เล่มที่ 22
ท่าอากาศยาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของท่าอากาศยาน

การจำแนกประเภทของท่าอากาศยาน อาจจำแนกได้หลายกรณีด้วยกัน เช่น จำแนกตามชนิดของอากาศยานที่มาขึ้นลง เช่น ท่าอากาศยาน ที่ใช้สำหรับเป็นที่ขึ้นลงของเฮลิคอปเตอร์ เรียกว่า สนามบินเฮลิคอปเตอร์ (HELIPORT) หรือจำแนกตามการดำเนินงาน ท่าอากาศยานบางแห่งใช้ในกิจการพาณิชย์ บางแห่งใช้ในกิจการทหาร หรือบางแห่งเป็นท่าอากาศยาน สำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล นอกจากนั้น ยังมีการจำแนกตามบทบาทหรือการให้บริการของท่าอากาศยานได้แก่ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL AIRPORT) และท่าอากาศยานภายในประเทศ (DOMESTIC AIRPORT)

ในประเทศไทย คนทั่วไปมักรู้จักท่าอากาศยาน ๓ ประเภท ได้แก่ ท่าอากาศยานทหาร ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และท่าอากาศยานภายในประเทศ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และท่าอากาศยานภายในประเทศ เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานที่มีบทบาทสำคัญต่อกิจการขนส่งทางอากาศของประเทศ

ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ


ท่าอากาศยานภูเก็ต
ซึ่งเป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้

คือ ท่าอากาศยานที่อนุญาตให้เป็นจุดเข้าออกของการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือเป็นท่าอากาศยาน สำหรับเครื่องบินผู้โดยสาร และสินค้าที่เดินทางเข้าหรือออกระหว่างประเทศ สิ่งสำคัญที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศจะต้องมีคือ พิธีการด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง ด่านกักกันโรค ด่านกักกันพืช ด่านกักกันสัตว์ อยู่ในท่าอากาศยาน ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ๗ แห่ง อยู่ภายใต้การบริหารงานของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ๔ แห่ง คือ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต อยู่ภายใต้การบริหารงานของกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ๒ แห่ง คือ ท่าอากาศยานเชียงราย และท่าอากาศยานอุบลราชธานี ส่วนอีก ๑ แห่ง คือ สนามบินอู่ตะเภา กองทัพเรือ เป็นผู้บริหารงาน

ท่าอากาศยานภายในประเทศ

คือ ท่าอากาศยาน ที่อนุญาตให้เป็นจุดเข้าออกของการจราจรทางอากาศ ภายในประเทศ หรือเป็นท่าอากาศยาน สำหรับเครื่องบินผู้โดยสาร สินค้าที่เดินทางภายในประเทศเท่านั้น จึงมีขนาดเล็กกว่าท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทย มีท่าอากาศยานภายในประเทศ ที่ใช้ในกิจการพาณิชย์ ๒๑ แห่ง อยู่ภายใต้การบริหารงานของกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ท่าอากาศยานภายในประเทศเหล่านี้ จะตั้งอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคคือ

ภาคเหนือ

มี ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานลำปาง ท่าอากาศยานน่าน ท่าอากาศยานแพร่ ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มี ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานนครพนม ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานนครราชสีมา

ภาคใต้

มี ท่าอากาศยานหัวหิน ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานปัตตานี ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนราธิวาส และ