กระดาษ ของใช้ในชีวิตประจำวันที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ ถุงใส่ขนม กล่องใส่ของ ธนบัตร กระดาษเช็ดหน้าเช็ดปาก ตั๋วรถเมล์ ตลอดจนแผ่นป้ายโฆษณาที่ติดอยู่ตามสถานที่ทั่วไป ล้วนแล้วแต่ทำด้วยกระดาษทั้งสิ้น มนุษย์เริ่มรู้จักวิธีทำกระดาษเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วในประเทศจีน โดยเอาฟางมาแช่น้ำทิ้งไว้ ครั้นฟางเปื่อยดีแล้ว นำไปตีจนเละจึงกรองเยื่อที่ได้ออก เอาไปล้างให้สะอาดอีกครั้งก็จะได้เยื่อกระดาษ วิธีทำกระดาษให้เป็นแผ่นในสมัยนั้น ทำโดยเอาเยื่อกระดาษที่ล้างสะอาดแล้ว มาละลายน้ำอีกครั้งหนึ่งในถังไม้ น้ำที่ใช้ผสมต้องมากประมาณ ๑๐-๑๕ เท่าของเนื้อเยื่อ แล้วใช้ตะแกรงไม้ไผ่ตาถี่ช้อนลงไปในถัง เนื้อเยื่อจะติดตะแกรง พอหมาดดีแล้ว ลอกเยื่อกระดาษที่ติดตะแกรงเป็นแผ่นออกไปตากแดดจนแห้ง กระดาษจะหนาหรือบางขึ้นอยู่กับความข้นของเยื่อ ถ้าต้องการกระดาษหนาก็ผสมเยื่อให้ข้น กระดาษที่ได้มีสีน้ำตาลเพราะทำจากฟาง จึงเรียกว่า กระดาษฟาง ต่อมามีการใช้ผ้าขี้ริ้ว หรือเศษผ้า แช่กับน้ำด่างที่ได้จากขี้เถ้าแล้วตีจนเละเช่นเดียวกับวิธีทำกระดาษฟาง แต่กระดาษที่ได้มีสีเทา และเนื้อละเอียดกว่ากระดาษฟางมาก | ||||
ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ | ||||
เคล็ดลับวิธีทำกระดาษได้ตกทอดไปยังทวีปยุโรป ประเทศอังกฤษได้รู้จักทำกระดาษใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๒ ในสมัยนั้น กรรมวิธีทำกระดาษส่วนใหญ่ยังทำด้วยมือ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๔๒ จึงมีชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อ นิโคลาส โรแบร์ต (Nicolas Robert) ได้ประดิษฐ์เครื่องทำกระดาษขึ้นมา โดยทำเป็นเครื่องมือแบบง่ายๆ และแผ่นกระดาษที่ได้ยังต้องนำไปตากให้แห้งด้วยการผึ่งลมในห้อง วัสดุที่ใช้ทำกระดาษมีหลายอย่าง เช่น เศษผ้า ฟาง ปอ หญ้า ไม้ ไม้ไผ่ และชานอ้อย เช่น โรงงานกระดาษ จังหวัดกาญจนบุรี ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบสำคัญ โรงงานกระดาษบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้ฟางข้าว โรงงานเยื่อกระดาษ ที่จังหวัดขอนแก่น ใช้ปอเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในแถบนั้นๆ ส่วนโรงงานทำกระดาษที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบยังไม่มี แต่มีโครงการจะตั้งโรงงานผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์ โดยใช้ไม้จากป่าสนทางภาคเหนือในอนาคต | ||||
ป่าสน | ||||
กระดาษประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ รวมเป็นเนื้อเดียวกัน กระดาษบางชนิดจะแลเห็นเนื้อเยื่อเหล่านี้ชัดเจนมาก เช่น กระดาษสาที่ใช้ทำตัวว่าว และกระดาษถุงสีน้ำตาล เป็นต้น ไม้ทุกชนิดใช้ทำเยื่อกระดาษได้ แต่มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ ไม้ที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษจะต้องให้เยื่อเหนียว ยาว มียางน้อย เพราะยางไม้ทำให้เปลืองสารเคมีเมื่อต้มเยื่อ และยังทำให้กระดาษขาดง่าย ขณะทำเป็นแผ่นต้องเป็นไม้ที่ขยายพันธุ์ง่ายเจริญเติบโตเร็ว ให้ปริมาณไม้ต่อเนื้อที่สูง และไม่มีคุณค่าในการทำเครื่องเรือน ไม้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมักจะเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้สน ไม้ประเภทสนมีอยู่หลายชนิด ตามลักษณะของใบ ทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ได้ทดลองปลูกสนชนิดต่างๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ ผลปรากฏว่าสนหลายชนิดสามารถปลูกขึ้นในประเทศไทย และเจริญเติบโตเร็วกว่าในต่างประเทศ ไม้เนื้ออ่อนบางชนิดที่มีขึ้นอยู่ทั่วไปในประเทศ เช่น ต้นนุ่น งิ้ว ก้ามปู ก็สามารถใช้ทำกระดาษได้ ประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ประเทศพม่า อินเดีย ปากีสถาน จีน ต่างก็ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบทั้งสิ้น เนื่องจากไม้ไผ่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ปริมาณไม้ไผ่ที่ได้ต่อเนื้อที่น้อยกว่าไม้ชนิดอื่นๆ จึงยังไม่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษขนาดใหญ่ ฟาง และชานอ้อยให้เยื่อกระดาษสั้น และไม่เหนียว จึงเหมาะที่จะใช้ทำกระดาษคุณภาพต่ำ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าจะใช้เยื่อที่ได้จากฟาง หรือชานอ้อยทำกระดาษคุณภาพดี เช่น กระดาษสมุด ต้องผสมเยื่อยาวที่ได้จากไม้สน หรือไม้ไผ่ลงไปประมาณร้อยละ ๓๐-๕๐ ไม้ที่ใช้ทำกระดาษ เมื่อขนส่งมาถึงโรงงาน จะถูกปอกเปลือกออก หรืออาจจะลอกเปลือกออกทันทีด้วยเครื่องจักร หรือมือ หลังการโค่น การลอกเปลือกทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น ใส่ท่อนไม้ที่ตัดสั้นลงไปในถังใหญ่ที่หมุนในแนวระดับ ไม้จะถูกันเองจนเปลือกหลุด หรืออาจใช้น้ำที่มีความดันสูงระหว่าง ๑,๕๐๐-๒,๕๐๐ ปอนด์ตารางนิ้ว ฉีดบนท่อนซุง แรงดันของน้ำทำให้เปลือกไม้หลุดออกได้ เปลือกไม้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อไปในโรงงานทำกระดาษนั่นเอง จากนี้ท่อนซุงที่ปราศจากเปลือกแล้วจะถูกนำไปทำให้กลายเป็นเยื่อกระดาษต่อไป กรรมวิธีทำเยื่อกระดาษมีอยู่ ๒ วิธีคือ ๑. กรรมวิธีบด ท่อนซุงที่ปอกเปลือกแล้ว จะถูกนำป้อนเข้าไปฝนกับโม่หิน โดยมีน้ำฉีดเพื่อให้โม่หินเย็นลง และหาเยื่อกระดาษออกไปทำกระดาษต่อไป
