การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย
เราได้เห็นแล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องวางอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยผลัดกันเป็นผู้ให้ และเป็นผู้รับ เราจะพบว่า ในสังคมไทยยังนิยมใช้คำเรียกญาติ กับผู้ไม่ได้เป็นญาติอีกด้วย เช่น เรียกบิดามารดาของเพื่อนว่า "พ่อแม่" เรียกเพื่อนของพี่ว่า "พี่" เรียกเพื่อนร่วมงานว่า "พี่" "น้อง" เรียกบริกรตามร้านอาหารว่า "น้อง" ตลอดจนคนอื่นๆ ในอีกหลายๆ สถานการณ์ ซึ่งนับว่า เป็นการขยายคำเรียกญาติ ไปสู่บุคคลสถานภาพต่างๆ ในสังคม ในส่วนนี้จะพิจารณาว่า การเรียกผู้อื่นด้วยคำเรียกญาติในสังคมไทยนั้น เกิดขึ้นในกรณีใด และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะใด แต่ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงการใช้คำเรียกญาติโดยทั่วๆ ไป เสียก่อน
๑. คำเรียกญาติ
คำเรียกญาติ เป็นคำที่แต่ละสังคมวัฒนธรรมกำหนดขึ้นมา แล้วใช้เรียกผู้ที่มีความสัมพันธ์กัน โดยทางสายเลือด และการแต่งงาน ในแต่ละวัฒนธรรมก็มีระบบของคำเรียกญาติต่างกันไป ซึ่งจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด กับระบบครอบครัว และเครือญาติในสังคมนั้นๆ โดยทั่วๆ ไป คำเรียกญาติแต่ละคำ จะแยกให้เห็นถึงความต่างกันของคนแต่ละรุ่น เช่น คำว่า ปู่ ย่า ตา ยาย จะบอกว่า เป็นคนรุ่นก่อนรุ่นพ่อแม่ของเรา หรือจะแยกให้เห็นถึงความต่างเพศ เช่น คำว่า ปู่ บอกว่า เป็นญาติเพศชาย รุ่นพ่อของพ่อ และย่าเป็นญาติเพศหญิง รุ่นแม่ของพ่อ หรือจะแยกให้เห็นถึงความต่างวัย เช่น คำว่า พี่ บอกถึงความมีวัยสูงกว่าผู้พูด และคำว่า น้อง บอกถึงความมีวัยต่ำกว่าผู้พูด หรือแยกให้เห็นว่า เป็นญาติทางสายเลือด หรือการแต่งงาน ลูกเขย สะใภ้ บอกถึงผู้ที่มาแต่งงานกับลูกสาว หรือลูกชาย
คำเรียกญาติในสังคมหนึ่งๆ มักจะบ่งบอก สถานภาพ และบทบาทหน้าที่ของคนผู้นั้น ที่มีต่อเรา เช่น นาง ก เรียก นาง ข ว่า แม่ จะมีนัยทางสังคมว่า นาง ก จะต้องเคารพเชื่อฟัง นาง ข และมีหน้าที่ จะต้องดูแลนาง ข ในยามแก่เฒ่า ในขณะที่ ถ้านาง ก เรียกเด็กหญิง ค ว่า ลูก จะมีนัยทางสังคมว่า นาง ก มีสิทธิ และอำนาจ ที่จะสั่งให้เด็กหญิง ค ทำอะไรๆ ก็ได้ ตามที่ตนสั่งให้ทำ ดังนั้น คำเรียกญาติจึงบอกหน้าที่ และบทบาทของคนผู้นั้นไว้อย่างชัดเจน
