เล่มที่ 22
เครื่องจักสาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


ภาชนะจักสานประเภทกระบุง

เครื่องจักสานภาคเหนือ

            ภาคเหนือ หรือล้านนาไทย เป็นดินแดนที่มีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น เป็นของตนเอง เป็นเหตุให้เครื่องจักสานในภาคเหนือ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น นอกจากนี้ ภาคเหนือ หรือล้านนาไทย มีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ

            สภาพการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จักสานที่สำคัญ นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีวัตถุดิบหลายชนิด ที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ เช่น กก แหย่ง ใบลาน และไม้ไผ่ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งไม้ไผ่ ซึ่งมีหลายชนิด ที่ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี

            นอกจากสภาพภูมิประเทศ และการประกอบอาชีพของภาคเหนือ ที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนทำเครื่องจักสานแล้ว ศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณี และศาสนาของภาคเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้เครื่องจักสานภาคเหนือ มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

            ภาคเหนือหรือล้านนาไทยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในวงล้อมของขุนเขา ทำให้ภาคเหนือมีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเองมาแต่โบราณ มีภาษาพูด ภาษาเขียน ขนบประเพณี เป็นของตน เอง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเหล่านี้ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เครื่องจักสาน ภาคเหนือมีเอกลักษณ์ของตนเอง

            การทำเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคเหนือ หรือล้านนาไทยนั้น ทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ ดังมีหลักฐานปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง เช่น ภาพชาวบ้านกับเครื่องจักสานใน ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดพระสิงห์วรวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพชาวบ้านกำลังนั่งสนทนากันอยู่ ข้างๆ ตัว มีภาชนะจักสานชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เปี้ยด หรือกระบุงวางอยู่ รูปทรงของเปี้ยดในภาพคล้ายกับเปี้ยดที่ใช้อยู่ใน ปัจจุบัน แสดงว่า ชาวล้านนาสานเปี้ยดใช้มานานนับร้อยปี นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสิงห์วรวิหารแล้ว ยังมีภาพของเครื่องจักสานปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกหลายภาพ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

            นอกจากนี้ วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดเครื่องจักสาน ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคข้าวเหนียวหลายอย่าง เช่น ลังถึง ก๋วย ซ้าหวด ก่องข้าว กระติบข้าว แอบ ข้าว ขันโตก ฯลฯ เครื่องจักสานเหล่านี้หลายชนิดมีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่น ได้แก่ ก่องข้าว แอบข้าว เปี้ยด เป็นต้น


ก่องข้าว

            ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน ก่องข้าวของภาคเหนือทั่วไป แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนฐาน มักจะทำด้วยไม้เป็นรูปกากบาทติดอยู่กับส่วนก้น เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง ตัวก่อง มักสานก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือกลม ต่อขึ้นมาเป็นทรงกระบอกคอคอดเข้าเล็กน้อย ส่วนที่สามคือ ฝา มีลักษณะเป็นฝาครอบ มักจะมีหูสำหรับร้อยเชือก ที่ใช้เป็นที่หิ้วหรือแขวนมาจากตัวก่อง รูปแบบของก่องข้าวในปัจจุบัน บางท้องถิ่นได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปจากโบราณบ้าง เช่น สานด้วยพลาสติกแทนตอก และมีรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันไปตามความนิยมของผู้ใช้ แต่ประโยชน์ และความสวยงามไม่สมบูรณ์ลงตัว เหมือนก่องข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่

แอบข้าว หรือแอ๊บข้าว

            ภาชนะใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกับก่องข้าว แต่มีขนาดเล็กกว่า สำหรับพกพาติดตัวเวลาไปทำงานนอกบ้าน แอบข้าว มีส่วนประกอบสำคัญคือ ตัวแอบ รูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝาแอบ รูปร่างเหมือนตัวแอบแต่ขนาดใหญ่กว่า เพราะใช้ครอบแอบข้าว แอบข้าวเหมาะสำหรับพกใส่ถุงย่าม ห่อผ้าคาด เอวออกไปทำนา ทำไร่ เช่นเดียวกับกล่องใส่ อาหารในปัจจุบัน

            ก่องข้าวและแอบข้าวของภาคเหนือ เป็นเครื่องจักสานที่มีความสมบูรณ์ ทั้งในด้านรูปแบบ และประโยชน์ใช้สอย สอดคล้องกับความนิยมของประชาชนแต่ละถิ่น

