เล่มที่ 17
ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระบบนิเวศในธรรมชาติ

            ชีวิตทุกชีวิตที่เกิดขึ้นในชีวบริเวณนั้น ต่างเกิดมาได้ เพราะมีชีวิตอื่นๆ เกื้อหนุน ซึ่งชีวิตทุกชีวิตมิอาจเกิดและมีชีวิตอยู่ได้ ในสภาวะลำพังโดดเดี่ยว โดยไม่มีความสัมพันธ์ถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และภายใต้ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมนี้ เราเรียกว่า ระบบนิเวศ

            ระบบนิเวศ หมายถึง ระบบของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง และมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ

            สิ่งแวดล้อม หมายถึง กลุ่มหรือหมู่ของสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ

ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ในระบบนิเวศ แบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ

            ๑.เป็นความผูกพัน พึ่งพากัน หรือส่งผล ต่อกันระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง

            ๒.เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตที่แวดล้อมมันอยู่

            ซึ่งลักษณะความสัมพันธ์ทั้ง ๒ ประการ นี้ จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และมีอยู่ในทุกระบบนิเวศ และความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต กับสิ่งแวดล้อมก็คือ การถ่ายทอดพลังงาน และการแลกเปลี่ยนสสาร ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างมีระเบียบ ภายในระบบ ทำให้ระบบอยู่ในภาวะที่สมดุลนั้น คือ

            การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตจะได้พลังงานโดยตรงมาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ จะถูกตรึงไว้ในชีวบริเวณด้วยขบวนการสังเคราะห์แสง ของพืชสีเขียว ทำให้มีการเจริญเติบโต และเป็นอาหารให้กับสัตว์ ขณะเดียวกันตลอดระยะเวลาของการเติบโตของพืชสีเขียว มันก็จะปล่อยก๊าซออกซิเจน ที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการหายใจของพืชและสัตว์

            นื่คือตัวอย่างของการถ่ายทอดพลังงาน และการแลกเปลี่ยนสสาร ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ

พลังงานจากดวงอาทิตย์
แสดงเปรียบเทียบความบางของชีวาลัย กับความลึกของโลก

            ระบบนิเวศนั้น มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในโลก ที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสังคมของสัตว์และพืช หรือจุลินทรีย์ที่เล็กที่สุด ซึ่งทุกๆ ชีวิตต่างมีระบบของมันเอง ขณะเดียวกันก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของมันด้วย ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นในดิน น้ำ หรืออากาศ ในบริเวณหนึ่งบริเวณใดก็ตาม เมื่อเกิดมีสิ่งมีชีวิตขึ้น ตามระบบของธรรมชาติแล้ว สิ่งมีชีวิตนั้นๆ จะค่อยๆ วิวัฒนาการ สร้างความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบมากขึ้น และนำเอาธรรมชาติรอบข้างนั้น มาใช้เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของมัน ชีวิตใดที่สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้มากกว่าชีวิตอื่น มันก็อยู่รอดได้ ขณะที่ชีวิตที่อ่อนแอกว่าจะสูญสลายไปในที่สุด ขณะเดียวกัน ที่มันมีความสามารถในการดึงเอาธรรมชาติรอบข้างมาใช้ ในการเจริญเติบโต ในระบบของสิ่งมีชีวิต ก็จะสร้างความต้านทานต่อสิ่งรบกวน ที่จะเข้ามาทำอันตรายมันด้วยตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งมีชีวิตใดที่มีวิวัฒนาการ ของการสร้างระบบความเจริญเติบโตในชุมชนได้มากเท่าใด แรงต้านทานก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ความซับซ้อนในระบบนิเวศก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตาม วิวัฒนาการการเจริญเติบโตของสังคมสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ จนกลายเป็นความสมดุลในระบบธรรมชาติ