ในสังคมบางสังคม ที่กำหนดหน้าที่ของคนคนหนึ่งไว้ต่างกับคนอื่นๆ หรือให้ความสำคัญกับคนบางสถานภาพ ในครอบครัวเป็นพิเศษ จึงมักจะมีคำเรียกเป็นพิเศษสำหรับคนคนนั้น เช่น ในสังคมไทย คำว่า ลุง ไม่ได้แยกระหว่าง คนที่เป็นพี่ชายของพ่อ และพี่ชายของแม่ เพราะเราเป็น สังคม ที่นับญาติทั้งสองฝ่าย แต่ในบางสังคม เช่น สังคมที่นับญาติ เฉพาะทางฝ่ายมารดา ซึ่งให้ความสำคัญอย่างสูงสุดกับพี่ชายของแม่ ในสังคมเช่นนั้น มักจะมีคำต่างหาก ที่เรียกพี่ชายของแม่ ซึ่งจะเป็นคนละคำกับคำที่เรียกพี่ชายของพ่อ ทั้งนี้เพื่อจะบอกถึงสถานภาพ และหน้าที่ของผู้เป็นพี่ชายของแม่ ให้ต่างกับผู้เป็นพี่ชายของพ่อ ในสังคมที่นับถือญาติข้างมารดาเป็นใหญ่ ลุง ซึ่งเป็นพี่ชายของแม่ มีหน้าที่ดูแลสั่งสอนหลาน และให้มรดกแก่หลาน เด็กในสังคมเช่นนั้น จึงมีแนวปฏิบัติกับลุง ที่เป็นพี่ชายของแม่ ต่างกับลุงที่เป็นพี่ชายของพ่อ
ถ้าเราเปรียบเทียบคำเรียกญาติในสังคมไทยกับสังคมตะวันตกบางสังคม เช่น สังคมอเมริกัน คำว่า brother ไม่ได้บอกว่า เป็นพี่ชาย หรือน้องชาย ใช้เรียกทั้งพี่ชาย และน้องชาย แต่ในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่เน้นอาวุโส เน้นความต่างกันของอายุ เราจึงมีคำว่า พี่ชาย และน้องชาย เราจะพบว่า เวลาที่คนสองคนถูกแนะนำให้รู้จักกัน สิ่งแรกที่จะต้องรู้คือ ใครอายุมากกว่ากัน จะได้ลำดับความเป็นพี่เป็นน้องถูก เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมอเมริกัน ที่ไม่ได้ให้ค่ากับความอาวุโส และมักจะถือว่า พี่น้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงไม่มีคำเรียกญาติที่ต่างกันระหว่างผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่า หรือต่ำกว่า และด้วยหลักการเดียวกัน ในสังคมไทยเรามีคำ ๒ คำคือ คำว่า ลุงกับอา ซึ่งแยกระหว่างพี่ของพ่อกับน้องของพ่อ ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นพี่น้องของพ่อนั้น จะมีบทบาท และสถานภาพที่ต่างกันในครอบครัว ในขณะที่ในภาษาอังกฤษมีคำเพียงคำเดียวคือ uncle ซึ่งใช้ได้กับทั้งพี่ของพ่อ และน้องของพ่อ ด้วยเหตุที่คนในสังคมอเมริกันมองความเป็นพี่น้องเป็นเรื่องเท่าเทียมกัน ดังกล่าวมาแล้ว
คำเรียกญาติ ย่า ยาย ป้า น้า หลาน
๒. การขยายการนับญาติในสังคมไทย
เนื่องจากคำเรียกญาติเป็นคำที่บอกลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล การ "ใช้" คำเรียกญาติ เพื่อเรียกคนที่ไม่ได้เป็นญาติ จึงเป็นการเจตนา "สร้าง" ความสัมพันธ์ให้ผู้ฟังรู้สึกถึงภาระหน้าที่บางประการ ที่พึงมีต่อผู้พูด หรือที่พึงมีซึ่งกันและกัน การใช้คำสรรพนามในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ต้องรู้สถานภาพของคนที่เรากำลังคุยด้วย ถ้าผู้ฟังเป็นผู้บังคับบัญชา เราอาจจะใช้สรรพนามว่า "ท่าน" ในกรณีที่ต้องการแสดงความนับถือ ถ้าเป็นบุคคลตามสถานที่ราชการที่เราไปติดต่อ เราอาจจะเรียกว่า "คุณ" แต่ในกรณีที่เราต้องการสร้างความสนิทสนม เราอาจจะเปลี่ยนไปเรียกว่า "พี่" หรือ "น้อง" ซึ่งการเปลี่ยนไปเรียกว่า พี่หรือน้องเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้ผู้ฟังรู้สึกว่า