เล่มที่ 22
ท่าอากาศยาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ท่าอากาศยานสำคัญของประเทศไทย

            ประเทศไทยมีท่าอากาศยานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด เพื่อเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ท่าอากาศยานที่มีบทบาทสำคัญต่อ กิจการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนเที่ยวบินผู้โดยสาร และการขนถ่ายสินค้าอยู่ในปริมาณที่สูง มีอยู่ ๔ แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต คือ ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ มีเครื่องบินขึ้นลงที่ท่าอากาศยานทั้ง ๔ แห่ง รวม ๒๐๘,๐๒๒ เที่ยวบิน มีผู้โดยสารรวม ๓๐,๘๑๙,๕๐๐ คน และมีการขนส่งสินค้าผ่านทางท่าอากาศยานรวม ๗๔๒,๙๘๖ ตัน ซึ่งผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเหล่านี้ คิดเป็นร้อยละ ๘๕ ของผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานทั่วประเทศ

ท่าอากาศยานกรุงเทพ


ท่าอากาศยานกรุงเทพ

            ท่าอากาศยานกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ ๓,๘๘๑ ไร่ เดิมมีชื่อว่า สนามบินดอนเมือง เปลี่ยนชื่อเป็นท่าอากาศยานกรุงเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปยังคงนิยม เรียกว่า สนามบินดอนเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีความสำคัญ ที่สุดของประเทศไทย เพราะเป็นเสมือนประตูสู่ประเทศไทย ที่เปิดต้อนรับผู้เดินทาง หรือผู้โดยสารจากทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีเครื่องบินมาขึ้นลง ที่ท่าอากาศยาน ๑๕๘,๙๓๗ เที่ยวบิน ผู้โดยสาร ๒๔,๙๙๒,๗๓๘ คน มีการขนส่งสินค้า ผ่านทางท่าอากาศยาน ๗๘๗,๕๓๙ ตัน จากสถิติดังกล่าว ท่าอากาศยานกรุงเทพ จึงเป็นท่าอากาศยานที่มีผลการดำเนินงานด้านการให้บริการสูงที่สุดของประเทศ


บริเวณตรวจบัตรโดยสารในห้องผู้โดยสารขาออก อาคารผู้โดยสาร

            ท่าอากาศยานกรุงเทพไม่เพียงแต่มีความสำคัญ และมีผลการดำเนินงานสูงที่สุด ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีจำนวนผู้โดยสาร และการขนถ่ายสินค้าทางอากาศ สูงติดอันดับโลกอีกด้วยคือ จากสถิติ ซึ่งรวบรวมโดยสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศคือ ACI ปรากฏว่า ในบรรดาท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ๓๐ แห่ง ในปี ๒๕๒๖ ท่าอากาศยานกรุงเทพ มีผู้โดยสาร ๕.๖๗ ล้านคน อยู่ในอันดับที่ ๕๑ ของโลก เมื่อเวลา ผ่านไป ๑๓ ปี คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ปรากฏว่า ท่าอากาศยานกรุงเทพ มีผู้โดยสาร ๒๔.๙๙ ล้านคน ทำให้อันดับในเชิงของปริมาณผู้โดยสารเลื่อนมาเป็นอันดับที่ ๒๗ ของโลก โดยมีอัตราความเจริญเติบโตของผู้โดยสาร เป็นอันดับที่ ๒ ของโลก

            ในส่วนของปริมาณสินค้าที่ขนถ่ายที่ท่าอากาศยานกรุงเทพก็เช่นกัน ปรากฏว่า ในบรรดาท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ๕๐ แห่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ท่าอากาศยานกรุงเทพมีปริมาณ สินค้า ๔๐๓,๐๘๗ ตัน อยู่ในอันดับที่ ๒๓ ของโลก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ปริมาณสินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น ๗๐๓,๐๗๗ ตัน ทำให้ท่าอากาศยานกรุงเทพสามารถเลื่อนมาอยู่ในอันดับที่ ๒๒ ของโลก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เป็นอันดับที่ ๑๕ ของโลก

            สำหรับจำนวนเที่ยวบินนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ท่าอากาศยานกรุงเทพมีเที่ยวบิน ๑๖๐,๑๗๘ เที่ยว อยู่ในอันดับที่ ๙๓ ของโลก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๘๑,๒๔๙ เที่ยว ทำให้ท่าอากาศยานกรุงเทพ เลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ ๗๘ ของโลก

ท่าอากาศยานเชียงใหม่

ท่าอากาศยานเชียงใหม่

            ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๖๐ ถนนมหิดล ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัด เชียงใหม่ มีพื้นที่ ๑,๙๐๕ ไร่ เดิมชื่อ สนามบิน สุเทพ เปลี่ยนชื่อเป็นท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ที่เป็นประตูสู่ดินแดนภาคเหนือ ที่มีธรรมชาติสวยงาม และมีศิลปวัฒนธรรมที่ยาวนานของประเทศไทย ดังนั้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่จึงมีบทบาทสำคัญในด้าน การส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีเครื่องบิน ขึ้นลงรวม ๑๖,๖๑๕ เที่ยวบิน ผู้โดยสาร ๒,๐๙๒,๖๑๓ คน และให้บริการกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศยานรวม ๑๗,๕๔๓ ตัน

ท่าอากาศยานหาดใหญ่


บริเวณภายในท่าอากาศยานหาดใหญ่

            ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๙๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองหลา กิ่งอำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ ๓,๔๖๘ ไร่ จากการที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ อยู่ในจังหวัดที่ได้รับการขนานนามว่า ถิ่นการค้าแดนใต้ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ จึงทำหน้าที่เป็นประตูคอยรับผู้โดยสาร ที่เดินทางไปซื้อหาสินค้าของทางภาคใต้ นอกจาก นั้นท่าอากาศยานหาดใหญ่ยังมีบทบาทสำคัญใน การให้บริการแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปแสวง บุญ ณ นครเมกกะ ปีละเป็นจำนวนมากอีกด้วย สำหรับผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานหาดใหญ่ ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ มีเครื่องบินขึ้นลง รวม ๑๑,๒๕๘ เที่ยวบิน ผู้โดยสาร ๙๕๘,๓๙๓ คน และมีการขนส่งสินค้าของท่าอากาศยาน รวม ๑๑,๙๒๙ ตัน

ท่าอากาศยานภูเก็ต

            ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๒๒๒ หมู่ที่ ๖ ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่ ๑,๔๔๗ ไร่ ท่าอากาศยานภูเก็ตเป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ที่มีจำนวนเที่ยวบินผู้โดยสาร และการขนถ่ายสินค้าทางอากาศไปใช้บริการเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากท่าอากาศยานกรุงเทพ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีเครื่องบินรับส่งที่ท่าอากาศยาน ๒๑,๒๑๒ เที่ยวบิน มี ผู้โดยสาร ๒,๗๗๕,๗๕๖ คน และมีการรับส่งสินค้าทางอากาศยาน รวม ๑๒,๒๔๖ ตัน สาเหตุที่ท่าอากาศยานภูเก็ต มีสถิติของการรับส่งทางอากาศยาน อยู่ในอัตราที่สูง เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง มีแหล่งท่องเที่ยวทะเล และมีการบริการด้านการท่องเที่ยวครบวงจร ผู้โดยสารส่วนใหญ่ของท่าอากาศยานภูเก็ต จึงเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก ดังนั้น ท่าอากาศยานภูเก็ต จึงมีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาคใต้ และของประเทศไทย