            นอกจากนี้ในภาคเหนือ ยังมีเครื่องจักสาน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่ใช้กันแพร่หลายอีกหลาย อย่าง เช่น บุง หรือ เปี้ยด ภาชนะสานสำหรับใส่ของ เช่นเดียวกับกระบุงของภาคกลาง แต่บุงภาคเหนือมีรูปร่างต่างกันไป เช่น บุงเมืองแพร่ บุงลำพูน หรือบุงลำปาง จะมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่า กระบุงภาคกลาง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะต้องการลดน้ำหนักของบุงให้น้อย เพราะบุงภาคเหนือ ใช้หาบของในภูมิประเทศที่เป็นเนิน ไม่สามารถหาบของที่มีน้ำหนักมาก เหมือนกับภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นราบ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บุงภาคเหนือ มีลักษณะป้อมกลม ไม่เป็นเหลี่ยม เหมือนกระบุงภาคกลางนั้น ช่วยให้บุงมีความคงทน ไม่แตกหักเสียหายง่าย เมื่อกระทบกระแทกกับสิ่งอื่น ใช้งานได้นาน

            การสานบุงภาคเหนือ จะสานก้นเป็นแผงสี่เหลี่ยม ด้วยลายสองก่อน ถัดขึ้นมาตรงกลาง หรือกระพุ้งสานลายสาม ส่วนปากที่โค้งสอบเข้า สานลายหนึ่ง และใช้ตอกค่อนข้างเล็ก เพื่อความแข็งแรงทนทาน การสานปากของบุงจะต่างกันไป ตามความนิยมของท้องถิ่น เช่น บุงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จะเข้าขอบปากด้วยไม้ไผ่และหวาย ต่างกับบุงเมืองแพร่และน่าน จะสานขอบในตัวโดยการเม้มตอกสานสอดกันเป็นขอบ แทนการเข้าขอบด้วยไม้ไผ่

            บุงภาคเหนือ นอกจากจะใช้ใส่เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ แล้ว ยังใช้เป็นภาชนะ สำหรับตวงหรือวัดปริมาณของเมล็ดพืชผลด้วย โดยใช้ขนาดของบุงเป็นเกณฑ์ เช่น บุงสามสิบห้า บุงสามสิบ คือ บุงที่มีความจุสามสิบห้าลิตร และบุงจุสามสิบลิตร เป็นต้น ในการสานบุงที่จะใช้ทำเครื่องตวงนี้จำเป็นจะต้องมีแบบหรือ "หุ่น" ที่สานด้วยไม้ไผ ่ให้มีขนาดมาตรฐานเป็นแบบ และยังช่วยให้บุงมีรูปทรงที่ดี ไม่บิดเบี้ยว มีความจุตรงตามต้องการ

            บุง หรือกระบุงของภาคเหนือดังกล่าว เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์ และความงามเฉพาะถิ่นของภาคเหนือ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างเครื่องจักสานกับประเพณีนิยมของท้องถิ่น ทำให้เครื่องจักสานได้รับการออกแบบให้มีรูปทรง ที่มีความสมบูรณ์ ทั้งด้านใช้สอย และความสวยงาม

            เครื่องจักสานของภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำทุ่ง หรือ น้ำถุ้ง เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ยาด้วยชันและน้ำมันยาง ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำ รูปร่างของน้ำทุ่งเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างดีคือ มีลักษณะคล้ายกรวยป้อมๆ ส่วนก้นมนแหลม ที่ ปากมีไม้ไขว้กันเป็นหูสำหรับผูกกับเชือกเพื่อสาว น้ำทุ่งขึ้นมาจากบ่อน้ำ ความมนแหลมของก้นน้ำทุ่งจะช่วยให้น้ำทุ่งโคลงตัวคว่ำลงให้น้ำเข้า เมื่อโยนลงไปในบ่อ นอกจากนี้ ลักษณะการสานที่แข็งแรง ยังช่วยให้น้ำทุ่งมีความทนทาน แม้ในปัจจุบัน จะมีผู้ผลิตน้ำทุ่งด้วยสังกะสี แต่ความคงทน และประโยชน์ใช้สอย สู้น้ำทุ่ง ที่สานด้วยไม้ไผ่ไม่ได้ แสดงว่าเครื่องจักสานพื้นบ้านที่คนโบราณ ผลิตขึ้นนั้น เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ได้อย่าง เหมาะสม และใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

            นอกจากตัวอย่างของเครื่องจักสานไม้ไผ่ภาคเหนือดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายชนิด เช่น ซ้าหวด กัวะข้าว ก่องข้าว แอบข้าว โตก ฝาชี แอบหมาก แอบเมี้ยง ซ้าชนิดต่างๆ หมวกหรือกุบ ก๋วย ก๋วยก้า ก๋วยหมู ก๋วยโจน เข่งลำไย ซ้าล้อม ซ้าตาห่าง ซ้าตาทึบ หรือบุงตีบ น้ำทุ่ง น้ำเต้า คุ วี ต่าง เปี้ยด หรือบุงชนิดต่างๆ เปลเด็ก เอิบ ไซชนิด ต่างๆ สุ่ม ฯลฯ

            เครื่องจักสานภาคเหนือยังทำด้วยวัตถุดิบอื่นๆ อีก เช่น ใบลาน และใบตาล ซึ่งทำกันไม่มากนัก ส่วนมากนิยมสานหมวก งอบ หรือ กุบ และก่องข้าวเล็กๆ