ความสัมพันธ์ของประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ในด้านศิลปกรรม
วัดเป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ให้เกิดขึ้น และสืบเนื่องมาได้ในสังคมไทย ในทางศิลปกรรมก็เช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่า วัดเป็นศูนย์สร้างวัฒนธรรม และงานศิลปะเกือบทุกสาขา ความเจริญของช่างในอดีตขึ้นอยู่กับผู้อุปถัมภ์งาน งานระดับแรกของช่างนั้น มักเกี่ยวกับการศาสนาหรือวัดในท้องถิ่นที่ช่างผู้นั้นอาศัยอยู่ การปฏิบัติงานให้กับพระศาสนานั้น นอกจากจะกระทำด้วยความศรัทธาแล้ว การแข่งขันกันระหว่างท้องถิ่นใกล้เคียง ก็เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในวิชาช่างอย่างสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าชุมชนใดที่ไม่มีวัดชุมชนนั้นก็จะไม่มีพัฒนาการในด้านศิลปะ
ในทางศิลปะการช่างนั้น วัดได้มีส่วนสร้างสรรค์ศิลปะของชนชาติในขั้นพื้นฐาน ผู้ที่ศึกษาวิชาช่าง หรือผู้ที่รักการช่าง จะมีโอกาสฝึกงานอย่างจริงจังในความควบคุมของครูช่าง เมื่อต้องทำงานให้แก่วัด ในการปลูกสร้างอาคาร หรือประดิษฐ์เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ งานในส่วนที่ต้องทำอยู่เป็นประจำนั้น ก็ได้แก่ งานนักขัตฤกษ์ประจำปี ซึ่งเป็นบทเรียนอย่างดี ที่จะใช้ฝึกหัดทางหนึ่ง ที่เร่งเร้าให้เกิดการพัฒนาในทางฝีมือก็คือ การที่ ต้องแข่งขันกับช่างในถิ่นอื่นที่มามีส่วนร่วมด้วย เป็นต้นว่า การแข่งเรือประกวด การแข่งบั้งไฟ การแต่งขบวนกฐิน การแต่งวัดเพื่อรับงานเทศน์คาถาพัน และในการอื่นๆ อีกมากมาย การเรียน การสอนในวิชาการแขนงนี้ จึงมีวัสดุจริงให้ฝึกหัดกันได้ตลอดเวลา หากชุมชนใดมีครูช่างที่มีฝีมือ และชื่อเสียงมาก ก็ย่อมจะมีคนในท้องถิ่นอื่นมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และก็เป็นหนทางที่จะแพร่ฝีมือ หรือ "ทาง" ของช่างผู้นี้ให้กว้างออกไป เป็นธรรมดาที่ศิษย์ของครูผู้ใด ก็ย่อมทำตามวิธีการของครูผู้นั้น และนี่เองที่เป็นบ่อเกิดแห่งการที่เรียกกันว่า "สกุลช่าง" การถือครูเป็นผู้นำในทางช่าง และเป็นที่เคารพสูงสุดของศิษย์ เป็นข้อประพฤติปฏิบัติกันในสังคมในอดีต เมื่อผู้ใดปรากฏชื่อเสียง และฝีมือเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ก็ย่อมเป็นทางให้ได้รับความสนใจจากผู้มีฐานะ และผู้มีบรรดาศักดิ์ ในเมืองใหญ่ คนเหล่านี้จะเฟ้นหาผู้มีชื่อมีฝีมือมาทำงานให้กับตน เพื่อจะได้อาคาร หรือสิ่งของ เครื่องใช้ ที่เป็นที่เชิดหน้าชูตา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่น ช่างในท้องถิ่นจึงอาจได้รับการชุบเลี้ยงในเมืองใหญ่ เพื่อผลิตผลงานให้กับผู้มีฐานะ และผู้มีบรรดาศักดิ์ มีรายได้ รางวัล และมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อมาถึงวาระนี้ ผลงานของช่างผู้นั้น ก็อาจเข้าไปปรากฏอยู่กับวัดวาอารามที่ผู้อุปถัมภ์มีส่วนสร้าง หรืออยู่กับสิ่งของถวายเจ้านาย และถ้าหากเป็นการบังเอิญ ที่อาคารที่สร้างขึ้น หรือสิ่งของที่ผลิตขึ้น เป็นที่สะดุดตาต่อบุคคลสำคัญในราชการ หรือในราชสำนัก ก็เป็นโอกาสที่ช่างผู้นั้น อาจถูกเรียกหาให้เข้ารับราชการ ได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นช่างหลวงต่อไป ซึ่งปรากฏ ตัวอย่างเช่นนี้ตลอดมา

ปราสาทผึ้ง

