การจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ การวางแผนในลักษณะนี้ เป็นการวางแผนการจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อม ให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพในระยะยาว รวมทั้งเป็นการป้องกันภาวะมลพิษ จากการพัฒนาโดยคำนึงถึง ความสมดุลระหว่างผลดีและผลเสียของระบบ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการ ดำเนินงานในรูปของการวางแผนในแนวทางใหม่นี้เรียกว่า นิเวศพัฒนา และการพัฒนาที่ยั่งยืนนาน การวางแผนการจัดการในพื้นที่เฉพาะนี้ ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ในช่วงของแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ (๒๕๒๕-๒๕๒๙) โดยมี การดำเนินงานในลักษณะนี้ในหลายพื้นที่ อาทิเช่นบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่ชายฝั่งทะเล ตะวันออก และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน | |
การให้เยาวชนได้เข้าร่วมอบรมทางด้าน การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยให้ความรู้ในด้านการขยายพันธุ์พืช เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการสร้างพื้นที่สีเขียว | |
๑. การพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นการวางแผนในลักษณะผสมผสาน ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ให้เหมาะสม และสอดคล้องกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการกำหนดลำดับความสำคัญของโครงการพัฒนา ซึ่งเป็นการนำเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็น มิติหนึ่งในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่เฉพาะ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถใช้ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด และคงสภาพความสมดุลของระบบนิเวศในลุ่มน้ำ ด้วยการกำหนดเป็นแผนแม่บทเพื่อเป็นกรอบของ การพัฒนา ทั้งในด้านแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม โดยทั้ง ๓ แผนนี้ จะมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน | |
ทะเลสาบสงขลา บริเวณสะพานติณสูลานนท์ ต้นน้ำลำธาร เป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ กรมควบคุมมลพิษร่วมกับตำรวจจราจรในการตรวจวัดควันพิษจากรถยนต์เป็นประจำ | ๒. การจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นการวางแผนการจัดการด้าน สิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลตะวันออก ภายหลังจากที่ได้มีการกำหนดโครงการพัฒนาต่างๆ ลงในพื้นที่ และบางโครงการก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ซึ่งแตกต่างไปจากการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ดังนั้น แผนการจัดการสิ่งแวดล้อมนี้จึงเป็นแผนการ เสริม หรือรองรับการพัฒนาให้ดำเนินการต่อไป ได้โดยควบคุมให้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิด ขึ้นมีน้อยที่สุด โดยเน้นความสำคัญที่เกี่ยวกับ การจัดการด้านน้ำเสีย อากาศเสีย กากของเสีย ขยะและสิ่งปฏิกูล และการจัดการทรัพยากรชาย ฝั่งทะเล ๓. การวางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาภาคใต้ตอนบน เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดการประสานการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นระบบ และลดปัญหาความขัดแย้งใน การใช้ทรัพยากรชายฝั่ง รวมทั้งการควบคุมปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยการยึดถือหลักการวางแผน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนาน (Sustainable Development) ดังนั้นในการดำเนินงานจึงได้มีการศึกษารายละเอียด ทรัพยากรเฉพาะเรื่อง ทั้งในด้านสถานภาพที่แท้จริง การพัฒนาในแต่ละด้าน และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการ หรือความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่นั้น รวมทั้งได้มีการผสมผสานแผนงานเฉพาะเรื่องๆ ให้สอดคล้อง และประสานการใช้ประโยชน์ ซึ่งกันและกัน ให้ออกมาเป็นแผนงานของการจัดการ และการวางแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมใน พื้นที่ภาคใต้ตอนบน นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ยังได้มีการกำหนดให้มีการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ในระดับพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญ ที่จะต้องให้การคุ้มครองอนุรักษ์ หรือควบคุม โดยแบ่งเป็น ๒ พื้นที่ คือ ๑) เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือพื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติ ที่อาจถูกทำลาย หรือได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ พื้นที่ที่มีลักษณะมีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือศิลปกรรม ที่อ่อนไหวต่อกิจกรรมของมนุษย์ และเป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ ซึ่งยังมิได้ถูกประกาศตามกฎหมายอื่น การดำเนินการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่ ดังกล่าว จะมีการออกกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ โดยกำหนด มาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ดังนี้ (๑) กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ หรือมิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติ หรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม (๒) ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่นั้น จากลักษณะตามธรรมชาติ หรือผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม (๓) กำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจกรรมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่จะทำการก่อสร้าง หรือดำเนินการในพื้นที่นั้น ให้มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (๔) กำหนดวิธีการโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้น รวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการร่วมมือ และประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ หรือระบบนิเวศตามธรรมชาติ หรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่นั้น (๕) กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น ๒) เขตควบคุมมลพิษ ได้แก่ เขตท้องที่ที่มีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรง ถึงขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม การดำเนินงาน เพื่อการควบคุม และแก้ไขปัญหามลพิษในเขตดังกล่าว เมื่อได้มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว จะต้องมีการวางแผนปฏิบัติการ เพื่อการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษนั้น เพื่อรวมไว้ในแผนปฏิบัติการ เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด โดยในการดำเนินงานจัดทำแผนปฏิบัติการ ฯ ต้องดำเนินการดังนี้ คือ (๑) ทำการสำรวจ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่มีอยู่ในเขตควบคุมมลพิษนั้น (๒) จัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนประเภท และขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ได้ทำการสำรวจ และเก็บข้อมูลตาม (๑) (๓) ทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินสถานภาพมลพิษ รวมทั้งขอบเขตความรุนแรงของสภาพปัญหา และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม และจำเป็นสำหรับการลดและขจัดมลพิษ ในเขตควบคุมมลพิษนั้น |