กฎเกณฑ์การตั้งถิ่นฐานหลังการแต่งงาน
สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้ระบบการนับญาติทั้งสองฝ่าย คนคนหนึ่งจะนับญาติทั้งฝ่ายบิดาและมารดา นั่นคือ นับรวม ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้องของปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูกหลานของลุง ป้า น้า อา พี่น้องของตัวเอง และลูกหลานของตัวเองเป็นเครือญาติพี่น้องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยโดยทั่วไป มีแนวโน้มที่เน้นทางมารดา ทั้งนี้เพราะกฎเกณฑ์ในการตั้งบ้านเรือน ในสังคมไทย โดยทั่วไปทุกภาค นิยมให้หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่อาศัยในบ้านบิดามารดาของฝ่ายหญิง (matrilocality) ซึ่งในภาษาพูดเรียกว่า "แต่งลูกเขยเข้าบ้าน" แต่ก่อนในสังคมชนบท ถ้าเราถามผู้ชายที่กำลังจะแต่งงานว่า "แต่งงานแล้วจะไปอยู่ที่ไหน" มักจะได้รับคำตอบว่า "ไปอยู่บ้านพ่อตา" ซึ่งตรงข้ามกับธรรมเนียมจีนที่นิยม "แต่งสะใภ้เข้าบ้าน" ซึ่งเป็นธรรมเนียมนิยมการตั้งถิ่นฐานที่อิงบิดามารดาของฝ่ายชาย
แบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติโดยส่วนใหญ่ในอดีตคือ หนุ่มสาวจะอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงสักระยะหนึ่ง โดยฝ่ายชายจะช่วยพ่อตาทำนา ถือเป็นการให้แรงงานแก่ฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งมีลักษณะคล้ายสินสอดที่มอบให้พ่อแม่เจ้าสาว แต่เป็นการให้จากฝ่ายชายไปสู่ฝ่ายหญิง ในรูปของแรงงาน ในทางภาคเหนือถือว่า การให้แรงงานเช่นนี้เป็นทางหนึ่ง เพื่อตอบแทนบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิงที่ให้ความคุ้มครองดูแลมาจนเติบใหญ่ ต่อเมื่อลูกสาวคนที่สองแต่งงาน และพาสามีเข้ามาอยู่ในบ้าน ลูกสาวคนโต และลูกเขยคนโต จะย้ายออกไป ซึ่งอาจจะ "ออกเรือน" ไปสร้างบ้านใหม่อีกหลังต่างหาก แต่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับบ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง หรืออาจจะเปลี่ยนไปอยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านของพ่อแม่ฝ่ายชาย หรืออาจจะไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใหม่ต่างหากเดี่ยวๆ ในหมู่บ้านเดิม หรือที่อื่น เมื่อลูกสาวคนที่สามแต่งงาน ลูกสาวคนที่สอง และเขยคนที่สอง ก็จะทำเช่นเดียวกัน ตามธรรมเนียมไทย เมื่อลูกสาวคนเล็กแต่งงาน และพาเขยเล็กเข้ามาอยู่ในบ้าน ลูกสาวคนเล็กมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า และจะอยู่กับพ่อแม่ จนพ่อแม่เสียชีวิต และบ้านก็จะตกเป็นของลูกสาวคนเล็ก และสามี
ที่กล่าวมานั้น เป็นรูปแบบในอุดมคติของธรรมเนียมการย้ายที่อยู่หลังการแต่งงาน ซึ่งนิยมไปอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ของฝ่ายหญิง แต่ในบางสถานการณ์ เช่น ในครอบครัวที่ไม่มีลูกสาว มีแต่ลูกชายเพียงคนเดียว ทางพ่อแม่ของฝ่ายชาย ก็จะพยายามแต่งสะใภ้เข้าบ้าน เพื่อที่จะได้มีลูกคอยดูแลในยามแก่เฒ่า หรือในกรณีที่ฝ่ายชายร่ำรวยกว่ามาก ก็อาจจะอยากให้ฝ่ายหญิงมาอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ของฝ่ายชายแทน
สืบเนื่องจากกฎเกณฑ์คนไทยที่นิยมตั้งบ้านเรือนค่อนมาทางครอบครัวของฝ่ายหญิง และฝ่ายชายนิยม "แต่งออก" ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งถ้าที่ใดนิยมแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน จะมีผลให้หมู่บ้านหนึ่งๆ เป็นที่รวมของครอบครัว และเครือญาติของฝ่ายหญิง เด็กที่เติบโตมาจะใกล้ชิดสนิทสนมกับยายมากกว่าย่า และสนิทกับน้า ซึ่งเป็นน้องของแม่มากกว่าอา ซึ่งเป็นน้องของพ่อ จึงเป็นลักษณะของเครือญาติ ที่เน้นมาทางมารดา ในหมู่บ้านหนึ่งๆ จึงมักจะพบลักษณะการตั้งบ้านเรือนที่มีบ้าน ที่ประกอบด้วยพ่อตา แม่ยาย ลูกสาวคนเล็ก และลูกเขยคนเล็ก และหลาน ในบริเวณเดียวกันอาจจะมีบ้านของลูกสาวคนโต และลูกสาวคนรอง ทำให้กลุ่มของบ้านมีลักษณะการรวมกันโดยมีฝ่ายหญิงเป็นหลัก เพราะฉะนั้นหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน ก็จะประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ของบ้านที่เป็นครอบครัวเครือญาติกัน
กลุ่มครอบครัวเครือญาติ ที่มักประกอบด้วย ครอบครัวของพี่สาวน้องสาว อย่างน้อย ๒-๔ ครอบครัวนั้น มักจะมีบทบาทช่วยเหลือพึ่งพากัน ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม ในอดีตก่อนที่ประเทศไทย จะเปลี่ยนมาทำเกษตรกรรม เพื่อขายหรือเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อการค้า การ "เอาแรง" ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงแรงงานในการดำนา เกี่ยวข้าว มักกระทำกันระหว่างครอบครัวของพี่น้อง กลุ่มครอบครัวเครือญาติ จึงถือว่า เป็นแหล่งแรงงาน ที่ให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน นอกจากการช่วยเหลือกันในการทำนาแล้ว ยังมีการช่วยเหลือกัน ในกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ อีก เช่น ถ้าพี่น้องคนใดจะปลูกบ้านใหม่ ก็มีการเอาแรงไปช่วยกันปลูกบ้านให้ หรือถ้าบ้านใดมี "งาน" ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ สมาชิกในกลุ่มเครือญาติเดียวกัน ก็จะมาช่วยกัน ซึ่งอาจจะรวมตั้งแต่ช่วยทำอาหาร ช่วยจัดงาน ช่วยรับแขก ในยามทุกข์ยาก กลุ่มครอบครัวเครือญาติสนิทนี้ ก็จะเป็นแหล่งที่พึ่งพาช่วยเหลือทางการเงินกันด้วย จึงนับว่า กลุ่มครอบครัวเครือญาติเป็นกลุ่มคนที่เป็นหลักประกันสังคมที่สำคัญ ในวิถีชีวิตของชาวบ้านไทย โดยเฉพาะในอดีต
การเอาแรงช่วยงานกันในกลุ่มครอบครัวและเครือญาติ