เล่มที่ 22
ท่าอากาศยาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
องค์ประกอบในเขตนอกการบิน

อาคารผู้โดยสาร (PASSENGER TERMINAL)


อาคารผู้โดยสาร

            คือ อาคารหลักที่ท่าอากาศยานจัดไว้ สำหรับให้ผู้โดยสารขาเข้า และผู้โดยสารขาออก ทำพิธีการต่างๆ สำหรับการเดินทาง ตลอดจนพักรอก่อนออกเดินทาง ดังนั้น อาคารผู้โดยสารจึงเป็นอาคารที่สำคัญ เพราะเป็นอาคาร สำหรับให้บริการแก่ผู้โดยสารโดยตรง และถึงแม้ว่าท่าอากาศยานแห่งหนึ่งๆ จะต้องมีองค์ประกอบ และสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง แต่อาคารผู้โดยสาร จะเป็นอาคารที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัด จากภายนอกท่าอากาศยาน และเป็นเสมือนภาพรวม หรือตัวแทนที่จะแสดงให้เห็นว่า ท่าอากาศยานมีขนาดใหญ่ โอ่อ่า และมีความทันสมัยเพียงใด

            การที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารให้มีรูปแบบใดนั้น มีปัจจัยกำหนดหลายปัจจัยคือ พื้นที่ของท่าอากาศยาน ปริมาณการจราจรทางอากาศที่ท่าอากาศยาน และประเภทผู้โดยสาร อาคารผู้โดยสารโดยทั่วไปมี ๖ รูปแบบคือ

            ๑. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบพื้นฐาน (SIMPLE CONCEPT) เป็นรูปแบบอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารไม่มาก สามารถจัดลานจอดอากาศยานใกล้กับตัวอาคาร ผู้โดยสารจะต้องเดินไปขึ้นเครื่องบินเอง

            ๒. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบที่มีการขนถ่ายระหว่างตัวอาคารกับเครื่องบิน (TRANSFORTER CONCEPT) รูปแบบนี้จะจัดเครื่องบินจอดที่ลานจอดอากาศยาน ที่อยู่ห่างจากตัวอาคารผู้โดยสาร และต้องใช้รถขนส่งผู้โดยสารไปขึ้นเครื่องบิน ประโยชน์ของรูปแบบนี้คือ ใช้เงินลงทุนต่ำ เพราะไม่ต้องสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน ส่วนข้อเสียคือ ผู้โดยสารไม่สะดวก


อาคารผู้โดยสารในรูปแบบที่มีการขนถ่ายระหว่างตัวอาคารกับเครื่องบิน

            ๓. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบที่ต่อเนื่อง (LINEAR CONCEPT) เป็นรูปแบบอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งอาคารรูปแบบนี้ จะให้เครื่องจอดประชิดติดตัวอาคารผู้โดยสารเป็นแนวเรียงกันไป และมีสะพานเทียบเครื่องบินให้บริการ ผู้โดยสารเดินเข้าออกเครื่องบินได้เองโดยตรง

            ๔. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบคล้ายนิ้วมือ (FINGER CONCEPT) เนื่องจากอาคารในรูปแบบ LINEAR CONCEPT มีข้อเสียคือ ผู้โดยสารอาจจะต้องเดินเป็นระยะทางไกล เนื่องจากมีลักษณะเป็นแนวยาว ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ท่าอากาศยานขนาดใหญ่จึงมีการออกแบบอาคารผู้โดยสาร ในลักษณะที่มีรูปแบบคล้ายนิ้วมือ ยื่นไปในเขตการบินเรียกว่าอาคารเทียบเครื่องบิน (PIER) ซึ่งมีข้อดี คือเครื่องบินสามารถจอดได้ประชิดกับตัวอาคารจำนวนมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารเดินระยะสั้นลง ท่าอากาศยานกรุงเทพมีอาคารผู้โดยสารที่เป็นลักษณะดังกล่าวนี้


อาคารผู้โดยสารในรูปแบบคล้ายนิ้วมือ

            ๕. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบคล้ายเกาะ (SATELLITE CONCEPT) ลักษณะเด่นของอาคารรูปแบบนี้คือ มีอาคารเทียบเครื่องบินอยู่ในเขตการบิน โดยเอกเทศ และเครื่องบินจะจอดอยู่รอบๆ อาคารนี้ โดยมีระบบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารกับอาคารเทียบเครื่องบินแยกต่างหาก ซึ่งข้อดีของอาคารรูปแบบนี้คือ เครื่องบินเข้าออกได้ง่าย และสะดวกกับผู้โดยสารที่ต่อเที่ยวบิน ส่วนข้อเสียคือ ต้องใช้พื้นที่ในเขตการบินมาก

            ๖. อาคารผู้โดยสารในรูปแบบผสม (HYBRID CONCEPT) คือ รูปแบบอาคารที่นำแนวความคิดทุกๆ แนวความคิด มาผสมผสานกัน ตามลักษณะความจำเป็นของท่าอากาศยานแต่ละแห่ง



อาคารผู้โดยสารในรูปแบบผสม


            สำหรับภายในอาคารผู้โดยสาร จะมีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนที่เป็นพิธีการของผู้โดยสารแต่ละประเภท และพื้นที่สำหรับเป็นส่วนบริการต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย และเพลิดเพลิน ขณะพักรอ ที่อาคารผู้โดยสาร

อาคารคลังสินค้า (CARGO TERMINAL)

            กิจการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นกิจการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะมีผลต่ออุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ อาคารคลังสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยสนับสนุนให้กิจการด้านนี้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากอาคารคลังสินค้า เป็นสถานที่เชื่อมต่อระหว่างการขนส่งสินค้าทางอากาศกับภาคพื้นดิน ดังนั้นอาคารจึงต้องมีสถานที่ที่เพียงพอ และมีการบริการด้านพิธีการต่างๆ รวมทั้งมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย

            โดยทั่วไปพื้นที่ของอาคารคลังสินค้าด้านหน้า จะมีพื้นที่ให้รถขนสินค้าจอดได้ สำหรับในอาคารเป็นสำนักงาน เพื่อดำเนินพิธีการรับส่งสินค้า และส่วนที่เป็นคลังสินค้า (WAREHOUSE) ซึ่งส่วนนี้จะมีลักษณะเป็นอาคารโล่งๆ เพราะต้องมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ สำหรับจัดวาง หรือเก็บสินค้าให้ได้จำนวนมากที่สุด โดยจะแบ่งออกเป็น พื้นที่สำหรับสินค้านำเข้า และส่งออก พื้นที่สำหรับสินค้า ที่อาจเน่าเสียได้ง่าย เป็นต้น ภายในคลังสินค้า มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ สำหรับใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับสำรองพื้นที่ การขนส่ง การให้ข้อมูล การออกเอกสารเกี่ยวกับการนำเข้า และส่งออก ตลอดจนการติดตั้งเครื่องมืออัตโนมัติ สำหรับใช้ในระบบจัดเก็บ และขนถ่ายสินค้า ภายในคลัง เป็นต้น

หอบังคับการบิน (CONTROL TOWER)

            มีลักษณะเป็นอาคารทรงสูง อาจอยู่ในเขตการบินหรือเขตนอกการบินก็ได้ ในสมัยก่อน หอบังคับการบินมักอยู่ในเขตการบิน แต่ต่อมา เนื่องจากพื้นที่ด้านเขตการบินมีจำกัด ประกอบกับมีวิวัฒนาการของเครื่องช่วยเดินอากาศ ดังนั้น ปัจจุบันจึงมักสร้างหอบังคับการบิน ในเขตนอกการบิน นอกจากนั้น หอบังคับการบินอาจอยู่ติดต่อกับอาคารผู้โดยสาร เช่นที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือแยกอยู่เป็นอาคารต่างหากก็ได้ ดังเช่นที่ท่าอากาศยานชางยีประเทศสิงคโปร์ แต่ที่สำคัญต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ปฏิบัติงานในหอบังคับการบินสามารถติดต่อสื่อสารกับเครื่องบินได้ และสามารถมองเห็นภาพในท่าอากาศยานได้ทุกจุด ดังนั้น ส่วนบนสุดของหอบังคับการบินจึงเป็นห้องมีกระจกล้อมรอบเพื่อให้มีมุมมองที่ชัดเจน

            ผู้ปฏิบัติงานในหอบังคับการบิน ที่ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับเครื่องบิน เรียกว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (AIR TRAFFIC CONTROLLERS) มีภารกิจสำคัญคือ กำหนดให้เครื่องบินอยู่ในเส้นทางตามทิศทาง และระยะสูงที่ต้องการ รวมทั้งจัดการจราจรให้เครื่องบินขึ้นลงด้วยความสะดวก และปลอดภัย อุปกรณ์ในหอบังคับการบินเป็นอุปกรณ์ทันสมัย เนื่องจากเครื่องบินมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ที่เป็นหัวใจคือ เรดาร์ ซึ่งจะให้ข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ เช่น ชื่อเรียกขานของเครื่องบิน ความสูงจริง ขณะเครื่องบินไต่ขึ้น หรือร่อนลง ระยะสูงที่กำหนดให้บิน ความเร็วของเครื่องบิน ทิศทางของเครื่องบิน เป็นต้น ข้อมูลจากจอเรดาร์นี้ จะถูกนำมาใช้ในการควบคุมจราจรทางอากาศ ให้เป็นไปโดยปลอดภัย นอกจากนั้นเรดาร์ยังสามารถให้ข้อมูลสภาพอากาศได้อีกด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้นักบินบินหลีกเลี่ยงจากตำแหน่งของสภาพอากาศ ที่จะเป็นอันตราย นอกจากเรดาร์แล้ว อุปกรณ์ในหอบังคับการบินยังมีวิทยุติดต่อสื่อสาร สำหรับติดต่อระหว่างพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศกับนักบิน และในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางวิทยุ จะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า ปืนสัญญาณแสง (LIGHT GUN) ใช้ส่งสัญญาณ โดยใช้แสงสว่างจากโคมไฟ ซึ่งมีลำแสงแคบ และความเข้มแสงสว่างสูง มีด้วยกัน ๓ สี คือ ขาว เขียว แดง เพื่อให้นักบินทราบว่า ได้รับอนุญาต หรือไม่อนุญาต จากหอบังคับการบิน ในการนำเครื่องบินลง ที่ท่าอากาศยาน

ถนนภายในท่าอากาศยานและที่จอดรถ


อาคารจอดรถ

ท่าอากาศยาน จะต้องจัดพื้นที่จอดรถ และถนนภายในท่าอากาศยานให้เพียงพอ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกต่อผู้ที่มาท่าอากาศยาน ซึ่งที่จอดรถสามารถจอดได้ ทั้งในระยะสั้น และจอดค้างคืนได้ นอกจากนั้น จะต้องติดตั้งป้ายบอกเส้นทางไปอาคารต่างๆ ในท่าอากาศยานให้ชัดเจน