เล่มที่ 20
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศยุคอุตสาหกรรมใหม่

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ จวบจนปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เพิ่มขึ้น ในอัตราเร่งอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างที่แจ่มแจ้งที่สุด คือ การสร้างเครื่องบิน ซึ่งสามารถบินขึ้นครั้งแรกได้ในระยะทาง ๑๒๐ ฟุต โดยอยู่บน อากาศได้ไม่ถึงหนึ่งนาที ด้วยการทำงานร่วมกัน ของพี่น้องตระกูลไรท์ ชาวสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเพียง ๖๖ ปี มนุษย์ก็สามารถสร้างยานอวกาศ นำมนุษย์ขึ้นไปยังดวงจันทร์ ซึ่งไกลจาก โลกถึง ๓๕๔,๓๓๖ กิโลเมตรได้

การนำผลิตผลทางการเกษตรเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก

ความชำนาญเฉพาะด้านในทางอุตสาหกรรม คือการแบ่งหน้าที่ให้ทำงานเฉพาะอย่าง

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีที่สนธิสัญญาบาวริงสิ้นสุดลง จัดว่า เป็นอิสระทางด้านเศรษฐกิจ ในแง่ของกฎหมายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่จริงจังนัก เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจที่ เรียกว่า "เศรษฐกิจแบบจักรวรรดินิยม" คือ บรรดาประเทศใหญ่ๆ ยังคงได้เปรียบในเรื่องเงินทุน เทคโนโลยี และความรู้ ในการดำเนินการอยู่อย่างมาก ที่แน่นอนที่สุดคือ ประเทศไทยมุ่งหน้าเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม ตั้งแต่นั้นมา โดยในช่วงแรกเป็นการผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมาก็เป็นการผลิตเพื่อส่งออก มูลค่า ของการผลิตทางอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว จนมีมูลค่าสูงกว่าผลิตผลทางการเกษตร เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งจัดได้ว่า ประเทศไทยได้เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงหมายถึง วัฒนธรรม อันเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวิถีการดำเนินชีวิตของประเทศทางตะวันตก ส่วนใหญ่คือ ประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นแบบอันมีสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น ส่วนประเทศอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้มี อิทธิพลและความสัมพันธ์กับประเทศไทยน้อยมาก ซึ่งรูปแบบของวัฒนธรรมที่รับมาอย่างมากนั้น ก็คือ รูปแบบมาตรฐานของสังคมอุตสาหกรรมนั่นเอง หากพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้ว ก็จะเห็นว่า แต่ละแห่งมีลักษณะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
ในโครงการ "อีสเทิร์น ซีบอร์ด"

การตรงต่อเวลาในการทำงานเป็นตัวแปรสำคัญในโลกอุตสาหกรรม

สถาบันการเงิน

วัฒนธรรมของสังคมอุตสาหกรรมมีแกน หลักอยู่ ๖ ประการคือ

๑) การกำหนดมาตรฐาน
๒) ความชำนาญเฉพาะด้าน
๓) การสร้างความพร้อมเพรียงกัน
๔) การรวมหน่วย
๕) การสร้างคุณค่าสูงสุด
๖) การรวมเข้าศูนย์กลาง ซึ่งขยายความได้ดังนี้

๑. การกำหนดมาตรฐาน

วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๘๐ จนถึงปัจจุบัน เริ่มมีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอุตสาหกรรม ในประเทศเหล่านี้มาตรฐานที่แน่นอนเป็น สิ่งสำคัญมาก จนในที่สุดแม้แต่ข้าวเปลือกซึ่งเป็น ธัญพืชพื้นฐานที่สุดของประเทศ ซึ่งมีปลูกอยู่ แทบทุกหนทุกแห่ง ยังต้องกำหนดค่าความชื้นใน เมล็ดข้าว เพื่อให้ได้มาตรฐานเหมือนกันทั้งหมด ในลักษณะเดียวกัน เรื่องของการคัดขนาดไข่ไก่ และผักผลไม้อื่นๆ ถึงแม้ผลิตผลทางการเกษตร เหล่านี้จะมาจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นการยาก ที่จะควบคุมขนาด น้ำหนัก ปริมาณความชื้น หรือรสชาติได้ แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ก็ยังสามารถช่วยในการคัดแยกผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้ ให้เป็นหมวดหมู่ ทั้งขนาด น้ำหนัก หรือปริมาณความชื้น จนสามารถกำหนดมาตรฐาน ที่แน่นอน ให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรแทบทุกชนิดในปัจจุบัน ความสำคัญของมาตรฐานนั้น เกิดจากการเปลี่ยนมาตรฐานเดิมมาใช้มาตรฐานชั่งตวงวัด เหมือนกันทั่วโลก ทำให้มนุษย์สามารถมีเกณฑ์การวัดคุณภาพ ของสิ่งต่างๆ อย่างเป็นสากล สินค้าที่ได้รับการกำหนดมาตรฐาน จึงสะดวกในการกำหนดราคา และเป็นที่ยอมรับ

