เล่มที่ 17
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะของการตั้งถิ่นฐาน

การตั้งถิ่นฐาน สามารถจำแนกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ การตั้งถิ่นฐานในเมือง และการตั้งถิ่นฐานในชนบท

๑.การตั้งถิ่นฐานในเมือง


            ถิ่นฐานใดจะมีลักษณะเป็นเมืองนั้น มีองค์ประกอบในการพิจารณา โดยทั่วๆ ไป คือ จำนวนประชากร ความหนาแน่นของประชากร และอาชีพของประชากร สำหรับประเทศไทยมิได้กำหนดสัดส่วนแน่นอน แต่ใช้นิยามของคำว่า "เทศบาล" และ "สุขาภิบาล" แทนโดยถือว่า เขตเทศบาล และเขตสุขาภิบาล เป็นเขตเมือง ซึ่งในชุมชนหนึ่งๆ จะประกอบด้วยการใช้ที่ดินประเภทต่างๆ ดังนี้ ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เกษตรกรรมา ที่โล่งเพื่อนันทนาการ สถานบันการศึกษา สถานบันศาสนา และสถาบันราชการ

            เมื่อมนุษย์อยู่รวมกลุ่มกันเป็นเมือง หากไม่มีการวางแผนการเติบโตของเมืองแล้ว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิต การวางแผนสำหรับการเติบโตของเมืองนี้เรียกว่า การวางผังเมือง ซึ่งนับเป็นกลไกที่จำเป็นต่อการปรับปรุงสภาพปัจจุบัน และเป็นแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต องค์ประกอบที่นำมาใช้ในการวางผังเมืองมีดังนี้
ก. ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น พื้นที่เป็นที่สูง ที่ลุ่ม หรือมีการทรุดตัวของพื้นดิน
ข. การเพิ่มประชากร การจำกัดจำนวนประชากร และการกระจายตัวประกรไปยังพื้นที่เป้าหมาย
ค. สังคมและเศรษฐกิจ เป็นการกำหนดขนาดของเมือง โดยนำปัจจัยทางเศรษฐกิจ มาพิจารณาด้วยว่า เมืองควรมีขนาดเท่าใด ควรขยายไปในทิศทางใด เป็นต้น
ง. การใช้ประโยชน์ที่ดิน เมืองที่ขาดการวางผังและขาดการควบคุม การใช้ประโยชน์ที่ดิน ย่อมขยายตัวออกไปอย่างไร้ทิศทางและเกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น แผ่นดินทรุด น้ำท่วม เป็นต้น การวางผังเมืองจำเป็นต้องกำหนดย่านการใช้ประโยชน์ จากที่ดินตามลักษณะกิจกรรม และความสัมพันธ์ที่มีต่อกันแล้วนำผังออกสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองต่อไป
จ. สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมืองที่ปราศจากการป้องกัน หรือควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อมย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์
สภาพแวดล้อมของการตั้งถิ่นฐานในชนบท
สภาพแวดล้อมของการตั้งถิ่นฐานในชนบท

ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่แปลงเดียวกัน
ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่แปลงเดียวกัน

ถนนเข้านิคม
ถนนเข้านิคม

การศึกษา
การศึกษา

สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ผลิตผลของหมู่บ้านสหกรณ์
ผลิตผลของหมู่บ้านสหกรณ์
๒.การตั้งถิ่นฐานในชนบท

            ในพื้นที่นอกเหนือจากเขตเทศบาล และสุขาภิบาลดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานเกิดขึ้น ก็จะเรียกว่า การตั้งถิ่นฐานในชนบท ซึ่งสามารถจำแนกรูปแบบสำคัญได้เป็น ๒ รูปแบบ คือ

ก. การตั้งถิ่นฐานแบบรวมกลุ่ม

            การตั้งถิ่นฐานแบบนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้อยู่ในสังคมที่ใกล้ชิดกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะของการเกษตร แหล่งน้ำ หรือเพื่อป้องกันอันตราย เป็นต้น

