๑. บริเวณใบหูจะมีจุดเลือดออก
๒. ใต้ท้องหมูจะสังเกตเห็นจุดเลือดออก
โรคอหิวาต์หมู
โรคอหิวาต์หมูเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงมาก และเป็นเฉพาะหมูเท่านั้น โรคนี้นำความเสียหายมาสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเป็นอย่างมาก และเคยระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งทวีปเอเชีย
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งคือ ทอร์เทอร์ซูอิส (Tortor suis) ติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัส หรือโดยทางอ้อม จากอาหาร น้ำ ที่มีเชื้อปะปน นก แมลง หนู และสุนัข รวมทั้งคน ซึ่งเป็นพาหะอย่างดี จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้โดยง่าย สาเหตุอีกประการ ที่ทำให้โรคนี้ระบาดได้เร็วคือ การเลี้ยงหมู ด้วยเศษอาหาร ที่เก็บรวบรวมจากที่ต่างๆ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนติดมา หากอาหารที่นำมาเลี้ยงนั้น ไม่ได้ต้มให้เชื้อตายเสียก่อนแล้ว หมูจะได้รับเชื้อทันที
อาการ
หมูที่ติดโรคนี้เริ่มแรกจะมีอาการหงอยซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง มีอาการสั่น หลังโก่ง หูและคอตก ขนลุก ไม่ค่อยลืมตา เยื่อตาอักเสบนัยน์ตาแดงจัด มักมีขี้ตาสีขาวสีเหลืองแถวบริเวณหัวตาก่อน แล้วแผ่ไปเต็มลูกนัยน์ตา อาจทำให้ตาปิดข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ ผิวหนังบริเวณเนื้ออ่อนๆ เช่น บริเวณท้อง โคนขา ใบหู มีลักษณะช้ำเป็นผื่นแดงปนม่วงเป็นเม็ดๆ เนื่องจากเลือดออกเป็นจุดๆ ใต้ผิวหนัง เห็นได้ชัดกับหมูที่มีผิวหนังขาว หมูจะอ่อนเพลีย ชอบนอนซุกตามมุมคอก
หมูที่เป็นโรคนี้จะมีอาการท้องผูกในตอนแรก ต่อมาจึงมีอาการอาเจียนเป็นน้ำสีเหลืองๆ เวลาเดินตัวสั่น เพราะไม่มีแรงทรงตัว มีอุจจาระร่วง และไข้ลดลง แต่มีอาการหอบเข้าแทรก จนกระทั่งตาย หมูที่เป็นโรคนี้ ประมาณร้อยละ ๙๐ มักตาย โรคอหิวาต์หมูเป็นได้กับหมูทุกระยะการเจริญเติบโต
การป้องกันและรักษา
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้กับหมูทุกๆ ตัว ปีละครั้ง สำหรับหมูที่เพิ่งแสดงอาการเป็นโรคนี้ อาจฉีดเซรุ่มรักษาให้หายได้
โรคปากและเท้าเปื่อย
โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วของสัตว์ที่มี กีบคู่ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และหมู โรคนี้ไม่ทำให้สัตว์ถึงตายได้ แต่จะซูบผอมลง เพราะกินอาหารไม่ได้ สัตว์ที่กำลังให้นมจะหยุดให้นมชั่วระยะหนึ่ง และจำนวนน้ำนมจะลดลง
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีแบบต่างๆ กัน ในประเทศไทยเป็นแบบเอ โอ และเอเชีย๑ โรคนี้ติดต่อได้ง่ายทางอาหารและน้ำ ที่มีเชื้อโรคนี้ หรือติดต่อทางสัมผัส เมื่อหมูคลุกคลีกับสัตว์ที่เป็นโรค นอกจากนี้แมลงวันก็เป็นพาหะของโรคนี้ด้วย
อาการ
อาการหมูที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเริ่มเบื่ออาหาร มีไข้สูง จมูกแห้ง เซื่องซึม ภายในปากอักเสบแดง ต่อมามีเม็ดตุ่มแดงที่เยื่อภายในปาก บนลิ้น ริมฝีปาก เหงือก เพดาน ตามบริเวณซอกกีบ ตุ่มเหล่านี้จะเกิดพุพอง และกลัดหนอง แล้วแตกเฟะ ทำให้หมูกินอาหารและน้ำไม่สะดวก มีน้ำลายไหลอยู่เสมอ เท้าเจ็บ เดินกะเผลก บางตัวต้องเดินด้วยเข่า หรือเดินไม่ได้ บางตัวที่เป็นมากกีบจะเน่า และหลุดออก ทำให้หมูหมดกำลังและตายในที่สุด
การป้องกันและรักษา
ควรฉีดวัคซีนให้ ๖ เดือนต่อครั้ง และประการสำคัญ อย่าเลี้ยงสัตว์ประเภทกีบคู่ใกล้กัน เพราะสามารถติดต่อกันได้ และอย่าให้คนเลี้ยงหมูจากที่อื่น เดินมาในบริเวณเลี้ยงหมู โดยไม่ได้จุ่มเท้าในน้ำยาฆ่าเชื้อเสียก่อน