ในความเป็นจริงการกำหนดมาตรฐานมิได้จำกัดอยู่เพียง ขนาด น้ำหนัก ความหนาบาง ความเข้มข้น หรือความชื้นเท่านั้น หากยังขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงฤดูกาลอีกด้วย เช่น หากจะโทรศัพท์ทางไกลจากประเทศไทย ไปยังสหรัฐอเมริกา เราต้องทราบว่า ปลายทางที่เรา ต้องการติดต่อนั้นเป็นเวลาเท่าใด จะเป็นการ รบกวนผู้รับสายปลายทางหรือไม่ โดยการใช้เวลา มาตรฐานโลกในการคิดคำนวณ บางประเทศมี อาณาเขตกว้างขวาง เช่น แคนาดา หรือ สหรัฐอเมริกา แม้จะโทรศัพท์ติดต่อในประเทศ หากเป็นรัฐที่ห่างไกลกันมากๆ ก็ต้องคำนวณ เวลาด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้จะเป็นประเทศ เดียวกัน ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ก็ทำให้เวลาต่างกันด้วย

นอกจากนี้ หากกล่าวถึงเวลาให้แคบลงมา ก็ได้แก่ เรื่องของฤดูกาล อาหารชนิดใดเป็นที่ต้องการในฤดูกาลใด เสื้อผ้าแบบไหนได้รับการออกแบบมา เพื่อฤดูกาลไหน ก็ต้องผลิตออกมา ให้ทันเวลาของฤดูกาลนั้นๆ เสื้อผ้าสีสดใส เนื้อผ้าบางเบา จะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย หากการผลิต และขนส่งล่าช้า จนล่วงเข้าฤดูใบไม้ร่วง ที่อากาศเริ่มหนาวเย็นลงเรื่อยๆ ไม่ว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นจะสวยเก๋ และมีคุณภาพเพียงใดก็ตาม ในเมื่อไม่ตรงกับเวลาที่สมควรจะใช้เสียแล้ว ก็ไม่มีใครซื้อ และต้องขาดทุนในที่สุด

ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เวลาการเริ่มทำงาน และเลิกงาน ส่วนใหญ่ก็มีมาตรฐานอาจเป็น ๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. หรือ ๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. แล้วแต่หน่วยงานนั้นๆ จะกำหนด พนักงานทุกคนจะต้องตรงเวลา เข้าทำงานพร้อมกัน พัก เที่ยงเวลาเดียวกัน และเลิกงานเวลาเดียวกันตาม ที่กำหนด มีเครื่องจักรตรวจสอบเวลาเข้าทำงาน และเวลาเลิกงาน ซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อของ การสร้างความพร้อมเพรียงกัน

ท้ายที่สุดจะขอกล่าวถึงตัวแปรสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายใยแมงมุม หรือตาข่าย ชักพาโลกทั้งโลก ให้เข้ามาอยู่ภายใต้กรอบมาตรฐานเดียวกัน ใยแมงมุมนั้นก็คือ "สื่อสารมวลชน" นั่นเอง การสื่อสารมวลชนนี้ มีสาขาแยกย่อยออกไปอย่างกว้างขวาง ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารต่างๆ ทั้งจากในประเทศและนอก ประเทศ ประชาชนในภาคเหนือและภาคใต้หรือ ภาคตะวันตก อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน เห็นโฆษณาชิ้นเดียวกัน และอ่านนวนิยายเรื่อง เดียวกันจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ไม่ว่าเขาเหล่า นั้นจะเป็นชาวใต้พูดภาษาถิ่นใต้ เป็นชาวเหนือ พูดภาษาคำเมือง หรือชาวอีสานพูดภาษาอีสาน ก็ตาม แต่เมื่อมาอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ แล้ว เขาก็ต้องใช้ความรู้ภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งถือเป็นภาษามาตรฐานทางราชการ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ โทรทัศน์ และวิทยุ ทั้งโฆษณาหลากหลาย หรือรายการบันเทิงต่างๆ ล้วนใช้ภาษาเดียวกันเป็น มาตรฐาน ไม่มีการนำไปพากย์เสียงใหม่เป็น ภาษาถิ่นแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นผลให้ ภาษาถิ่นดั้งเดิมค่อยสูญหายไปบ้าง เนื่องจากมี ความสำคัญลดน้อยลงเรื่อยๆ เหลือใช้กันเพียงในวงแคบๆ ของผู้รู้จักคุ้นเคยเท่านั้น เมื่อออกไปจากบ้านแล้ว ก็ใช้แต่ภาษามาตรฐาน แม้ที่โรงเรียนก็ตาม

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า การกำหนดมาตรฐาน คือ การรวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่กรอบเดียวกัน นับตั้งแต่วิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และการประพฤติปฏิบัติตัว ทั้งการแต่งกาย การทำงาน และการพักผ่อน กิจกรรมนันทนาการต่างๆ ล้วนได้รับการกำหนดมาตรฐานมาแล้วทั้งสิ้น วัฒนธรรม หรือวิถีการดำเนินชีวิตนี้ เป็นผลโดยตรงจากความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับประเทศอุตสาหกรรมดังกล่าวนั่นเอง

