ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่นั้น เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญ ทั้งจากสภาพที่ตั้ง และทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ นั่นคือ ที่ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรใหญ่ และเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมสำคัญของโลก ๒ อารยธรรม คือ อินเดียและจีน ส่วนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ดินแดนบางส่วนในภูมภาคนี้ ได้รับการขนานนามว่า "สุวรรณภูมิ" หรือดินแดนที่มีค่ามหาศาลเปรียบเหมือนทอง เป็นถิ่นกำเนิดของเครื่องเทศ และพริกไทย ซึ่งทำให้ชาติยุโรปพากันแสวงหาเส้นทางเดินเรือ มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อการค้าขยายตัว หลังการจากปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะเป็นตลาดการค้าที่สำคัญแล้ว ยังเป็นเส้นทางผ่านจากอินเดียไปยังจีน ความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยต่างๆ และในลักษณะต่างๆ ทำให้ภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมจากต่างแดนทั้งใกล้และไกล ได้เข้ามาผสมผสาน และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทย ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ในช่วงแรก วัฒนธรรมอินเดียและจีน จะมีความ สำคัญอย่างมาก และหลายประการ ยังคงมีความสำคัญ จนกระทั่งปัจจุบัน ต่อมาวัฒนธรรมจากยุโรป เข้ามามีอิทธิพล และล่าสุดวัฒนธรรมของโลกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกัน จะมีความสำคัญมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คนไทยมีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการปรับตัวสูง วัฒนธรรมต่างชาติ จึงไม่สามารถครอบงำ หรือมีอิทธิพลต่อไทย จนวัฒนธรรมไทยหมดความสำคัญ แต่หากมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดมา ในตอนแรกนี้ จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอินเดียและจีน ต่อจากนั้นจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก ส่วนความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ยุคอุตสาหกรรมใหม่ จะกล่าวถึงหลังสุด
ฃ
แผนที่ที่ชาวโปรตุเกสเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๙ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา