เล่มที่ 18
การเลี้ยงหมู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

อาหาร

            เนื่องจากการเลี้ยงหมูในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย และเป็นการค้ามากขึ้น มีการนำเอาหมูพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง หรือผสมกับหมูพันธุ์พื้นเมืองกันอย่างกว้างขวาง หมูพันธุ์ต่างประเทศนี้มีความต้องการสารอาหารมากกว่าหมูพันธุ์พื้นเมืองของไทย อาหารที่ใช้เลี้ยงจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากการที่เคยเลี้ยงด้วยหยวกกล้วย รำ หรือเศษอาหารต่างๆ ก็เปลี่ยนมาใช้อาหารผสมที่มีคุณค่าอาหารมากขึ้น เพื่อให้หมูได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หมูจะได้เจริญเติบโตเร็วขึ้น อาหารผสมที่ใช้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วย วัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้จากการบริโภคของคน เช่น ปลายข้าว รำละเอียด และกากถั่วเหลือง เป็นต้น นำมาประกอบกันในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน แล้วแต่ขนาดและอายุของหมู เพื่อให้ได้คุณค่าอาหารครบถ้วนทั้ง ๕ หมู่ ดังนี้


วัตถุดิบที่ใช้ผสมในอัตราส่วนต่างๆ เพื่อเป็นอาหารของหมู

วิตามินและแร่ธาตุในอาหารสำหรับหมู

๑. น้ำ

            เป็นสิ่งจำเป็นต่อคนและสัตว์ทุกชนิด น้ำเป็นตัวช่วยปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่ ช่วยขับถ่ายของเสียออกนอกร่างกาย และช่วยในขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย หมูต้องการน้ำอย่างมาก เพราะหมูมีชั้นไขมันอยู่ติดกับผิวหนัง ทำให้ยากต่อการระบายความร้อน จึง ต้องใช้น้ำเป็นตัวช่วยระบายความร้อน ถ้าหากหมูขาดน้ำเพียงครึ่งวัน จะมีอาการหอบ และถ้าขาดน้ำเป็นเวลานาน หมูอาจช็อกตายได้

๒. คาร์โบไฮเดรต

            เป็นแหล่งให้พลังงาน และจะนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโตของหมู อาหารประเภทนี้ส่วนใหญ่คือ แป้งและน้ำตาล ผลิตผลที่นิยมใช้เป็นอาหารสัตว์ ได้แก่ ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลัง เป็นต้น วัตถุดิบเหล่านี้มีราคาถูก เพราะมีระดับโปรตีนต่ำ แต่ใช้ในสูตรอาหารในปริมาณมาก

๓. โปรตีน

            เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญมาก เพราะร่างกายต้องการโปรตีน เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และการสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ เป็นต้น ถ้าสัตว์ขาดสารอาหารนี้แล้ว จะทำให้สัตว์แคระแกร็น โตช้า และสุขภาพอ่อนแอ วัตถุดิบประเภทนี้ ได้แก่ กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากงา ปลาป่น ฯลฯ เป็นต้น โดยทั่วไปมีราคาแพงและคุณภาพไม่แน่นอน

๔. ไขมัน

            เป็นแหล่งให้พลังงาน และให้กรดไขมันชนิดต่างๆ ซึ่งปกติในวัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่วนใหญ่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ ในปริมาณที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ถ้าอาหารผสมนั้นขาดพลังงานแล้ว จะเสริมด้วยแหล่งไขมัน ซึ่งมีทั้งไขมันจากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ หรือไขมันจากสัตว์ เช่น ไขวัว น้ำมันหมู เป็นต้น

๕. วิตามินและแร่ธาตุ

            ร่างกายหมูมีความต้องการวิตามิน และแร่ธาตุในปริมาณน้อย แต่มีความจำเป็นต่อร่างกายมาก เพราะกระบวนการต่างๆ ภายในร่างกาย จำเป็นต้องใช้ทั้งวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ร่วมด้วย วิตามินที่มีความจำเป็นต่อหมูแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ

            ๕.๑ วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี อี และเค
            ๕.๒ วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินบีต่างๆ

            ส่วนแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง และสังกะสี เป็นต้น
            
            โดยปกติแล้วในวัตถุดิบต่างๆ จะมีวิตามิน และแร่ธาตุอยู่แล้ว แต่อาจไม่เพียงพอ หรืออยู่ในสภาพที่หมูนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ดังนั้น จึงนิยมเสริมวิตามิน และแร่ธาตุสำเร็จรูป ไปในอาหารหมูด้วย เพื่อให้หมูเจริญเติบโต และมีสุขภาพแข็งแรง