เล่มที่ 20
ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก

            ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรก ที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา วัฒนธรรมสำคัญที่พ่อค้าโปรตุเกสนำเข้ามาเผยแพร่คือ คริสต์ศาสนา รัฐบาลไทยได้เปิดรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตก และให้เสรีภาพในการนับถือ และเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวต่างประเทศ อนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์ และมีบาทหลวงคาทอลิกคณะต่างๆ เช่น โดมินิกัน และฟรานซิสกัน เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวพื้นเมือง เช่น ไทย ลาว มอญ ญวน จีน ฯลฯ แต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และไม่สนใจเรื่องศาสนาอื่น ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกได้เจริญสูงสุด คณะบาทหลวงฝรั่งเศสนิกายเจซูอิต เข้ามามีบทบาทด้านการเผยแผ่ศาสนา และชักชวนให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส เปิดสัมพันธไมตรีกับไทย คณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้นำศิลปวิทยาการต่างๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญๆ ของตะวันตกมาสู่สังคมไทย เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียน การแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิชาการในแขนงต่างๆ เป็นต้นว่า ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) เป็นต้นมา สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับชาติตะวันตกได้เสื่อมลง คณะบาทหลวงส่วนใหญ่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ศิลปวิทยาการตะวันตกต่างๆ จึงมิได้สืบทอด และแพร่หลายในหมู่ราษฎร ยกเว้นศาสนาคริสต์ ซึ่งยังคงเผยแผ่อยู่ในหมู่ชาวต่างชาติ และชาวไทยบางส่วน ที่เลื่อมใส มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างของวัฒนธรรมตะวันตก ที่ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เช่น การต่อเรือ การสร้างป้อมปราการ และเคหสถาน โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การหล่อปืนใหญ่ และการสร้างหอดูดาว

อู่ต่อเรือในสมัยรัชกาลที่ ๕

หญิงชาวต่างชาติเข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทย

            วัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่หลายมากขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีชาวยุโรป คือ คาร์ลกุสลาฟ (Karl Gutzlaff) และ เจคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นต้นมา มิชชันนารีอเมริกัน เช่น หมอบรัดเลย์ หมอสมิธ ฯลฯ ได้เข้ามารับผิดชอบการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ต่อจากมิชชันนารีชาวยุโรป และมีบทบาทสำคัญ ในการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสังคมไทยด้วย เนื่องจากมีโอกาสใกล้ชิดกับราษฎร สวนพวกคาทอลิกซึ่งเข้ามาสอนศาสนาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีก็ได้ มีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่สังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Pallegoix) เข้ามาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทย ได้มีสัมพันธไมตรีกับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น โดยได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ในสมัยที่เซอร์ จอห์น บาวริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตารีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ เรียกว่า สนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty) และสนธิสัญญาบาวริงในเวลาต่อมา สนธิสัญญาเหล่านั้น ได้อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับราษฎรโดยเสรี ชาวต่างประเทศ จึงเดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จำนวนมิชชันนารีอเมริกัน และคาทอลิก ก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย และกระจายกันเผยแผ่ศาสนาทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้าไปถึงชนบท ในรัชกาลนี้ได้เริ่มมีการเรียนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยจ้างผู้หญิงชาวอังกฤษมาสอนในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปประเทศ และสนับสนุนให้นำศิลปวิทยาการตะวันตกแขนงต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร เป็นต้น ยังทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา ในการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ รวมทั้งทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ และวิทยาการต่างๆ มาช่วยสร้างความเจริญให้บ้านเมืองอีกด้วย ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกจึงได้ผสมผสานอยู่ในสังคมไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานับตั้งแต่ไทยทำสนธิสัญญาบาวริง จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสนธิสัญญา ซึ่งไม่เป็นธรรมทั้งหมดได้สำเร็จนั้น วัฒนธรรมตะวันตกที่ผสมผสานอยู่ในสังคมไทย ยังคงมีสภาพเป็น "ของฝรั่ง" อยู่มาก และยังมิได้ผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทย แต่หลังจาก พ.ศ. ๒๔๘๐ แล้ว วัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น และได้ผสมผสานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน

            การเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนพ.ศ. ๒๔๘๐ ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นชอบ และการสนับสนุนของรัฐบาล เนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่า วัฒนธรรมเเหล่านั้น ล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ นอกจากนี้แล้ว เจ้านาย และขุนนาง ยังเป็นผู้นำในการรับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก (appearance) เป็นต้นว่า การแต่งกาย การกีฬา นันทนาการการรับวัฒนธรรมตะวันตกจึงกลายเป็น "พระราชนิยม" ที่ผู้คนในสังคมไทยถือเอาเป็นแบบอย่าง และถือเป็น "ความทันสมัย" ที่น่าภาคภูมิใจ จึงอาจกล่าวได้ว่า การรับวัฒนธรรมตะวันตกเกิดจากเหตุผล ๒ ประการ คือ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า และเพื่อพัฒนาให้ทันสมัย

วัฒนธรรมตะวันตกที่รับเข้ามาเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า

วัฒนธรรมตะวันตกที่รัฐบาลไทยเห็นชอบให้นำเข้ามาเผยแพร่ทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวิทยาการ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ดังนี้

มิชชันนารีได้นำความรู้ทางด้านการแพทย์เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

            มิชชันนารีได้นำความรู้ด้านการแพทย์ และการรักษาพยาบาลแบบตะวันตก เข้ามาเผยแพร่ควบคู่กับการเผยแผ่ศาสตา จนกระทั่งมิชชันนารีอเมริกันกลายเป็น "หมอสอนศาสนา" ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) และหมอเฮ้าส์ (Dr. House) ได้ทำการปลูกฝี ผ่าตัด ทำคลอด และให้คำแนะนำด้านสุขอนามัย เพื่อป้องกันโรคระบาดร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค วิทยาการแพทย์แบบตะวันตกนี้ ได้กลายเป็นรากฐานของการแพทย์ และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน เช่น การตั้งโรงพยาบาล

โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง
(โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน)

รถราง

ด้านการศึกษา

            มิชชันนารีอเมริกันได้นำการศึกษาในระบบโรงเรียนเข้ามาเผยแพร่ โดยได้เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ให้กับบุคคลทั่วไป คือ โรงเรียนมัธยมสำเหร่ (หรือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชายแห่งแรก และโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง สำหรับเด็กหญิง (หรือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ แม้ว่าจุดประสงค์สำคัญของมิชชันนารีจะต้องการสอนศาสนาควบคู่ไปกับการศึกษา แต่การตั้งโรงเรียนได้กลายเป็นแบบอย่างที่รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติ จึงมีการตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับบุตรหลานของเจ้านายและข้าราชบริพาร ตลอดจนโรงเรียนสำหรับเด็กไทยทั่วไป ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา (พ.ศ. ๒๕๖๔) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษา ดังเช่นประชากรของชาติอื่นๆ ทั้งในระดับประถมศึกษา และอุดมศึกษา

ประตูระบายน้ำที่สามเสนเพื่อจัดทำน้ำประปา

ด้านการพิมพ์

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อนุญาตให้มิชชันนารีนำแท่นพิมพ์มาใช้ในการพิมพ์ เพื่อเผยแผ่ศาสนา และตั้งโรงพิมพ์ การพิมพ์ได้มีบทบาทสำคัญในด้านการประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน และช่วยส่งเสริมการศึกษา ประชาชนมีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อรับทราบข่าวสาร วรรณกรรม วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ทำให้ได้รับความรู้สร้างสรรค์ขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมทั้งมีโอกาสแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ขณะนั้น เช่น บางกอกรีคอร์เดอร์ และบางกอกคาเลนดาร์ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ใช้การพิมพ์เป็นสื่อในการเผยแพร่ข่าวสารของบ้านเมือง ตลอดจนประกาศต่างๆ นับว่า การพิมพ์มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตของสังคมไทย ที่เคยเป็นสังคมปิด ไม่ค่อยมีโอกาสรับทราบข่าวสารต่างๆ มากนัก