๒. ความชำนาญเฉพาะด้าน

เมื่อสังคมได้กำหนดมาตรฐานทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสิ่งนั้นๆ ให้ได้มาตรฐาน ดังที่กำหนดไว้ในขั้นแรก การผลิตให้ได้มาตรฐานก็ต้องอาศัยแรงงาน ที่มีคุณภาพ และมีความชำนาญพอ ด้วยเหตุนี้เอง การผลิตแรงงานผู้ชำนาญเฉพาะด้านจึงเกิดขึ้น นอกจากนี้สังคมอุตสาหกรรมยังเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญ จึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อดัม สมิธ (Adam Smith) กล่าวว่า การแจกแจงงาน สามารถสร้างประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น ในงานอุตสาหกรรมรถยนต์ระยะแรกๆ ที่ยังใช้แรงงานคนกับระบบสายพานนั้น ขั้นตอนการทำงานระบบสายพานก็คือ ชิ้นส่วนของรถยนต์จะเลื่อนมาเรื่อยๆ ตามสายพาน ซึ่งมีคนงานยืนคอยอยู่ในตำแหน่งประจำของตน เมื่อชิ้นส่วนเลื่อนมาถึงตัว คนงานคนนั้นมีหน้าที่ ขันนอตที่ล้อทั้งสองข้าง เมื่อขันแล้วก็รอล้อรถ คันต่อไปที่จะเลื่อนเข้ามาถึงตัว คนงานคนนั้นขัน นอตที่ล้อรถทุกวันเป็นเดือนๆ ปีๆ จนชำนาญเข้ามากๆ ถึงแม้หลับตา ก็ยังขันได้ และยังขันนอตได้แน่นพอเหมาะพอดีอีกด้วย ถือว่า คนงานผู้นั้นเป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านทางการขันนอต ที่ล้อรถยนต์แล้ว จากตัวอย่างนี้เองจะสังเกตเห็นว่า คนงานผู้นี้ชำนาญเกี่ยวกับการขันนอตจริงๆ แต่ถ้าให้ไปทำงานอย่างอื่น แม้จะเกี่ยวกับการผลิต รถยนต์ เขาผู้นี้อาจทำได้ไม่ดีหรืออาจทำไม่ได้ เลย

ในปัจจุบันการฝึกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มิได้จำกัดอยู่เพียงในหมู่ผู้ใช้แรงงานในโรงงานเท่านั้น หากยังมุ่งฝึกผู้มีความชำนาญในทุกขั้นตอนการผลิต และรวมถึงผู้บริหารก็ยังได้รับการศึกษาอบรม เพื่อการบริหารโดยเฉพาะเช่นเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญซึ่งแยกแขนงวิชาของตนเองออกไปเป็นพิเศษ ได้รับความรู้ ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่จากสถาบันการศึกษาของตน เราอาจเรียกผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ว่า มืออาชีพ (Professional) อันได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพแพทย์ อาจารย์ หรือบรรณารักษ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่ประกอบอาชีพ ซึ่งมาจากสถาบันการศึกษาเฉพาะด้าน ดังที่ยกตัวอย่างแล้ว ยังสามารถแยกแขนงความชำนาญเฉพาะด้านของตน ย่อยออกไปได้อีก เช่น แพทย์ สามารถศึกษา เพื่อจะเป็นแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคภูมิแพ้ จักษุแพทย์ ทันตแพทย์ ศัลยแพทย์ วิสัญญี แพทย์ หรือจิตแพทย์ เช่นเดียวกับ บรรณารักษ์ เช่น บรรณารักษ์ผู้ชำนาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร บรรณารักษ์ผู้ชำนาญด้าน วรรณคดีตะวันตก หรือด้านการเมืองการปกครอง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น หากกล่าวถึงแรงงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม ก็อาจกล่าวได้ว่า เรามีแรงงานจำนวนมหาศาล เพื่อรองรับการขยายตัวทางอุตสาหกรรม จะเป็นแรงงาน ที่มีความชำนาญหรือไม่นั้น แล้วแต่ประสบการณ์ และระยะเวลาในการทำงานของคนงานแต่ละคน เช่น ในการก่อสร้างอาคารต่างๆ ต้องใช้ช่างปูนเป็นจำนวนมาก หากช่างปูนที่รับสมัครมานั้น เป็นแรงงานที่มีความชำนาญอยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร งานจะดำเนินไปได้โดยราบรื่นรวดเร็ว ไม่ติดขัด และอัตราค่าแรงก็เป็นไปตามปกติ สำหรับช่างปูนผู้ชำนาญเช่นกัน ตรงกันข้ามหากรับสมัครแรงงานที่ไม่มีความชำนาญเข้ามาบ้าง ก็จำต้องมีการฝึกฝนงานก่อน โดยอาจเป็นผู้ช่วยในขั้นแรก จนมีความสามารถพอ ที่จะปฏิบัติงานช่างปูน และรับค่าแรงเท่าช่างปูนผู้ชำนาญในที่สุด การเร่งฝึกแรงงานให้มีความชำนาญนั้น จึงมีความสำคัญเป็นอันมาก ต่อการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมของไทย กล่าวคือ ขณะนี้จากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชายฝั่ง ทะเลตะวันออกเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ของประเทศ หรือโครงการ "อีสเทิร์น ซีบอร์ด" (Eastern Seaboard) อันได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จังหวัดระยอง และท่าเรือน้ำลึก แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ ใช้ทุนมหาศาล ต้องการแรงงานในการก่อสร้าง มากมาย ถือว่าเป็นการระดมกำลังผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งทีเดียว ทั้งแรงงาน ในการวางแผนควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด อัน ได้แก่ คณะสถาปนิก วิศวกร และผู้เกี่ยวข้อง และแรงงานผู้ปฏิบัติการก่อสร้างจริง หากทุกฝ่าย เป็นแรงงานที่มีความชำนาญและมีคุณภาพแล้ว การดำเนินงานก็สามารถก้าวหน้าไปได้อย่าง รวดเร็วทันการณ์ อุปสรรคในการทำงานที่เนื่อง มาจากการขาดแคลนแรงงานที่ชำนาญ ก็จะไม่ เป็นปัญหาอีกต่อไป