ข. การตั้งถิ่นฐานแบบกระจาย

            จะมีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว หรือกลุ่มบ้านสองสามหลัง ตั้งกระจายห่างไกลจากเพื่อนบ้าน มักพบในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญบางประการ ตัวอย่าง เช่น การจัดบริการสาธารณะ เช่น ถนน ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งต้องลงทุนสูงกว่าในเขตที่อยู่อาศัยแบบรวมกลุ่ม

            สำหรับการตั้งถิ่นฐานในชนบทนี้ การวางแผนจะกระทำได้ยาก เนื่องจากบ้านเรือนตั้งกระจาย มีเนื้อที่กว้างขวางในประเทศไทย รัฐจัดรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานในชนบทเป็นหลายลักษณะ หรือเป็นโครงการ ในที่นี้จะยกตัวอย่าง ๓ ประเภท ได้แก่ การตั้งถิ่นฐานในนิคมสร้างตนเองภาคกลาง การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ก. การตั้งถิ่นฐานในนิคมสร้างตนเองภาคกลาง

            การตั้งถิ่นฐานในรูปนิคมสร้างตนเองเป็นการตั้งถิ่นฐานที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางด้านกายภาพ การเกษตร การช่าง และด้านเศรษฐกิจสังคม เพื่ออำนวยความผาสุก ความปลอดภัย และความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่ประชาชนที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในนิคม ตามหลักและวิธีการวางแผนผังนิคม รับผิดชอบโดยกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย

            การจัดนิคม หรือประชาชนในรูปหมู่บ้าน จะกำหนดขนาดของหมู่บ้านหนึ่งๆ ให้ประกอบ ด้วยสมาชิกตั้งแต่ ๔๕-๕๐ ครอบครัว ขนาดพื้นที่ ๑-๓ ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่านั้น โดยให้ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่แปลงเดียวกัน ปกตินิคมสร้างตนเองโดยทั่วไป จะกำหนดที่ดินทำกินไว้ครอบครัวละประมาณ ๒๕ ไร่ กรมประชาสงเคราะห์ยังได้วางแผนผัง การตัดถนนสายหลัก และถนนซอยเชื่อมระหว่างถนนสายหลัก รวมทั้งถนนติดต่อระหว่างหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการคมนาคม และขนส่งผลิตผลไปสู่ตลาด รวมทั้งจัดให้มีย่านการค้า โรงเรียน สุขศาลา ห้องประชุม ไร่กลาง หรือไร่สาธิต ที่เลี้ยงสัตว์ร่วมกัน สถานีตำรวจ รวมทั้งสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ตามความเหมาะสม และความจำเป็นอีกด้วย

            การตั้งนิคมสร้างตนเอง จึงเป็นการตั้งถิ่นฐานที่มีการวางแผน สามารถเปรียบเทียบกับการตั้งถิ่นฐานในลักษณะที่ไม่มีการวางแผนได้ดังนี้

๑. ทำเลที่ตั้ง

            ในภาคกลางประชาชนเลือกตั้งถิ่นฐานในที่ลุ่มตามแนวแม่น้ำลำคลอง หรืออยู่ในเขตชลประทาน แต่การตั้งถิ่นฐานในนิคมสร้างตนเองภาคกลาง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในที่ดอน และอยู่นอกเขตชลประทานแทบทั้งสิ้น

๒. ลักษณะการได้ถือครองที่ดิน

            ประชาชนทั่วไปชนบทภาคกลางมักจับจองที่ดินเป็นเอกเทศ หรือรับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ หรือโดยการซื้อขายรับโอน ส่วนการตั้งถิ่นฐานในนิคมสร้างตนเอง ผู้ตั้งถิ่นฐานได้ถือครองที่ดินจากที่ดินจัดสรร ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