การคมนาคมและการสื่อสาร

            ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา รัฐบาลได้พัฒนาระบบการคมนาคม และการสื่อสาร มีการสร้างทางรถไฟและถนน เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางบก นอกเหนือจากการสัญจรทางน้ำ ซึ่งเป็นทางคมนาคมสำคัญ ที่ใช้ตลอดมา ตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบสื่อสาร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่จากตะวันตกเข้ามา เช่น ระบบไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และยังได้นำรถยนต์ รถจักรยาน รถราง รถเมล์ เครื่องบิน มาใช้เป็นพาหนะในการคมนาคมอีกด้วย เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และคมนาคม เหล่านี้ ล้วนมีส่วนทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการขยายตัวของชุมชนในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ

ความเจริญและเทคโนโลยีอื่นๆ

สังคมไทยรับความเจริญต่างๆ และด้านเทคโนโลยีมาปฏิรูปประเทศหลายด้าน เช่น การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก ระบบกฎหมาย และการศาล และระบบการเงินการคลัง การชลประทาน และการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา

วัฒนธรรมที่รับมาเพื่อสร้างความทันสมัย

            ในการติดต่อกับชาวตะวันตกโดยทั่วไป เจ้านาย และขุนนาง ได้ปรับตัวให้ทันสมัย เพื่อมิให้เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของชาวตะวันตก มีการรับแบบแผนประเพณี และค่านิยมแบบตะวันตก มาปรับปรุงการดำเนินชีวิต และมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม ในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราษฎรทั่วไปได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง และหล่อหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ แนวความคิดแบบตะวันตก การแต่งกาย การตกแต่งบ้านเรือน เครื่องเรือน การรับประทานอาหาร การกีฬา และนันทนาการ

การเล่นกีฬาโครเกต์

แนวคิดแบบตะวันตก

            เมื่อมีการพัฒนาด้านการศึกษา และการพิมพ์ วรรณกรรมตะวันตก ทั้งที่เป็นแนววิชาการ และบันเทิง จึงได้แพร่หลายเข้ามาสู่สังคมไทย และมีอิทธิพลต่อการสร้างแนวคิด และสำนึกของไทย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าใจถึงคุณค่าของมนุษย์ และความทัดเทียมกัน แนวคิดต่างๆ เหล่านี้ ได้สะท้อนออกมาในรูปของวรรณกรรม ที่ตีพิมพ์ในภาษาไทย เช่น งานเขียนของเทียนวรรณ ดอกไม้สด ศรีบูรพา และมาลัย ชูพินิจ

การแต่งกาย

            ราชสำนักไทย และขุนนาง เป็นกลุ่มแรก ที่รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตก ทั้งของหญิงและชายมาประยุกต์ใช้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ถึง ๒ ครั้ง ก็ทรงฉลองพระองค์แบบตะวันตก ต่อมาการแต่งกายแบบตะวันตกของเจ้านาย ก็กลายเป็น "พระราชนิยม" ที่คนทั่วไปยึดเป็นแบบอย่าง

การตกแต่งบ้านเรือน

            นับตั้งแต่ชาวตะวันตกได้นำสถาปัตยกรรม การก่อสร้างอาคาร และการตกแต่งภายในแบบตะวันตก มาสู่สังคมไทย ราชสำนัก และชนชั้นสูง ก็เริ่มปรับวิถีชีวิตตามแบบวัฒนธรรมดังกล่าว จากเดิมที่เคยปลูกสร้างอาคารแบบเรือนไทย และค่อยๆ รับรูปแบบสถาปัตยกรรม และการตกแต่งแบบจีน ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นแบบตะวันตก มีการสร้างที่อยู่อาศัย และตกแต่งบ้านเรือนด้วยเครื่องเรือนแบบตะวันตก เช่น โต๊ะ ตู้ ภาพประดับ ของใช้ต่างๆ เช่น ช้อน ส้อม มีด ถ้วย ชาม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารด้วยมือ มาเป็นการใช้มีด ช้อน และส้อม แทน วัฒนธรรมเหล่านี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ในปัจจุบัน

การกีฬาและนันทนาการ

            การกีฬา และนันทนาการแบบตะวันตก เริ่มเข้ามาแพร่หลาย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อมีชาวตะวันตก เข้ามาติดต่อค้าขาย และพำนักอยู่ในเมืองไทย การกีฬาแบบตะวันตก ที่แพร่หลายในระยะแรกๆ คือ การขี่ม้า ยิงปืน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กีฬาที่แพร่หลาย ได้แก่ ฟุตบอล รักบี้ เทนนิส แบดมินตัน แข่งม้า จักรยาน กรีฑา ยิมนาสติก ฟันดาบ ในราชสำนัก มีการเล่นกีฬาโครเกต์ (Croquet)

            ต่อมาการกีฬาแบบตะวันตก ได้แพร่หลายอยู่ในหลักสูตรพลศึกษาในโรงเรียน มีการแข่งขันกีฬานักเรียนประเภทต่างๆ ที่แพร่หลายได้แก่ กรีฑา ฟุตบอล มวยสากล และยิมนาสติก นอกจากนี้แล้วยังทรงส่งเสริมให้ชาวไทย และชาวต่างประเทศ จัดตั้งสถาบัน ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนันทนาการ เช่น สโมสร บันเทิง สถานเมืองตรัง ราชกรีฑาสโมสร และสโมสร ราชเสวก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น สำหรับข้าราชบริพารในพระองค์

            จะเห็นได้ว่า การรับวัฒนธรรมตะวันตก ทั้งเพื่อพัฒนาบ้านเมือง และเพื่อความทันสมัย ล้วนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ มีทั้งผลด ีและผลเสียต่อสังคมไทย
การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีต่อสังคมไทย

ประการแรก

            การรับความเจริญทางด้านการศึกษา และเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ สังคมไทยมีประชากร ที่มีคุณภาพได้รับการศึกษา อ่านออก เขียนได้ รู้จักคิด และใช้เหตุผล ตลอดจนมีสุขภาพดี ก็จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียม อารยประเทศได้

ประการที่สอง

            ความรู้และเทคโนโลยีของชาติตะวันตก มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มผลิตผลทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มรายได้ และความอยู่ดีกินดี ให้กับพลเมือง นอกจากนี้แล้ว การคมนาคมยังช่วยส่งเสริมให้มีการขยายตัวของชุมชน ในส่วนภูมิภาคช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเติบโต มีการสื่อสารติดต่อกันได้สะดวก และรวดเร็ว

ประการที่สาม

            วัฒนธรรมตะวันตกมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการเมืองการปกครอง เช่น การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย การศาล การทหาร ฯลฯ ล้วนมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยยืนหยัด รักษาเอกราชมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้
การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลเสียต่อสังคมไทย

            การยึดถือเอาวัฒนธรรมตะวันตกไว้ในสังคมไทยโดยไม่กลั่นกรอง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านค่านิยม โดยเชื่อว่า วัฒนธรรมตะวันตกดีกว่ าวิเศษกว่า วัฒนธรรมไทยดั้งเดิม เห็นว่า วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งล้าหลัง และคร่ำครึ ค่านิยมเช่นนี้นับว่า เป็นผลเสียต่อบ้านเมือง เพราะก่อให้เกิดความหลงผิด และดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง นอกจากนี้แล้ว บางครั้งยังยึดค่านิยมที่ผิดๆ เช่น การยึดมั่นในวัตถุ จนละเลยทางด้านจิตใจ และคุณธรรม การหลงใหล และชื่นชมวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ มากเกินไป ก็ทำให้เกิดการครอบงำทางวัฒนธรรม จนกระทั่งขาดความภาคภูมิใจใน มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งนับว่าเป็นผล เสียต่อการพัฒนาสำนึกของความเป็นชาติในระยะ ยาว