เล่มที่ 22
เครื่องจักสาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

ร่องรอยเครื่องจักสานที่ปรากฏบนผิวภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์


การสานภาชนะจักสานบางชนิด ช่างจักสานจะสานบนแม่แบบหรือหุ่น

กำเนิดและวิวัฒนาการของเครื่องจักสาน

            มนุษย์คิดทำเครื่องจักสานมาตั้งแต่สมัยใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่ได้พบร่องรอยของเครื่องจักสานบนเครื่องปั้นดินเผา สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า มนุษย์อาจจะสามารถทำเครื่องจักสานได้ ก่อนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยังทำต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ ดังปรากฏรอยภาชนะจักสานบนผิวภาชนะเครื่อง ปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง จาก แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นภาชนะเล็กๆ ปากกลมก้นสี่เหลี่ยม (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร) และภาชนะดินเผาทรงกระบอกเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่ง จากแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี) ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสองชิ้นดังกล่าว มีรอยของภาชนะจักสานลายขัด ปรากฏบนผิวด้านนอกของภาชนะดินเผา จึงสันนิษฐานว่า ทำขึ้นโดยใช้ดินเหนียวยาไล้ลงไปในภาชนะจักสาน เมื่อดินแข็งและแห้งแล้ว จึงนำไปเผาไฟ ไฟจะไหม้ภาชนะจักสานซึ่งเป็น แม่แบบหมด เหลือดินเผาที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับ ภาชนะจักสานซึ่งเป็นแม่แบบ จึงปรากฏรอยสาน ที่ผิวด้านนอกตามลวดลายต้นแบบ ภาชนะเครื่อง ปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตรดังกล่าวเป็น หลักฐานสำคัญที่อาจสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์สมัย ก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรู้จักทำเครื่อง จักสานมาก่อนการทำเครื่องปั้นดินเผา และการทำ เครื่องปั้นดินเผายุคแรก อาจจะทำโดยการใช้ดิน เหนียวยาไล้ลงในแม่แบบ (pressing mould) ทิ้งไว้ให้ดินแห้งแล้วจึงนำไปเผา ซึ่งเป็นกรรมวิธี การทำเครื่องปั้นดินเผายุคเริ่มแรก ก่อนที่จะทำ เครื่องปั้นดินเผาด้วยการตีด้วยไม้และหินดุ และ การปั้นโดยใช้แป้นหมุนในยุคต่อมา

            สิ่งที่ใช้เป็นแม่แบบ (mould) ในการทำเครื่องปั้นดินเผาครั้งแรกๆ อาจจะเป็นแปลือกผลไม้ เช่น เปลือกน้ำเต้า หรือเปลือกผลไม้ชนิดอื่นก่อน ที่จะใช้ภาชนะจักสานเป็นแม่แบบ แต่การทำภาชนะดินเผาที่ทำขึ้นด้วยวิธีนี้ จะมีรูปทรงจำกัด ตามสิ่งที่นำมาเป็นแม่แบบเท่านั้น ร่องรอยของ เครื่องจักสานที่ปรากฏบนผิวภาชนะดินเผานั้น อาจสันนิษฐานได้ว่า การทำเครื่องจักสานของ มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ใช้วัตถุดิบที่แปรรูปด้วยเครื่องโลหะ เช่น มีดพร้า จักหรือเหลาวัตถุดิบให้เป็นเส้นตอก มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะใช้ทำเครื่องจักสาน แต่ละชนิด อาจนำหวายหรือไม้ไผ่มาจักเป็นเส้น ก่อนที่จะนำมาสานเป็นภาชนะ แทนที่จะใช้ใบไม้ เถาวัลย์ มาสานเป็นภาชนะโดยตรง เพราะร่องรอยของเครื่องจักสาน ที่ปรากฏบนภาชนะดินเผานั้น แสดงว่า เป็นภาชนะจักสาน ที่สานด้วยตอก ที่จักเป็นเส้น อย่างที่ใช้สานเครื่องจักสานในปัจจุบัน

การแปรรูปวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องจักสาน เป็นพัฒนาการสำคัญในการทำเครื่องจักสาน เพราะการใช้วัสดุที่เป็นเส้นเล็ก เช่น ตอก หวาย ย่านลิเภา ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องจักสานให้มีรูปทรงตามต้องการ และมีความประณีตงดงามยิ่งขึ้น

            การทำเครื่องจักสานบางชนิดในบางท้องถิ่น ช่างจักสานจะสานภาชนะ หรือใช้ไม้ทำเป็นแบบ ให้มีรูปทรงตามความต้องการก่อน แล้วจึงสานทับแม่แบบอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ได้เครื่องจักสาน ที่มีรูปร่างและขนาดที่เหมือนๆ กันเป็นจำนวนมาก เช่น การสานกระบุงบางท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ ช่างจักสานจะสานกระบุงแม่แบบหรือต้นแบบก่อน แล้วจึงสานกระบุงที่ต้องการตามแม่แบบที่สานไว้ หรือการสานหมวกหรือกุบในภาคเหนือ ซึ่งช่าง จักสานมักใช้ไม้กลึงเป็นรูปหมวกมาเป็นแม่แบบ แล้วสานโครงหมวกตามแม่แบบที่เป็นไม้นั้น จาก นั้นจึงบุด้วยใบลานหรือใบตาลอีกชั้นหนึ่ง วิธีนี้จะทำให้ได้หมวกที่มีรูปร่างเหมือนกัน และมีขนาดเท่าๆ กัน นอกจากนี้ก็มีการสานครุหรือแอ่ว สำหรับตีข้าวของภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ที่ใช้ตอกขนาดใหญ่ ช่างจักสานจึงต้องขุดดินเป็นหลุม เป็นแม่แบบ แล้วลงไปสานในหลุมที่เป็นแม่แบบนั้น โดยมีหลุมดินเป็นแม่แบบ บังคับให้เครื่องจักสานมีรูปทรงตามต้องการ การสานเครื่องจักสานโดยใช้แม่แบบนี้ ช่วยให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปร่างเหมือนๆ กันเป็นจำนวนมาก หรือใช้สานเครื่องจักสานที่มีรูปทรงแปลกๆ จึง ต้องใช้แม่แบบ เช่น การสานแจกัน การสานเป็น รูปสัตว์ในประเทศจีน ซึ่งใช้ตอกสานหุ้มทับ แจกันดินเผาหรือเครื่องปั้นดินเผารูปสัตว์ ทำให้ ได้เครื่องจักสานที่มีรูปทรงตามแม่แบบนั้นๆ

            ดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า การทำเครื่องจักสาน เป็นหัตถกรรมสำคัญยิ่งประเภทหนึ่ง ในสังคมเกษตรกรรม เพราะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ที่ผู้ใช้สามารถสานขึ้นใช้เอง จากวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น การสร้างรูปทรง และกรรมวิธีในการทำเครื่องจักสานยุคแรกๆ ของมนุษย์ โดยทั่วไปจะไม่แตกต่างกันนัก ตั้งแต่การนำใบไม้ เถาวัลย์ มาสานเป็นภาชนะ สานเป็นเสื่อหรือเครื่องรองนั่งปูนอน การนำใบมะพร้าว ใบลาน ใบตาล และเถาวัลย์มา สานเป็นภาชนะอย่างหยาบๆ สำหรับใส่สิ่งของซึ่งทำกันทั่วไป

            กรรมวิธีในการทำเครื่องจักสานนั้น อาจจะเริ่มจากการสานอย่างง่ายๆ แล้วพัฒนาเป็นการจักสานที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งรูปแบบ และกรรมวิธี ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป