กฎเกณฑ์การรับมรดก
ในบางสังคมมีประเพณีที่จะยกมรดกให้แก่ลูกชายเท่านั้น เช่น สังคมจีนสมัยก่อน ซึ่งลูกสาวจะได้มรดกน้อยหรือไม่ได้เลย หรือในบางสังคม กำหนดให้ลูกชายรับมรดกจากลุง ซึ่งเป็นพี่ชายของมารดา เช่น ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับญาติทางฝ่ายมารดา และบางสังคมมีกฎเกณฑ์ ที่จะแบ่งสมบัติให้ลูกทุกๆ คนเท่ากัน โดยทั่วๆ ไป สังคมไทยมีการแบ่งมรดก ในลักษณะที่เท่าเทียม โดยหลักการ ถ้าถามพ่อแม่คนไทยว่า "จะให้มรดกกับลูกคนไหน" มักได้รับคำตอบว่า "ก็ให้ลูกทุกคน" แต่ในทางปฏิบัติ อาจขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หรือสาเหตุเฉพาะกรณี ซึ่งสัมพันธ์กับกฎเกณฑ์อื่นๆ ในระบบครอบครัว
บ้านของพ่อแม่ซึ่งมักจะตกอยู่กับลูกสาวคนเล็กที่ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า
การที่สังคมไทยนิยมแต่งลูกเขยเข้าบ้าน ทำให้ในทางปฏิบัติ แม้ว่าลูกชายจะได้มรดกเป็นที่นา แต่เมื่อต้องมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ซึ่งอาจจะอยู่ต่างหมู่บ้านกัน ทำให้ตัดสินใจขายที่นาของตนให้กับน้องสาว โดยเฉพาะน้องสาวจะอยู่ในหมู่บ้านต่อไป หรือลูกชายอาจจะสละสิทธิ์ในการเอาที่นามาเป็นมรดก ในกรณีนี้พ่อแม่อาจให้เป็นเงินซึ่งมีค่าเท่ากับที่นาให้กับลูกชาย ผลดีในเรื่องนี้ก็มีในแง่ที่ว่า ทำให้ที่นายังคงเป็นผืนใหญ่ ไม่ถูกแบ่งไปเพราะพี่ชายมักจะขายให้น้องสาว ทำให้ยังสามารถรักษาที่นาผืนใหญ่ไว้ได้ แต่ในกรณีที่พี่ชายไม่ขายให้น้องสาว แต่ขายให้คนอื่น ก็อาจทำให้ที่นาของพ่อแม่เล็กลง เพราะถูกแบ่งขาย ท้ายที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน ที่นาอาจจะผืนเล็กลงจนทำนาไม่ได้ ทำให้ต้องขายไปในที่สุด
ที่นาซึ่งมักตกอยู่กับลูกสาว