป็นแนวดินถล่ม ที่น้ำท่วมฉับพลันในแนวสีม่วงและสีน้ำตาล ภาพจากดาวเทียม ทำให้สามารถตรวจสอบ และบันทึกได้

ด้านอุทกภัย

            อุบัติภัยทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น โดยที่รู้ล่วงหน้า หรือไม่รู้ล่วงหน้าก็ตาม ความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินนั้น ย่อมมีขึ้นได้เสมอ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพร้อม และการเตรียมตัวอยู่เสมอนั่นเอง อุทกภัยที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีที่ผ่านมา ยังความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต และทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ทำให้มีการตื่นตัวกันในการที่จะนำข้อมูลจากดาวเทียมมาศึกษา และสำรวจสภาพน้ำท่วม เพื่อให้ทราบถึงขอบเขตบริเวณน้ำท่วม ตลอดจนผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งจะกระจายเป็นบริเวณกว้างไปสู่บริเวณที่มีคามลาดต่ำอยู่เสมอ การติดตามสำรวจการเปลี่ยนแปลงเป็นบริเวณกว้างในขณะที่น้ำท่วมนั้น จะเป็นการยากมากในการใช้เครื่องมือสำรวจ และรังวัดอย่างธรรมดา การใช้เทคนิคการสำรวจจากระยะไกลในการสำรวจ และบันทึกขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม สามารถทำได้ และทำได้ดี จะทำให้เห็นบริเวณน้ำท่วม และสภาพน้ำท่วมอย่างเป็นขั้นตอน สามารถนำข้อมูลการศึกษา เพื่อหาทางวางแผน และวางมาตรการในการป้องกันการเกิดน้ำท่วมในปีต่อๆ ไป และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะสามารถศึกษาความเสียหาย และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อการฟื้นฟูบูรณะต่อไป การศึกษาเหล่านี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ทำเป็นตัวอย่างไปบ้างแล้ว

ความเสียหายจากดินถล่ม เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ภาพจากดาวเทียม ก็จะแสดงได้เช่นกัน
ในภาพ คือ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒
ด้านการทำแผนที่

            ข้อมูลภาพที่ได้รับจากดาวเทียมสามารถปกคลุมบริเวณกว้าง สามารถใช้ในการทำแผนที่ และใช้แก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลจากดาวเทียม SPOT ซึ่งมีรายละเอียดภาพสูง และสามารถดูภาพสามมิติได้ คุณสมบัติที่เหมาะสมนี้ ทำให้กรมแผนที่ทหารได้ทดลองใช้ภาพจากดาวเทียม SPOT แก้ไขแผนที่ภูมิประเทศ มาตรส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ให้ทันสมัย ซึ่งได้ทำไปแล้วในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และแถบชายทะเลตะวันออก และทราบว่าใช้ได้ดี และมีโครงการต่อไปอีกในหลายจังหวัด