ในอดีตนั้น ใครเป็นช่างที่มีฝีมือ มีศิลปะสูง ทางราชสำนัก หรือทางราชการในเมืองหลวง มักจะพยายามสร้างหรือสนับสนุนให้เป็นช่างหลวง เหตุนี้จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างของศิลปกรรมที่เป็นของราชสำนัก หรือของชาวบ้านนั้น จึงมิได้อยู่ที่ปรัชญา ค่านิยม หรือความเชื่อในการสร้างงานศิลปะของประชาชนส่วนใหญ่เลย แต่อยู่ที่ความประณีตความ อลังการ หรูหรา ซับซ้อน ที่ในส่วนของราชสำนักย่อมมีทุนทรัพย์ และเวลาที่จะปรุงแต่งงานศิลปะให้งดงามละเอียดลออกว่าศิลปะของชาวบ้าน ทั้งนี้ เพราะช่างหลวงส่วนใหญ่ก็ล้วนมีพื้นเพและฝึกปรือ ฝีมือมาจากวัดหรือท้องถิ่นก่อนนั่นเอง ซึ่งผลงานศิลปะของราชสำนัก หรือของหลวง ก็จะกลายเป็นตัวแบบที่ช่างในท้องถิ่นนิยมเลียนแบบไปอีกต่อหนึ่ง เป็นวัฎจักรไปเรื่อย เนื่องจากการสร้างงาน ศิลปะในอดีต จะถือกันว่า เป็นการสืบต่อพระศาสนา และเพื่อบุญกุศลของผู้สร้างเป็นสำคัญ
อิทธิพลของประเพณีหลวงในด้านศิลปกรรมที่มีต่อประเพณีราษฎร์ จึงเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะศิลปกรรมที่เนื่องในความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม เช่น วัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร เจดีย์ พระพุทธรูป ภาพเขียนในโบสถ์ วิหาร ล้วนแต่ถูกกำกับด้วยคติความเชื่อที่มีลักษณะเดียวกับศิลปกรรมของชนชั้นสูงที่สืบทอดกันตามประเพณี ตัวอย่างเช่น งานจิตรกรรมพื้นบ้านก็ได้รับอิทธิพลจากของหลวงที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น นิยมวาดภาพพุทธประวัติ ชาดกจากเรื่องทศชาติ ชาดกพื้นบ้านของท้องถิ่น ภาคเหนือจะวาดเรื่องคันธนะกุมาร ส่วนภาคอีสานนิยมวาดเรื่องสังข์ศิลป์ไชย เป็นต้น ช่างมักจะสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของวัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนจะเห็นได้จากที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา วัดภูมินทร์ อำเภอเมือง ในจังหวัดน่าน หรือวัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วัดสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น ส่วนความแตกต่างระหว่างงานของช่างหลวงและช่างพื้นเมืองอาจจะอยู่ที่เทคนิคและฝีมือของช่างท้องถิ่นที่มักนิยมใช้สีสดใสตัดกัน ช่างจะใช้สีตามความรู้สึกและทัศนะของตนเอง เช่น ท้องฟ้าจะใช้สีครามสดต้นไม้ใช้สีเขียว เครื่องบนของปราสาทราชวัง มักใช้สีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่แทนสีทอง เป็นต้น ในขณะที่ช่างฝีมือหลวง จะอยู่ในกรอบเกณฑ์ทางศิลปะ และความประณีตสวยงาม มากกว่าการแสดงความรู้สึกส่วนตัว
จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีราษฎร์ในสังคมไทย ที่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดบูรณาการทางสังคม และวัฒนธรรมขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่สร้างบูรณาการให้เกิดขึ้น ทำให้ประเพณีพิธีกรรมของคนพื้นเมือง ที่มีความหลากหลายในเรื่องเผ่าพันธุ์ ในประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ โดยที่มิได้ทำลายเอกลักษณ์ของท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง ซึ่งผิดกับการรับอิทธิพลตะวันตกในทุกวันนี้ เพราะยังคงความหลากหลายทางประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ ไว้ได้ และความหลากหลายของท้องถิ่นนี้เอง ที่เป็นพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่สังคม
จิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์หอคำ
จังหวัดเชียงใหม่