แต่ในปัจจุบันความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรม และการจัดการ มีขึ้นอย่างมากมาย จนไม่สามารถผลิตบุคลากรออกมารองรับการขยายตัวของแรงงาน ในภาคดังกล่าวได้ทัน เนื่องจากความสัมพันธ์ของไทยกับนานาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมได้มีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นมาก จนเกิดการ ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดังกล่าว นี่ก็ เป็นแง่หนึ่งของผลของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ของไทยกับต่างประเทศนั่นเอง

๓. การสร้างความพร้อมเพรียงกัน

ความพร้อมเพรียงกันของสังคมอุตสาหกรรม หมายถึง การประสานจังหวะ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียว และประสิทธิภาพสูงสุด "เวลา" เป็นตัวแปรสำคัญของการประสานจังหวะ ดังนั้น การตรงต่อเวลา จึงมีความสำคัญมากในโลก อุตสาหกรรม  

ในอดีต ประเทศไทยมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม เวลา เคลื่อนไปพร้อมกับธรรมชาติ งานทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ฤดูกาลเพาะปลูกเริ่มขึ้น เมื่อฝนตกลงมา ทำความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และเมื่อการเพาะปลูกเสร็จสิ้นลง สิ่ง เดียวที่ทำได้ก็คือ เฝ้าดูแลบำรุงพืชต้นอ่อนเหล่านั้น และรอคอยเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวผลิตผล แน่นอนที่สุดมนุษย์ไม่สามารถกำหนดความเป็น ไปของธรรมชาติได้ หากโชคร้าย ฝนเกิดการทิ้ง ช่วง หรือเกิดอุทกภัยร้ายแรง ผลิตผลเสียหาย ก็ไม่สามารถแก้ไขสิ่งใดได้ ทำได้แต่เพียงพยายาม บรรเทาภาวะความไม่แน่นอนของธรรมชาติให้ ทุเลาลงไปบ้างเท่านั้น พยายามเลี่ยงไปปลูกพืช ชนิดอื่นที่ทนต่อความแห้งแล้ง หรือพืชที่ สามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลาพอสมควรในภาวะ น้ำท่วมขัง หรือการยกคันดินให้สูงขึ้นในการเพาะ ปลูกครั้งต่อไปเพื่อการระบายน้ำที่ดีขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อลัทธิอุตสาหกรรมตะวันตกเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา วิถีชีวิตของคนไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลง สังคมเกษตรกรรมลดลง สังคมเริ่ม มีลักษณะเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ธรรมชาติมิได้กำหนดครอบงำการผลิตทุกอย่าง เสมอไป หากแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น การปรับ ตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมใหม่ ที่ไม่คุ้นเคยนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับคนไทยอย่างยิ่ง จากที่เคยอยู่กินตามสบาย รอคอยปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่จะเวียนมาตามฤดูกาลอย่างไม่เร่งร้อน ก็เปลี่ยน ไปเป็นการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่มี เวลาในการทำงานและเลิกงานที่แน่นอน และงาน นั้นก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างมีระบบระเบียบ ตามที่ถูกกำหนดไว้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ลักษณะดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ในโรงงาน อุตสาหกรรมเท่านั้น หากรวมไปถึงบุคคลในสาขาอาชีพหลากหลายในสังคม ทั้งที่เป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้านต่างๆ และกลุ่มบุคคลประเภทมืออาชีพ ซึ่งใช้ความรู้ ประสบการณ์ และความคิดในการประกอบอาชีพ มากกว่าแรง งานทางกายอีกด้วย แต่บุคคลทั้งสองประเภทนี้ ต่างก็มีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับเวลาด้วยกันทั้งนั้น วิถีชีวิตหากดูจากการใช้เวลาอย่างคร่าวๆ แล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่า คล้ายคลึงกันมากทีเดียว กล่าวคือ ตื่นนอนตอนเช้าในเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อจะประกอบกิจส่วนตัวต่างๆ ให้เสร็จสิ้นทันเวลา การทำงาน ซึ่งเริ่มราว ๘.๐๐-๙.๐๐ น. พัก เที่ยงพร้อมๆ กันราวเวลา ๑๒.๐๐-๑๒.๓๐ น. และเลิกงานเวลา ๑๖.๓๐-๑๗.๐๐ น. ในที่สุด การใช้เวลาของมนุษย์ไม่ว่าจะมุมไหนของโลก หากที่นั่นเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้วก็คล้ายกัน ทั้งสิ้น

