ภาพวาดจากจิตรกรรมฝาผนัง
วัดสุวรรณารามเขตบางกอกน้อยกรุงเทพฯ แสดงเครื่องดนตรีในสมัยโบราณ
ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครรำ
ปี่พาทย์ที่ไทยเรานำมาเล่นละครรำมี ๒ อย่าง ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือ ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครชาตรีอย่าง ๑ ปี่พาทย์สำหรับเล่นโขนละครในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่าง ๑
ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครชาตรี (โนราชาตรี)
เครื่องดนตรีมี ปี่ใน (ภาคใต้เรียกว่าปี่ต้น) กลองขนาดย่อมลูกเดียว โทน (ภาคใต้เรียกทับ) ๒ ลูก ฆ้องคู่ (ภาคใต้เรียกว่า โหม่ง) ฉิ่งและกรับ (ภาคใต้เรียกว่า แกระ)
ปี่พาทย์สำหรับเล่นโขนละครในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า คือ ปี่ ระนาด ตะโพน (คือ โทนสองหน้า) กลองและฆ้องวง
ละครชาตรีมีเครื่องทำเสียงสูงต่ำเป็นลำนำได้เพียงแต่ปี่อย่างเดียว แต่ปี่พาทย์เครื่องห้ามีเครื่องทำลำนำได้ ๓ อย่าง คือ ปี่ ระนาด และฆ้องวง
ละครที่เล่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนตลอดสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งละครหลวง และละครราษฎร์ ใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าทั้งสิ้น เพิ่งจะมาเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ขึ้นเป็นเครื่องใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะเกิดการเล่นเสภารับปี่พาทย์ สมัยรัชกาลที่ ๒ เสภาอย่างโบราณขับอย่างเล่านิทาน ไม่มีการส่งปี่พาทย์