มี "หน้าที่" ที่จะต้องช่วยเหลือ การที่เราเรียกเขาว่า "พี่" ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีอายุมากกว่า เป็นการแสดงความนอบน้อม และแสดงเจตจำนงว่า กำลังขอความช่วยเหลือ ผู้ฟังอาจจะรู้สึกโดยอัตโนมัติว่า มีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ เพราะในวัฒนธรรมไทย ความเป็นพี่บ่งบอกภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือดูแลผู้น้อง หรือในร้านอาหาร เราอาจจะเรียกบริกรว่า "น้อง" ซึ่งมีนัยว่า สิ่งที่เราจะขอต่อไปนั้น "น้อง" มีหน้าที่ต้องให้บริการ เช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ในบ้าน ผู้เป็นน้อง ก็มักจะขัดไม่ค่อยได้ ถ้าพี่หรือผู้อาวุโสสูงกว่าขอร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
การเรียกผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นญาติว่า พี่หรือน้องเป็นสิ่งที่เป็นปกติในสังคมไทย ทุกๆ คน ก็ขยายการเรียกคนอื่นว่า เป็นพี่เป็นน้อง ในกรณีที่ต้องการสร้างความสนิทสนม และเพื่อลดช่องว่าง และความห่างเหินกับคนที่เรากำลังคุยด้วย เพราะความรู้สึกในความสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปทันที ถ้าเราเรียกบริกรว่า "คุณ" ด้วยเหตุที่การเรียกบริกรว่า "คุณ" เป็นการสร้างกำแพงระหว่างผู้พูด และผู้ฟัง จริงอยู่การให้บริการจะยังเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ที่บริกรพึงมีต่อลูกค้า ในร้านอาหาร แต่ความรู้สึก และลักษณะความสัมพันธ์ อาจจะต่างกัน ในกรณีฉุกเฉินที่เรามีความจำเป็นให้บริกรช่วย เช่น โทรศัพท์ไปบอกคนที่บ้านเรา ด้วยเหตุบางประการ ซึ่งเป็นการบริการที่เกินหน้าที่ของบริกร เราคงไม่เรียกเขาว่า "คุณ" แต่จะเรียกว่า "น้อง" โดยอัตโนมัติ และบริกร ก็จะรู้สึกว่า จำเป็นต้องช่วยเหลือเสมือนหนึ่งคนที่เป็นน้องมีหน้าที่ทางสังคม ที่ต้องบริการต่อพี่ของตัวเองในครอบครัว
เรามักเรียก “เด็กปั๊ม” ว่า “น้อง”
ความเป็นญาติบอกถึงความรัก ความไว้ใจ และความไม่เอาเปรียบ จึงพบว่า ในสังคมไทยนิยมใช้คำเรียกญาติ เช่น คำว่า "พี่" กับคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนของพี่ เพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งเป็นการบอกลักษณะความสัมพันธ์ว่า มีความใกล้ชิดไว้ใจกันได้ ไหว้วานให้ช่วยเหลือกันได้ ประเด็นเรื่องความเป็นญาติ แฝงไว้ด้วยความไม่คิดเล็กคิดน้อย ทำให้สังเกตได้ว่า เวลาซื้อของในร้าน ที่สามารถต่อรองราคาได้ ถ้าคนขายอายุมากกว่า เราอาจจะเรียกว่า "พี่" เช่นบอกว่า "พี่ลดราคาให้อีกหน่อยสิคะ" ด้วยการเรียก "พี่" คนขายอาจจะลดราคาให้ จะโดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่ในความเป็นญาติ มักจะเอาเปรียบกันไม่ได้โดยตรง โดยเฉพาะทางการเงิน การ "ใช้" คำ เรียกญาติ จึงเป็นกลไกอันหนึ่งของคนในสังคมไทย ใช้เพื่อผลประโยชน์ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่การใช้คำว่า "พี่" หรือ "น้อง" เป็นการใช้เรียกคนที่ไม่ใช่ญาติ ในรุ่นราวคราวเดียวกับเรา ด้วยหลักการ และเหตุผลเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว เราจะเรียกแม่ค้าที่ดูว่า มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่เราว่า "ป้า" หรือ "น้า" ในกรณีที่เป็นคนแก่มากๆ เราจะเรียกว่า "ยาย" มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ คนไทยจะใช้คำว่า น้า ยาย และตา มากกว่า อา ย่า และปู่ กับคนที่ไม่ได้เป็นญาติกับเรา แต่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่ หรือรุ่นพ่อแม่ของพ่อแม่ ในแง่นี้วิเคราะห์ได้ว่า คนไทยรู้สึกใกล้ชิดกับญาติข้างแม่มากกว่า สืบเนื่องจากระบบครอบครัวไทย ที่นิยมตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน โดยอิงข้างผู้หญิง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีการแต่งงาน หนุ่มสาวมักจะ อยู่ในบ้านบิดามารดาของฝ่ายหญิงสักระยะหนึ่ง จนมีลูก หรือเมื่อน้องสาวคนถัดไปแต่งงาน จึงย้ายออก เด็กที่เกิดขึ้นมาในครอบครัว จึงได้พบและคุ้นเคยกับยายคือ แม่ของแม่ และน้าคือ น้องของแม่ เพราะอยู่ในบ้านเดียวกัน หรือเดินออกไปบ้านข้างๆ กัน ก็พบยายและน้า ซึ่งเป็นครอบครัวของพี่สาวของยายแท้ๆ อีก ด้วยเหตุที่เด็กไทยเติบโตขึ้นมา ท่ามกลางญาติทางมารดามากกว่าญาติทางบิดา จึงนับเป็นคำอธิบายอันหนึ่งว่า เหตุใดคนไทยจึงใช้คำเรียกญาติกับคนที่พบเห็นว่า น้า ยาย หรือตา มากกว่า อา ย่า หรือปู่
น่าสังเกตการใช้คำว่า "พ่อ" ในสังคมไทยว่า คำว่า "พ่อ" มีนัยของผู้มีอำนาจ ผู้อุปถัมภ์ ผู้ที่ทรงไว้ ซึ่งความเป็นที่เคารพนับถือ เราจึงพบว่า เราเรียกผู้ปกครองบ้านเมืองว่า "พ่อขุน" "พ่อเมือง" โดยนัยของผู้มีอำนาจ และผู้อุปถัมภ์ เราเรียกพระสงฆ์ ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านว่า "หลวงพ่อ" เรียกวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ตามศาลหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ว่า "เจ้าพ่อ" โดยนัยของความเป็นผู้มีอำนาจ ในประเด็นเรื่องความเป็นผู้มีอำนาจให้โทษ โดยที่เป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่ผี หมายถึง นักเลงท้องถิ่นทางเหนือ เรียกผู้มีฐานะมั่งคั่งว่า "พ่อเลี้ยง" ทั้งนี้แฝงนัยของความเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ ทั้งทางการเงิน และความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งถ้าแยกศัพท์ว่า "พ่อ" และ "เลี้ยง" ก็จะเห็นนัยของคำนี้ชัดเจนขึ้น