การใช้เวลาในการกำหนดความเป็นไปทุกอย่างนี้ แม้จะมีผลดีในด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมากมายก็ตาม แต่ผลในด้านลบก็มีอยู่ กล่าวคือ การที่คนจำนวนมากมายมหาศาล ปฏิบัติกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งในเวลาเดียวกัน ทั้งหมด หากไม่มีปัจจัยอันเป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติกิจกรรมนั้นอย่างเพียงพอ ที่จะรองรับปริมาณคนจำนวนมหาศาล ก็ย่อมจะเกิดปัญหาการขาดแคลน และมีผู้ทุกข์ยากจำนวนหนึ่งมาก บ้างน้อยบ้างตามแต่สถานการณ์ เป็นต้นว่า การ เกิดเหตุการณ์จราจรติดขัดอย่างรุนแรงในตอนเช้า ก่อนเวลาเข้าทำงาน และในตอนเย็นหลังเลิกงาน แล้ว หรือการที่ร้านอาหารทุกร้านแน่นขนัดจน ต้องรอต่อแถวคอยกันนานๆ ในช่วงพักรับ ประทานอาหารเที่ยง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ปัญหาที่ดูจะรุนแรงที่สุด เนื่องจากการใช้หลักความพร้อมเพรียงกันก็คือ ปัญหาการจราจร ซึ่งยังคงแก้ไม่ตกอยู่จนปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณของผู้ใช้ถนนหนทาง และรถยนต์นั้น ไม่สมดุลกับปริมาณถนนที่มีอยู่ นับวันแรงงานจากภาคเกษตร ก็ยิ่งหลั่งไหลเข้ามาสู่ความแน่นอนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ไม่กี่แห่งมากขึ้นๆ ทุกที จนยากที่จะแก้ไขได้ วิธีหนึ่ง ที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะพยายามแก้ไขปัญหาก็ได้แก่ นโยบายการ กระจายอุตสาหกรรมสู่ชนบท อันจะช่วยยับยั้ง การหลั่งไหลเข้ามาสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมของ ประเทศ อันได้แก่ กรุงเทพมหานครและ ปริมณฑลได้บ้าง การระบายถ่ายเทแรงงานอีก ส่วนหนึ่งออกสู่แหล่งอุตสาหกรรมอื่นๆ เหล่านั้น หากโครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้แล้วจะทำให้ปัญหา ต่างๆ ทุเลาเบาบางลงบ้าง ปัญหาเหล่านี้ก็มา จากการรับวัฒนธรรมของการทำงานจากประเทศ อุตสาหกรรมทั้งหลายนั่นเอง

๔. การรวมหน่วย

สังคมอุตสาหกรรมดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างโดยอาศัยการรวมหน่วย กล่าวคือ การรวมพลังงานย่อยๆ เข้าด้วยกันเป็นหน่วยใหญ่ เพื่อเกิดพลังงานมหาศาล ลักษณะการรวมหน่วยปรากฏอย่างมากในด้านประชากร และกระแสเงินทุน

ในแง่ของประชากรนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน จากการรวมเอาผู้ใช้แรงงานจำนวนมากๆ มาอยู่รวมกันในโรงงานแห่งเดียว เพื่อทำงานในหน้าที่ต่างกัน ตามจังหวะความพร้อมเพรียงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลิตผล ที่สูงสุด ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ตามมาตรฐานที่วางไว้

นอกจากผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว การรวมหน่วยยังหมายถึง การนำผู้ชำนาญ เฉพาะด้านต่างๆ มารวมกัน ช่วยระดมกำลังความคิด และประสบการณ์ เพื่อการผลิตผลงานคุณภาพก็ได้ อาจเป็นไปในรูปแบบของบริษัท หรือสำนักงาน ตามที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มสถาปนิกรวมตัวกัน จัดตั้งบริษัทรับออกแบบ และตกแต่งบ้าน หรือกลุ่มแพทย์รวมตัวกัน ตั้งโรงพยาบาลขึ้น เพื่อเป็นการรวมผู้ป่วยจำนวนมากๆ มาอยู่รวมกันในโรงพยาบาลนั้นอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น

