๑. ศาสนา
ศาสนาจากอินเดียที่เข้ามาเผยแผ่ก่อนคือ ศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ พระอินทร์ เมื่อพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดีย โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๖๙-๓๑๑) พระองค์ได้ส่งสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาหลายแห่ง รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ผู้คนในอาณาจักรต่างๆ ยอมรับนับถือพุทธศาสนาแทนศาสนาพราหมณ์ อย่างไรก็ดี ศาสนาพราหมณ์ยังคงมีอิทธิพลในราชสำนักและในพระราชพิธีบางอย่าง พุทธศาสนาที่นับถือในสุโขทัยระระแรกเป็นนิกายมหายาน ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๔๒) ทรงนำพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ หรือนิกายหินยาน ซึ่งเคร่งครัดในพระธรรมวินัยกว่ามาเผยแผ่ ทรงนิมนต์พระสงฆ์จากตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก มาเทศน์สั่งสอนประชาชน ทำให้พุทธศาสนานิกายเภรวาทเป็นที่นับถือกันโดยทั่วไปจนปัจจุบัน
๒. ภาษาและวรรณคดี
การแพร่หลายของพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทยจนกลายมาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้คำในภาษาบาลี ซึ่งใช้ในพุทธศาสนานิกายหินยานมีหลายคำ ปรากฏในภาษา ซึ่งใช้กันโดยทั่วไปในหมู่คนไทย ส่วนภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาของนักปราชญ์ในอินเดีย ก็มีอิทธิพลอยู่มาก แต่น้อยกว่าภาษาบาลี
ในด้านวรรณคดี มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย ๒ เรื่อง คือ รามายณะ หรือรามเกียรติ์ และมหาภารตะ เป็นที่รู้จักกันดีของคนไทย เรื่องรามายณะมาเล่นโขน หนังใหญ่ และหนังตะลุง ยังมีวรรณคดีของอินเดียอีกหลายเรื่อง ที่คนไทยคุ้นเคย ที่รู้จักกันดีอีกเรื่องหนึ่งคือ นิทานชาดก ในพุทธศาสนา ซึ่งมีอิทธิพลต่อคนไทยในเรื่องการทำคุณงามความดี ละเว้นความชั่ว
๓. กฎหมายและระบอบการปกครอง
กฎหมายเดิมของไทยที่เรียกกัน โดยทั่วไปว่า กฎหมายตราสามดวง ได้รับอิทธิพลจากอินเดียเช่นกัน (โดยผ่านทางมอญ) คือ จากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ในการตรากฎหมาย หรือที่เรียกว่า พระไอยการลักษณะต่างๆ จะมีการอ้างอิงถึงคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ในเบื้องต้น ก่อนกล่าวถึงเนื้อหาสาระของกฎหมาย
นอกจากนี้คัมภีร์อรรถศาสตร์ ซึ่งเป็นตำราทางด้านการปกครองของอินเดีย ราชนีติ หรือ "ความประพฤติของพระราชา" และหลักทศพิธราชธรรม หรือ "ธรรม ๑๐ ประการ ของพระราชา" ล้วนแล้วแต่มีกำเนิดในอินเดีย และมีอิทธิพลต่อระบอบการปกครองของไทยในสมัยก่อน
๔. ศิลปกรรม
ศิลปกรรมของอินเดีย ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทางด้านปฏิมากรรม เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ ด้านสถาปัตยกรรม เช่น สถูป เจดีย์ ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพฝาผนัง มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อศิลปกรรมของไทย
อิทธิพลของเรื่องรามายณะ หรือรามเกียรติ์ ทำให้นาฏศิลป์ของอินเดีย มีอิทธิพลต่อนาฏศิลป์ไทยเช่นกัน ทั้งการแต่งตัว และท่าร่ายรำ
อิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียดังที่กล่าวมา ไทยไม่ได้รับโดยตรงจากอินเดีย หากแต่รับผ่านเพื่อนบ้านของไทย คือ ขอม (เขมร) มอญ ลังกา สำหรับขอมยังมีอิทธิพลทางด้านภาษาต่อไทยเราด้วย นั่นคือ คำในภาษาเขมรหลายคำ กลายเป็นภาษาที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือราชาศัพท์
ในด้านความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีน แม้ว่าประเทศไทยกับจีนจะตั้งอยู่ใกล้กันมากกว่าไทยกับอินเดีย คนจีน หรือลูกหลานจีน ที่อยู่ในไทย ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าลูกหลานอินเดีย แต่มีข้อที่น่าสังเกตว่า อิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรม ของจีนที่มีต่อไทยจะมีน้อยกว่าของอินเดีย ที่เป็น เช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า ลักษณะความสัมพันธ์กับอินเดีย เข้ามาในลักษณะเป็นที่ปรึกษา เช่น พราหมณ์ ปุโรหิต แต่จีนมักจะเข้ามาในสุวรรณภูมิ พร้อมกับอำนาจ เช่น การรุกราน การส่งข้าหลวงมาปกครอง (ในกรณีของเวียดนาม) การเรียกร้องบรรณาธิการ และรัฐในแถบนี้ถูกมอง ว่าเป็นรัฐบรรณาการ จึงทำให้อาณาจักรต่างๆ รวมทั้งไทยมีความระแวงจีนมาก อย่างไรก็ดี ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนในด้านการค้าขายมาก เพราะไทยต้องการสินค้าของจีน ทั้งที่นำมาใช้เอง และการขายต่อให้กับพ่อค้าต่างชาติ
จีนมีการติดต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลานาน เมื่อไทยสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย จีนอยู่ในราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) และกำลังถูกรุกรานจากพวงมองโกล ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พวกมองโกลก็สามารถโค่นราชวงศ์ซ่งลงได้ และยึดครองจีนได้ทั้งหมด ต่อจากนั้นได้ส่งทูตไปยัง อาณาจักรต่างๆ เรียกร้องให้ส่งคณะทูตนำ บรรณาการไปถวาย หลังจากติดตามดูเหตุการณ์ ระยะหนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงส่งทูตนำ บรรณาการไปถวาย แต่พระองค์ไม่ได้เสด็จไป ความสัมพันธ์ในลักษณะรัฐบรรณาการมีความ สำคัญเรื่อยมาตลอดสมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งต้นรัชกาลที่ ๔ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ จึงยุติลง ิ
นอกจากความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการ ที่ทำให้วัฒนธรรมจีนเผยแพร่เข้ามาในไทย ผู้ที่เผยแพร่วัฒนธรรมจีนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญคือ คนจีนที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเข้ามามีหลายกรณี คือ
(๑) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีน
เนื่องจากถูกต่างชาติเข้ามาปกครอง คือ ราชวงศ์หยวน (หงวน) ของพวกมองโกล และราชวงศ์ชิง (เช็ง) ของพวกแมนจู ทำให้คนจีนบางส่วนอพยพออกนอกประเทศ
(๒) การค้าขาย
โดยชาวจีนออกมาค้าขายกับไทย นอกเหนือจากการที่ไทยไปค้าขายกับจีน
(๓) การแสวงโชค
เนื่องจากปัญหาความอดอยากในประเทศ จึงทำให้ชาวจีนอพยพออกนอกประเทศ เพื่อหาเงินระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับประเทศ การแสวงโชคมีหลายลักษณะ เช่น รับจ้าง เดินเรือค้าขาย รับราชการ เป็นช่างฝีมือค้าขาย ทำไร่ เป็นเจ้าภาษี ฝากตัวกับเจ้านาย ฯลฯ
(๔) การแสดงแสนยานุภาพ
โดยใน ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จีนในสมัยต้นราชวงศ์หมิง (เหม็ง) ได้ส่งกองเรือขนาดใหญ่ ภายใต้การนำของขันที เจิ้งเหอ (เดิมชื่อ ซำเป่า ไทยรู้จักในชื่อ ซำปอกง) สำรวจทางทะเลถึง ๗ ครั้ง และกองเรือได้แวะมาที่อยุธยา ๒ ครั้ง ซึ่ง ทำให้คนไทยในช่วงเวลานั้น ได้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ และอำนาจของจีนดียิ่งขึ้น
ในระยะแรก คนจีนที่เข้ามาติดต่อกับไทยในลักษณะต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว โดยส่วนใหญ่จะมาชั่วคราว เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าตายในต่างแดน วิญญาณจะไม่มีความสุข เพราะกลับบ้านไม่ได้ สภาพเป็นเช่นนี้เรื่อยมา แม้ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงธนบุรี ที่มีคนจีนเข้ามาใน ไทยเป็นจำนวนที่มากขึ้นก็ตาม ในสมัยต้นกรุง รัตนโกสินทร์ คนจีนที่เข้ามาเมืองไทยยังมีจำนวน มากขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพราะปัญหาความอดอยากใน ประเทศจีน ในช่วงนั้นคนจีนบางส่วนเริ่มตั้ง รกรากในเมืองไทย และเข้ารับราชการกับทางการ ไทยมากขึ้น กอปรกับในระยะนั้นการค้ากับจีนก็ เพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงทำให้วัฒนธรรมจีนได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ในราชสำนัก ความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะต่างๆ ดังที่กล่าวมา ส่วนที่มีความสำคัญต่อไทยเรามากที่สุด คือ ผลประโยชน์ทางการค้า แต่ก็มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย เช่น ทางด้านศิลปะ เราจะเห็นภาพจิตรกรรม การสร้างสวนหิน การประดับลวดลายด้วยเครื่องกระเบื้องจีน ตุ๊กตาจีน เก๋งจีน ฯลฯ ทางด้านวรรณคดี มีการแปล พงศาวดารจีนสมัยต่างๆ เรื่องที่คนไทยรู้จักดี ที่สุดคือ สามก๊ก ข้อที่น่าสังเกตคือ แก่นวัฒนธรรมจีนบางอย่าง ไม่มีความสำคัญต่อไทยมากนัก เช่น ลัทธิขงจื๊อ การคัดเลือกคน โดยเน้นความสามารถทางวิชาการ ดังที่เราเรียกกัน โดยทั่วไปว่า การสอบจอหงวน
นอกจากจะมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับสองชาติดังที่กล่าวมาแล้ว ในระยะแรกนี้ ไทยยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับเปอร์เซีย หรืออิหร่าน ลังกา ขอม (เขมร) มอญ พม่า สำหรับขอม (เขมร) และพม่า แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการทำสงคราม แต่ก็มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมปนอยู่ เช่น ภาษา ศิลปะ สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ยังดำเนินต่อมาแม้ชาติตะวันตกเข้ามาเจริญ สัมพันธไมตรีและเริ่มมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทย ก็ตาม เพียงแต่ว่าวัฒนธรรมบางลักษณะจะลด ความสำคัญลงไปบ้าง อนึ่ง ก่อนหน้าการเข้ามา ของชาติตะวันตก ได้มีการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบ สมุทรมลายู จนถึงตอนใต้ของไทย จึงทำให้ บริเวณดังกล่าวกลายเป็นดินแดนของผู้นับถือ ศาสนาอิสลาม