๓. เนื้อที่ถือครองที่ดิน

            ประชาชนทั่วไปในชนบทภาคกลางถือครองที่ดินขนาดเนื้อที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ประมาณ ๒๐-๕๐ ไร่ แต่ผู้ตั้งถิ่นฐานในนิคมจะได้รับการจัดสรรเท่ากัน หรือใกล้เคียงกัน คือ ระหว่าง ๒๕-๓๐ ไร่

๔. บริการเพื่อชุมชน

            การตั้งถิ่นฐานทั่วไปอยู่กระจัดกระจาก ยากที่รัฐจะจัดบริการต่าง ๆ ให้ได้ทั่วถึง ส่วนการตั้งถิ่นฐานในรูปนิคมนั้นมีการจัดบริการชุมชน บริการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการตามความจำเป็นของท้องถิ่น

๕. ขนบธรรมเนียมประเพณี

            ประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานในชนบทภาคกลาง จะมีขนมธรรมเนียมประจำถิ่นไม่แตกต่างกัน เพราะได้ตั้งถิ่นฐานมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานร่วมกัน ส่วนการตั้งถิ่นฐานในนิคมนั้น จะมีความแตกต่างกันในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีประจำถิ่นเป็นอันมาก ทั้งนี้ เพราะเป็นการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน

ข. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

            การปฏิรูปที่ดินเป็นนโยบายหนึ่งของรัฐ อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ในรูปของการวางแผนการตั้งถิ่นฐานในชนบท เป็นการปรับปรุงสิทธิการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรทั้งปวง รวมทั้งช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินก็คือ การจัดตั้งการปฏิรูปที่ดินสำเร็จรูปในอำเภอต่างๆ ที่ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โครงการดังกล่าวจะมีบริเวณประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่ โดยแบ่งเป็นเนื้อที่เกษตรกรรมของสมาชิกโครงการ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ส่วนอีก ๒,๐๐๐ ไร่ เป็นที่สำหรับสหกรณ์ โรงเรียน วัด ตลาด บ้าน สถานีอนามัย โรงสี ถนน คลอง คู บ่อน้ำสาธารณะ ตลอดจนป่าไม้ชุมชน และอาจมีสถานที่ที่เก็บรักษาไว้สำหรับใช้เป็นที่เกษตรกรรมในอนาคตอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า โครงการปฏิรูปที่ดินสำเร็จรูปเปรียบเสมือนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในชนบท จังหวัดที่ดำเนินการตามโครงการนี้ เช่น ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี เป็นต้น

ค. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

            โครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพงอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการเพื่อสนองพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน และไม่มีที่ทำกินของตนเอง หรือมีที่ทำกินเพียงเล็กน้อย ไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว ให้มีที่ทำกินเพียงพอ เป็นหลักแหล่ง มีรายได้ดีขึ้นพอสมควร โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการโครงการ โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลเข้าร่วม ได้แก่ สำนักผังเมือง และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท พื้นที่โครงการเป็นป่าสงวนที่มีสภาพเสื่อมโทรม ในบริเวณอำเภอสันกำแพง ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ นำมาพัฒนาให้เกษตรกรในลักษณะปฏิรูปที่ดิน โดยการแบ่งที่ดินให้เพื่อปลูกบ้านและสวนครัว ครอบครัวละ ๑/๒ ไร่ และเป็น ที่ทำกินอีกครอบครัวละ ๘-๑๐ ไร่

            การออกแบบวางผังหมู่บ้านสหกรณ์ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักผังเมือง โดยเฉพาะการวางผังแม่บทของโครงการนั้น ดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่งที่ว่า ควรจะสงวนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไว้เป็นที่ทำกิน การเลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้านควรให้อยู่ต่ำกว่าระดับอ่างเก็บน้ำ เพื่อจะสามารถต่อท่อต่ำไปใช้ใน หมู่บ้าน เปิดน้ำใช้ได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบ เป็นการสะดวกและประหยัด