ลักษณะเช่นนี้ปรากฏในประเทศไทยมานานแล้ว ในรูปของการมีระบบไพร่ คือ การเกณฑ์ไพร่ (ชายที่มีอายุตั้งแต่ ๒๐-๖๐ ปี) มาทำงานรับใช้ทางราชการ เช่น การสร้างถนน ขุดคลอง หรือก่อสร้างอาคารต่างๆ รวมทั้งเป็นทหารด้วย โดยมีการเข้าผลัดเวรปีละ ๖ เดือน โดยสลับ เข้าเวร ๑ เดือน ออกเวรไปอยู่บ้านประกอบอาชีพของตน ๑ เดือน ในเวลาต่อมาได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเข้าเวร ๑ เดือน ออก ๓ เดือน ในปัจจุบันแม้จะยกเลิกระบบ ไพร่ไปแล้ว การรวมหน่วยเพื่อประกอบอาชีพก็มี เรื่อยมาตั้งแต่สังคมอุตสาหกรรมเผยแพร่เข้ามาสู่ ประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้สังคมเกษตร- กรรมแบบยังชีพ ไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงงาน มากมายเท่าในโรงงานอุตสาหกรรม ทำกันเฉพาะ ในครอบครัวให้พอกินพออยู่เท่านั้น ของเหลือใช้ จึงจะนำไปขาย มิได้มุ่งการเพาะปลูกเพื่อการค้า หรือป้อนโรงงานอุตสาหกรรมดังปัจจุบัน

กลับมากล่าวเรื่องการรวมหน่วยอีกแง่หนึ่ง คือ ในแง่กระแสเงินทุน การประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น จำเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนอย่างมากมายมหาศาล มีผู้ลงทุนน้อยราย ที่สามารถจัดตั้งโรงงาน หรือบริษัทได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยการระดมทุนจากหุ้นส่วน จากเหตุผลนี้ การรวมหน่วยในแง่ของการลงทุนจึงเกิดขึ้น นอกจากการรวมหน่วยเช่นนี้แล้ว ยังมี สถาบันทางการเงินเพื่อระดมทุนโดยเฉพาะ โดย มีจุดประสงค์ทั้งเพื่อการกู้ยืมไปลงทุนและการนำ ไปลงทุนโดยตรง สถาบันทางการเงินเหล่านี้ ได้แก่ ธนาคาร และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ นั่นเอง

สำหรับประเทศไทย การรวมหน่วยในแง่กระแสเงินทุน ก็ยังคงเป็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยับขยายศักยภาพทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน และสถาบันการเงินที่เกิดขึ้น ก็มีทั้งที่เป็นของคนไทย และต่างประเทศ ซึ่งผู้ลงทุน ก็นิยมใช้บริการอย่างแพร่หลาย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และจำเป็นในสังคมอุตสาหกรรม

ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก่อตั้งตลาดหุ้นขึ้น เพื่อการรวมหน่วยของเงินทุน เพื่อการลงทุนต่างๆ ซึ่งนับว่า เป็นการรับวัฒนธรรมเรื่องนี้จากต่างประเทศช้ามากทีเดียว เพราะประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย ได้มีตลาดหุ้นมาหลายร้อยปีแล้ว โดยเฉพาะอังกฤษที่ใช้เงินของ ตลาดหุ้นในการส่งผู้คนไปตั้งถิ่นในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย หมายความว่าอังกฤษมีตลาดหุ้น ก่อนที่จะสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกา และ ประเทศออสเตรเลียเสียอีก

๕. การสร้างคุณค่าสูงสุด

ดูจะเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ในสังคมอุตสาหกรรมเสียแล้ว ที่หลงใหลได้ปลื้มกับความเป็นที่สุดในด้านต่างๆ (เฉพาะในด้านที่ดีเท่านั้น) ตึกที่สูงที่สุด สนามกีฬาที่จุคนได้มากที่สุด หรือสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้น ความเป็นที่สุดมิได้หยุดอยู่เพียงสิ่ง ก่อสร้างหรือทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากแต่ รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจอีกด้วย เช่น ปริมาณการจ้างพนักงาน ขอบข่ายสาขา เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้สร้างความภาคภูมิใจแก่เจ้าของสถิตินั้นเป็นอย่างยิ่ง ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวิธีวัดความเป็นที่สุดทางเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้น ซึ่งอาศัยข้อมูลมาทำเป็นสถิติโดยคิดจาก "ผลิตผล รวบยอดของประชาชาติ" หรือ Gross National Product (GNP) โดยพิจารณาค่าของสินค้า และบริการที่ถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมด แต่เป็นวิธีที่มีข้อผิดพลาดอยู่มากทีเดียว เนื่องจากมองข้ามการ ผลิตนอกกลไกอุตสาหกรรม เช่น งานบ้าน หรืองานเลี้ยงเด็ก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยซึ่งได้หันมาพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา ก็ได้รับวัฒนธรรมนิยมความเป็นที่สุด มาจากประเทศอุตสาหกรรมต้นแบบอย่างเต็มที่ และวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่าย ทั้งจากคณะผู้บริหาร ประเทศ และจากภาคธุรกิจต่างๆ

ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่โครงสร้างสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก หรือสวนอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะได้รับความสนใจ และสนับสนุน จากทุกฝ่ายด้วยดี