ส่วนคำว่า "แม่" นั้น อาจตั้งข้อสังเกตว่า แฝงนัยทางสังคมหลายประการ
ประการแรก คำว่า "แม่" ทำให้นึกถึงผู้หญิงที่ดูแลบ้านดูแลครอบครัว จึงมีคำว่า "แม่บ้าน" ซึ่งอาจจะหมายถึง ทั้งภรรยา และผู้ที่จ้างมาดูแลบ้าน คำว่า "แม่ครัว" ซึ่งอาจจะหมายถึง ทั้งภรรยาและผู้ที่จ้างมาทำอาหารในบ้าน ตลอดจนตามร้านอาหาร
ประการที่๒ คำว่า "แม่" อาจรวมนัยของความเป็นที่เกิดของความอุดมสมบูรณ์ เพราะแม่เป็นผู้ให้กำเนิดลูก จึงมีคำว่า "แม่โพสพ" "แม่ธรณี" "แม่น้ำ" เป็นแหล่งของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะใช้คำว่า แม่เป็นคำต้นเรียกชื่อ แม่น้ำลำธารสายต่างๆ ได้ เช่น แม่ปิง แม่กก แม่สาย แม่คงคา
แม่น้ำ ธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงดูแลมนุษย์ดุจมารดา
ประการที่๓ คำว่า "แม่" คงไว้ซึ่งความรู้สึกของความมั่นคงแข็งแรง จึงเป็นที่มาของคำว่า "แม่กุญแจ" "แม่แรง" "แม่ทัพ" "แม่กอง"
ในประเด็นเรื่องการใช้คำเรียกญาติ ซึ่งบ่งบอกความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ เห็นได้อีกในคำว่า "ลูกพี่" และ "ลูกน้อง" ปกติคำว่า ลูกพี่ลูกน้อง หมายถึง คนที่ไม่ได้เป็นพี่น้องท้องเดียวกับเรา แต่เป็นลูกของลุง ป้า น้า อาของเรา แต่เมื่อนำมาใช้แยก "ลูกพี่ หรือ ลูกน้อง" ความหมายได้กลายไป ถูกนำไปใช้ในบริบททางสังคม ที่กล่าวขึ้นในรูปของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ "ลูกน้อง" ใช้ในฐานะผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตาม "ลูกพี่" อาจหมายถึง นักเลง นายผู้นำของการรวมกลุ่ม ในลักษณะต่างๆ ซึ่งถ้าดูความสัมพันธ์ระหว่าง "ลูกพี่" และ "ลูกน้อง" ในลักษณะที่กล่าวมานี้ ยังสามารถเห็นบทบาท และหน้าที่ของ "พี่" ว่า เป็นผู้ให้ความคุ้มครองดูแล และ "น้อง" เป็นผู้อยู่ในความดูแลของ "พี่" ตามความหมายเดิม และตามบทบาทหน้าที่ของพี่และน้อง ในระบบครอบครัวไทยนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติในสังคมไทยเป็นความสัมพันธ์ ๒ ทาง ซึ่งกระทำระหว่างบุคคล ๒ ฝ่าย ซึ่งมีทั้งในกรณีที่เป็นญาติกันจริงๆ โดยทางสายเลือด และการแต่งงาน และในกรณีของญาติสมมติ ดังที่กล่าวถึงในกรณีของการขยายการนับญาตินี้ ข้อที่น่าสังเกตคือ ในสังคมไทย กิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างญาติจริงก็ดี หรือญาติสมมติก็ดี เป็นความสัมพันธ์แบบชั่วคราว เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น เมื่อมีการแลกผลประโยชน์กัน ซึ่งอาจจะเป็นได้ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงเป็นความสัมพันธ์ ที่มีเรื่องผลประโยชน์เป็นรากฐาน ดังที่มีคำกล่าวว่า "มีเงินก็นับว่าน้อง มีทองก็นับว่าพี่"