๒. กรรมวิธีทางเคมี ท่อนซุงจะถูกทำให้เป็นเยื่อกระดาษโดยสารเคมี เยื่อกระดาษที่ได้จากวิธีนี้จะมีสีขาวกว่า แต่จะมีราคาแพงกว่ากระดาษที่ทำด้วยกรรมวิธีบด ท่อนซุงจะถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วผ่านไปยังหม้อย่อยไม้ เศษไม้จะถูกต้มกับสารเคมีนาน ๖-๒๔ ชั่วโมง จึงจะได้เยื่อกระดาษที่จะทำเป็นกระดาษต่อไป สารเคมีสำคัญๆ ที่ใช้ต้ม มีอยู่ ๓ ประเภท ดังนั้น เยื่อกระดาษที่ได้จึงมี ๓ ประเภทตามชนิดของสารเคมีที่ใช้ คือ เยื่อกระดาษโซดา (soda pulp) ใช้สารละลายด่างแก่ หรือโซดาแผดเผา (caustic soda) เยื่อกระดาษซัลไฟด์ (sulfide pulp) ใช้แคลเซียมไบซัลเฟต (calcium bisulfate) และเยื่อกระดาษซัลเฟต (sulfate pulp) ใช้โซเดียมซัลเฟต (sodium sulfate) รวมกับโซดาแผดเผา โซเดียมซัลไฟด์ (sodium sulfide) และโซเดียมคาร์บอเนต (sodium carbonate) สารเคมีแต่ละชนิดทำให้เยื่อกระดาษมีคุณสมบัติต่างๆ กัน เช่น เยื่อกระดาษโซดาจะอ่อนนุ่ม และขาวสะอาดเหมาะที่จะใช้ทำกระดาษสมุดหนังสือ และหนังสือพิมพ์ เยื่อกระดาษซัลไฟด์จะเหนียวกว่า เหมาะที่จะใช้ทำกระดาษที่เหนียวขึ้น ส่วนเยื่อกระดาษซัลเฟตนั้นเหนียวมาก และยังฟอกสีให้ขาวได้ยาก จึงเหมาะที่จะใช้ทำกระดาษสีน้ำตาล ใช้ห่อของ บางทีเราเรียกว่า กระดาษคราฟต์ (kraft paper คำว่า kraft ในภาษาเยอรมันแปลว่า ความแข็งแรง) กระดาษชนิดนี้เริ่มผลิตในประเทศเยอรมันจึงได้ชื่อมาจนทุกวันนี้ เยื่อกระดาษที่ได้จะมีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลแก่ แล้วแต่กรรมวิธีที่ผลิตเยื่อ ถ้าต้องการเยื่อสีขาวสำหรับกระดาษสมุด หรือกระดาษพิมพ์จะต้องผ่านการฟอกสีด้วยสารเคมี สารเคมีที่นิยมใช้ฟอกสีกระดาษ ได้แก่ ก๊าซคลอรีน ผงฟอกสี คลอรีนไดออกไซด์ เป็นต้น เมื่อได้เยื่อกระดาษมาแล้ว นำไปทำเป็นแผ่นกระดาษโดยเอาเยื่อกระดาษมากวนกับน้ำให้เข้ากันในถังใหญ่ ใส่ส่วนผสมอื่นๆ เช่น ผสมสีทำให้กระดาษมีสีต่างๆ กัน ผสมแป้ง หรือยางไม้ บางชนิดทำให้หมึกไม่ซึมเวลาพิมพ์ เป็นต้น จากนั้นจะถูกผ่านไปบนตะแกรงลวด ซึ่งทำเป็นสายพานเกลี่ยให้เป็นแผ่นกว้าง น้ำจะถูกดูดซึมออก เกิดเป็นแผ่นกระดาษเปียกๆ จากนั้นจึงนำไปผ่านลูกกลิ้งเพื่อทำให้เรียบ แล้วนำไปผ่านลูกกลิ้งอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้น้ำในกระดาษระเหยจนแห้งและในที่สุดกระดาษจะมีผิวเรียบ มัน แล้วจึงม้วนเข้าเป็นม้วนใหญ่พร้อมที่จะนำไปใช้ได้ต่อไป
วิวัฒนาการของการผลิตกระดาษ และความต้องการใช้กระดาษในปัจจุบัน ทำให้เราใช้กระดาษเพิ่มมากขึ้น นอกจากทำกระดาษสมุด และหนังสือธรรมดาแล้ว เรายังทำกระดาษแข็ง ทำประตู ฝากั้นห้อง ท่อระบายน้ำ หรือแม้กระทั่งกางเกงชั้นในชนิดใช้แล้วทิ้ง ไม่ต้องซัก ในอนาคตเราอาจมีผลิตผลอื่นๆ ที่ทำด้วยกระดาษเพิ่มขึ้นอีกมาก |