เล่มที่ 19
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แนวความ คิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวความคิดหลักในการดำเนินงาน ดังนี้คือ

            ๑. มุ่งหวังให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประกอบกันอยู่ในระบบ ธรรมชาติมีศักยภาพ ที่สามารถให้ผลิตผลได้อย่างยั่งยืน ถาวร และมั่นคง คือ มุ่งหวังให้เกิดความเพิ่มพูนภายในระบบ ที่จะนำมาใช้ได้โดยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นๆ

            ๒. ต้องมีการจัดองค์ประกอบภายในระบบธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศให้มี ชนิด ปริมาณและสัดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่ละชนิดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามธรรมชาติเพื่อให้อยู่ในภาวะสมดุลของ ธรรมชาติ

            ๓. ต้องยึดหลักการของอนุรักษ์วิทยาเป็นพื้นฐาน โดยจะต้องมีการรักษา สงวน ปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในทุกสภาพ ทั้งในสภาพที่ดีตามธรรมชาติ ในสภาพที่กำลังมีการใช้ และในสภาพที่ทรุดโทรมร่อยหรอ

            ๔. กำหนดแนวทางปฏิบัต ิที่ชัดเจนในการควบคุม และกำจัดของเสีย มิให้เกิดขึ้นภายในระบบธรรมชาติ รวมไปถึงการนำของเสียนั้นๆกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

            ๕. ต้องกำหนดแนวทางในการจัดการ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ในแต่ละสถานที่ และแต่ละสถานการณ์

            จากแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้น มีหลายชนิด และแต่ละชนิด ก็มีคุณสมบัติ และเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว ดังนั้น เพื่อให้การจัดการสามารถบรรลุเป้าหมายของแนวคิด จึงควรกำหนดหลักการจัดการ หรือแนวทางการจัดการให้สอดคล้องกับชนิด คุณสมบัติ และเอกลักษณ์เฉพาะอย่างของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ดังนี้
แสงแดด จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่หมดสิ้น เราสามารถใช้ประโยชน์ในการถนอมอาหาร ผลิตเกลือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นประโยชน์ในเชิงพลังงานอื่นๆ อีกมาก เพื่อทดแทนทรัพยากรบางชนิดเช่นป่าไม้
แสงแดด จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่หมดสิ้น เราสามารถใช้ประโยชน์ในการถนอมอาหารผลิตเกลือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นประโยชน์ในเชิงพลังงานอื่นๆ อีกมาก เพื่อทดแทนทรัพยากรบางชนิดเช่นป่าไม้
ทรัพยากร หมุน เวียน หรือทรัพยากร ที่ใช้ไม่หมดสิ้น

            เป็นทรัพยากรที่มีอยู่ใน ธรรมชาติอย่างมากมาย อาทิเช่น แสงอาทิตย์ อากาศ และน้ำในวัฏจักร ทรัพยากรประเภทนี้ มีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอย่างอื่น ถ้าขาดแคลน หรือมีสิ่งเจือปน ทั้งที่เป็นพิษ และไม่เป็นพิษ ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโต และศักยภาพในการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้น
ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมของสัตว์ป่า
ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย
อันเหมาะสมของสัตว์ป่า

ปัจจุบันมีการระเบิดและย่อยหินเพื่อนำหิน สินแร่ ไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา
ปัจจุบันมีการระเบิดและย่อยหินเพื่อนำหิน สินแร่ ไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา


การขุดเจาะน้ำมันในทะเล อาจจะก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เช่น ปะการัง และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ หากไม่มีการจัดการ ที่เหมาะสม
            การจัดการจะต้องควบคุมการกระทำที่จะมีผลเสีย หรือเกิดสิ่งเจือปนต่อทรัพยากรธรรมชาติ ต้องควบคุม และป้องกัน มิให้เกิดปัญหามลพิษจากขบวนการผลิต ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม ที่จะมีผลต่อทรัพยากรประเภทนี้ รวมทั้งการให้การศึกษาแก่ประชาชน ทั้งผลดี-ผลเสียของการปนเปื้อน วิธีการควบคุม และป้องกัน รวมทั้งต้องมีกฎหมายควบคุมการกระทำ ที่จะมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ด้วย

ทรัพยากรทดแทนได้

            เป็นทรัพยากร ธรรมชาติที่ใช้แล้ว สามารถฟื้นคืนสภาพได้ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งได้แก่ ป่าไม้ มนุษย์ สัตว์ป่า พืช ดิน และน้ำ ทรัพยากรประเภทนี้ มักจะมีมาก และจำเป็นอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มนุษย์ต้องการใช้ทรัพยากรนี้ตลอดเวลา เพื่อปัจจัยสี่ การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้ หรือการนำมาใช้ประโยชน์ ควรนำมาใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งแนวคิดนี้ถือว่า ฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เปรียบเสมือนต้นทุน ที่ ะได้รับผลกำไร หรือดอกเบี้ยรายปี โดยส่วนกำไร หรือดอกเบี้ยนี้ก็คือ ส่วนที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง

            การจัดการจะต้องจัดให้ระบบธรรมชาติ มีองค์ประกอบภายในที่มีชนิด และปริมาณที่ได้สัดส่วนกัน การใช้ต้องใช้เฉพาะส่วนที่เพิ่มพูน และต้องควบคุม และป้องกันให้สต๊อกหรือฐานของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ มีศักยภาพ หรือความสามารถในการให้ผลิตผล หรือส่วนเพิ่มพูนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในการใช้ หรือการผลิตของทรัพยากรธรรมชาตินั้น จะต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และยึดหลักทางการอนุรักษ์วิทยาด้วย

ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป

            เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้ว จะหมดไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาทดแทนได้ หรือถ้าจะเกิดขึ้นมาทดแทนได้ ก็ต้องใช้เวลานานมาก และมักเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่

            การจัดการทรัพยากรประเภทนี้ จะต้องเน้นการประหยัด และพยายามไม่ให้เกิดการสูญเสีย ต้องใช้ตามความจำเป็น หรือถ้าสามารถใช้วัสดุอื่นแทนได้ ก็ควรนำมาใช้แทน รวมทั้งต้องนำส่วนที่เสียแล้ว กลับมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าต่อไป