เล่มที่ 23
วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :



โรงแสดงและเครื่องแต่งกายโนรา สมัยรัชกาลที่ ๕

ความหมายของละครรำ

            "ละครรำ" เป็นละครแบบหนึ่งของไทย คือ ละครประเภทที่เป็นนาฏศิลป์ ละครรำสมัยก่อนเรียกกันแต่เพียงว่า "ละคร" เพราะการเล่นละครสมัยก่อน ต้องมีรำ มีดนตรีประกอบ และมีบทร้องเล่าเรื่อง ครั้งต่อมาประมาณปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงนำเอาบทและรูปแบบการแสดงละครของชาวตะวันตก ที่เรียกว่า Play และ Farce มาแปลและดัดแปลง แล้วนำออกแสดงหลายเรื่อง เป็นเหตุให้เรียกละครไทย ที่แสดง มีการร้องรำอย่างเดิมว่า "ละครรำ" และเรียกละครที่แสดงด้วยคำพูด และท่าทางบนเวที มีฉากประกอบการแสดง และเปลี่ยนฉากไปตามท้องเรื่องว่า "ละครพูด" แต่ละครที่แสดงท่าทางแบบละครพูดนั้น ถ้ามีการร้องสลับด้วย หรือร้องล้วนๆ เรียกว่า "ละครร้อง"

            ละครรำของไทยมีหลายประเภท เช่น "ละครชาตรี" หรือละครโนราชาตรี อย่างเช่นที่เล่นกันในภาคใต้ เรียกกันว่า "โนรา" อย่าง ๑ ละครที่เล่นราชสำนัก เรียกว่า "ละครใน" อย่าง ๑ "ละครนอก" อย่าง ๑ ละครทั้ง ๓ อย่างนี้ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อธิบายกันมาแต่ก่อนว่า ละครในนั้นคือ ละครผู้หญิง มีได้แต่ของหลวง ส่วนละครที่เล่นกัน ในพื้นเมืองเรียกว่า ละครนอก แต่ก่อนนี้จะมีแต่ผู้ชายเล่น เพิ่งมีประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ผู้อื่นหัดละครผู้หญิงได้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่นั้นมาจึงได้มีละครผู้หญิงเกิดขึ้นนอกพระราชวัง ความที่อธิบายดังกล่าวมานี้ คงจะว่าไปตามสถานที่และเพศของผู้แสดง ทำให้ละครในกับละครนอก มีความแตกต่างกันในทำนองร้อง กระบวนการรำและเรื่องที่เล่น

            ละครในเล่นเพียง ๓ เรื่อง คือ เรื่องรามเกียรติ์ เรื่อง ๑ เรื่องอุณรุท เรื่อง ๒ กับเรื่องอิเหนา เรื่อง ๑ ไม่เล่นเรื่องอื่น แต่ก่อนมา แม้จะมีละครผู้หญิงของหลวงเล่นเรื่องอื่น นอกจาก ๓ เรื่อง ก็เรียกว่า เล่นละครนอก บทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์จากเรื่องอื่น เช่น สังข์ทอง และคาวี เป็นต้น เรียกว่า พระราชนิพนธ์ละครนอก

            ส่วนละครนอกนั้น ก็จะเล่นแต่เรื่องอื่น ไม่เล่นเรื่องรามเกียรติ อุณรุท อิเหนา แม้แต่ละครผู้ชายของเจ้านายสมัยก่อน เช่น ละครของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิทักษเทเวศร์ เป็นต้น เล่นเรื่องอิเหนาก็เรียกว่า เล่นละครในความแตกต่างจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้แสดงเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย (ดำรงราชานุภาพ : ตำนาน เรื่อง ละครอิเหนา น.๑-๒)