นอกจากโครงการที่เป็นวัตถุรูปธรรมแล้ว สถิติผลิตผลรวบยอดของประชาชาติ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือวัดสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศว่า มีความเจริญเติบโตในระดับที่น่าพอใจหรือไม่ รัฐบาลพยาบาลทุกวิถีทาง ที่จะผลักดันให้ค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากประสบผลสำเร็จ ก็ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล ที่ จะได้รับคำยกย่องชมเชย และมีคะแนนนิยม สม่ำเสมอ

ลักษณะเช่นนี้แพร่ไปทั่วทุกมุมโลก ทั้งในประเทศอุตสาหกรรม และประเทศที่กำลังมุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยที่มนุษย์ผู้สร้างวัฒนธรรม มิได้คำนึงถึงผลเสียที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และร้ายแรงมากขึ้นทุกทีๆ ซึ่งก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยา และความเสื่อมโทรม ของสภาพจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ทรัพยากรหลักของโลกทั้งสามอย่าง อันได้แก่ ป่าไม้ น้ำ และอากาศ ต่างก็ถูกคุกคามทำลาย จนมีสภาพเลวร้ายลงเรื่อยๆ ยากที่จะกอบกู้ให้กลับมามีสภาพดีดังเดิม ตราบใดที่วัฒนธรรมนิยมความเป็นที่สุด ยังฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของมนุษย์ยุคอุตสาหกรรม ตราบนั้นความต้องการไม่สิ้นสุด ก็ยังคงดำเนินต่อไป และปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่มีทางจะหมดสิ้นไปได้เช่นเดียวกัน

เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมนี้มา เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วโลก ที่ประสบปัญหาทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์

ระบบนิเวศวิทยาถูกทำลายเสียหายมากมาย ทั้งโดยอุตสาหกรรมโรงงาน และอุตสาหกรรมบริการต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักมาสู่ประเทศไทย คุณภาพชีวิตของคนดูจะลดลงมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองอุตสาหกรรมรอบนอก มลพิษโดย เฉพาะทางอากาศและทางเสียงเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งแก้ไขยากขึ้นทุกวันๆ ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลก ก็เริ่มได้รับความสนใจบ้างแล้ว โดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตก ซึ่งพยายามหันมาแก้ไข และป้องกันอย่างจริงจัง ทั้งโดยวิธีรณรงค์ สร้างสำนึกรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เป็นต้น มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นและมี ความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ช่วยให้สมดุลของระบบ นิเวศวิทยาคงอยู่ต่อไป

ประเทศไทยซึ่งรับเอาวัฒนธรรมทางอุตสาหกรรมเข้ามานั้น ได้รับทั้งประโยชน์และโทษจากวัฒนธรรมเหล่านี้ ในส่วนของผลประโยชน์ที่เป็นการดี คือ ยกระดับความก้าวหน้า ในการดำรงชีวิตอีกขั้นหนึ่ง แต่ในส่วนของโทษ หากไม่ป้องกันและแก้ไขก็สามารถนำความ หายนะอันใหญ่หลวงมาได้ เปรียบดังดาบสองคม นั่นเอง  

ปัจจุบัน โทษของอุสาหกรรม ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ก็หนักและเฉียบพลันมากขึ้นทุกที หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการทางกฎหมาย อย่างเข้มงวดกวดขัน เอาจริงเอาจังต่อการรักษาระบบนิเวศแล้ว วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะขยายตัว และทำร้ายคนไทยทั้งชาติอย่างแน่แท้

๖. การรวมเข้าที่ศูนย์กลาง

คือ ลักษณะของการรวบอำนาจทั้งหลาย เข้าศูนย์กลางแห่งเดียว เพื่อควบคุมความเป็นไปทั้งปวงอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

การรวมเข้าที่ศูนย์กลาง อันเป็นวัฒนธรรม จากประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับมาเช่นกันมีลักษณะ ๒ ประการคือ

๑) การรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากนับวันการลงทุนทางอุตสาหกรรม ยิ่งมีมากขึ้น การขยายเครือข่ายสาขาของหน่วยงาน ต่างๆ ก็กว้างขวางขึ้นทุกที ลักษณะการรวม อำนาจเข้าที่ศูนย์กลางจึงมีความจำเป็น เช่น ธนาคารขนาดใหญ่ มีเครือข่ายสาขาอยู่ทั่วโลก ทั้งยังมีบริษัทย่อยอื่นๆ ที่เกิดจากการลงทุนของ ธนาคารอีกด้วย พนักงานของธนาคารแห่งนี้จึงมี จำนวนมากมาย และยังแบ่งเป็นหลายเชื้อชาติ ระดับการศึกษา และระดับอาวุโส ดังนั้น วิธี การบริหารธนาคารแห่งนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สุดก็คือ การรวมสารสนเทศและคำสั่งเอาไว้ที่ จุดศูนย์กลาง ซึ่งหมายถึงสำนักงานใหญ่ของ ธนาคารแห่งนั้นนั่นเอง  

พนักงานถูกจัดแบ่งออกเป็นระดับ ตั้งแต่ ประธานกรรมการของธนาคาร คณะกรรมการ หัวหน้าฝ่ายต่างๆ ผู้จัดการสาขาย่อย ลงไป เรื่อยๆ จนถึงพนักงานรับฝากเงิน - ถอนเงินที่ เป็นผู้บริการลูกค้าโดยตรงเลยทีเดียว พนักงาน เหล่านี้ทั้งรับคำสั่ง รายงานผลการทำงานและ ความเป็นไปต่างๆ จากกันเป็นทอดๆ เป็นผล ให้ผู้บริหารสามารถทราบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้ในรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ อันเป็นข้อมูล ในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและวิธีการแก้ไข ปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งคำสั่งกลับลงมาตาม ลำดับชั้นในสายเดิม

ลัทธิอุตสาหกรรมถือว่าการบริหารงานทาง เศรษฐกิจด้วยวิธีรวมอำนาจนี้ มีประสิทธิภาพสูง สุด สามารถดำเนินการต่างๆ โดยรวดเร็วและ ผิดพลาดน้อย

สำหรับประเทศไทยนั้นระบบบริหารงาน ประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเช่น เดียวกัน และใช้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเติบ โตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ บริษัท และหน่วยงานของภาคเศรษฐกิจได้ขยายตัวไป อย่างกว้างขวาง มีเงินทุนหมุนเวียนและปริมาณ การจ้างงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ การบริหารงาน แบบรวมเข้าที่ศูนย์กลางจึงมีความสำคัญต่อระบบ เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง

๒) การรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางทางการเมือง

มีความคล้ายคลึงกับระบบการรวมอำนาจ เข้าที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ แต่ต่างกันในแง่ที่ เป็นการรวมสารนิเทศและคำสั่งเอาไว้ที่จุดศูนย์ กลางการปกครองแทน การปกครองวิธีนี้เป็นวิธี ที่ไทยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการดึงอำนาจจากเจ้า เมืองของหัวเมืองประเทศราช ซึ่งมีอำนาจการ ปกครองดูแลเมืองของตนอย่างเป็นอิสระ ไม่ต้อง รอรับฟังคำสั่งจากทางเมืองหลวง และอาจเกิด การตัดสินใจผิดพลาดใหญ่หลวงเกี่ยวกับนโยบาย สำคัญบางประการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ พระองค์จะต้องทรงดึงอำนาจกลับมาไว้ที่ศูนย์ กลางคือ กรุงเทพมหานคร เพื่อข้อมูล ข่าวสาร และปัญหาทั้งปวงของประเทศจะได้นำมาร่วมกัน พิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ

ประเทศไทยก็ได้ใช้ระบบการปกครองเช่นนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าจะมีระบบเกี่ยวกับ การตัดสินใจที่ป้องกันความผิดพลาดต่างๆ แต่ ระบบการรวมอำนาจเข้าที่ศูนย์กลางนี้ก็ยังมีจุด บกพร่องเกี่ยวกับความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทัน ต่อเหตุการเสมอ เนื่องจากลำดับการรายงาน สถานการณ์ และลำดับการสั่งคำสั่งนั้นมีมาก การปฏิบัติการต่างๆ จึงเป็นไปอย่างล่าช้า และ บางครั้งช้าไป อาทิ เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ หรือ การขออนุมัติงบประมาณ ทำให้เกิดการเสียหาย แก่ประชาชน มากบ้างน้อยบ้าง ดังนั้น รัฐบาล ปัจจุบันจึงมีนโยบายที่จะพยายามกระจายอำนาจ บางส่วน ออกสู่หน่วยงานในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานลง เพื่อ ความรวบรัดทันเหตุการณ์และเร่งความเจริญของ ท้องถิ่นนั้นๆ ยิ่งขึ้น เพราะหน่วยงานในท้องถิ่น มีอำนาจที่จะตัดสินใจการกระทำต่างๆ เพิ่มขึ้น กว่าแต่ก่อน โดยไม่ต้องมีการขออนุญาตเสนอ เรื่องต่างๆ ผ่านลำดับยืดยาวสู่เมืองหลวงอย่าง เคย นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี เนื่องจากความ รวดเร็วทันเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ งานอย่างได้ผล

อย่างไรก็ตาม การดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์ กลางนั้น จะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพก็เพราะ เครื่องมือการติดต่อสื่อสารมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ทำ งานอยู่ในระบบนั้นตระหนักและเข้าใจในวัตถุ- ประสงค์หลักของหน่วยงาน องค์การที่ตนทำงาน อยู่ ในวัฒนธรรมของสังคมอุตสาหกรรม องค์ ประกอบทั้งสองประการนี้ ต้องมีอยู่อย่างสมบูรณ์ เพื่อความเจริญก้าวหน้าขององค์การหรือหน่วย งานนั้นๆ นั่นเอง

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของไทยกับ ต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นความ สัมพันธ์ทางเดียว คือไทยเรารับอิทธิพลแนว ความคิด วิถีการดำรงชีวิต จากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศอุตสาหกรรมทั้ง หลาย ซึ่งต่อไปประเทศไทยของเราคงมีส่วนที่จะ รังสรรค์วัฒนธรรมเป็นแบบอย่างต่อสังคมอื่นๆ บ้างในอนาคต