ตั้งแต่ฝึกหัดศิษย์จนสามารถร้องบทไหว้ครูได้แล้ว ถ้ามีโอกาส ครูเพลงจะให้ออกเล่นเป็นลูกคู่ไปก่อน จะออกเล่นเป็นพ่อเพลง แม่เพลงหรือตัวคอรองยังไม่ได้ จึงต้องหัดเป็นลูกคู่ไปก่อน และท่องจำกลอนจนจำได้อย่างแม่นยำ และว่ากลอนในตอนนั้นๆ ได้คล่อง จึงหัดด้น หมายถึง หัดผูกกลอนขับร้องด้วย ปฏิภาณของตนเอง ครั้งแรกๆ ก็ร้องด้นเอากลอนที่ครูสอนให้ท่องเอาตรงนั้นมาต่อตอนนี้ เอาตอนนี้ไปต่อตอนโน้น ถึงจะตะกุกตะกักขลุกขลักและฟังแล้วน่ารำคาญ ไม่ค่อยคล่องก็ตาม แต่ครูก็จะปล่อยให้ด้นไปภายหลังก็คล่องขึ้นๆ และผูกกลอนร้องด้นได้อย่างชำนิชำนาญด้วยปฏิภาณของตนเอง ถ้ายังไม่ชาญสนามก็เป็นตัวคอรองไปก่อน เมื่อออกงานหลายๆ ครั้งจนจัดเจนขึ้นก็เป็นพ่อเพลงแม่เพลงได้ การเล่นละครครั้งโบราณก็คงจะมีลักษณะเดียวกัน เช่น โนราชาตรี ก็จะต้องท่องจำบทแล้วใช้ด้นกลอนมาก่อนเช่นเดียวกัน ภายหลังจึงมีผู้แต่งและเขียนบทลงเป็นตัวหนังสือ แล้วแต่บทให้ประณีต ใช้เล่นละครสืบมา
๒. ศิลปะทางดุริยางคดนตรี
เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของการเล่นละครรำ เพราะการขับร้องและดุริยางคดนตรีเป็นศิลปะสำคัญที่มีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตของประชาชนคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เห็นได้จากประเพณีเลี้ยงลูกของคนไทยโบราณ เมื่อลูกเกิดใหม่พ่อแม่คิดประดิษฐ์ถ้อยคำขับร้องเป็นเพลงกล่อมลูก
"นอนไปเถิดแม่จะกล่อม นวลละม่อมแม่จะไกว แม่อย่าร้องไห้ สายสุดใจ เจ้าแม่เอยฯ"
ถ้าเป็นลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็จะมีพิธีบรรเลงดุริยางคดนตรีขับกล่อม ด้วยบทเห่ในพระราชพิธีขึ้นพระอู่ เช่น ในบทละครเรื่องอุณรุท กล่าวถึงพระพี่เลี้ยงเชิญพระกุมารลงพระอู่แล้วอยู่งานช้า กล่อมให้บรรทมด้วยเพลง "ช้าลูกหลวง" การเห่กล่อมพระบรรทมที่สืบทอดกันมา เริ่มต้นด้วยทำนอง "ช้าลูกหลวง" ซึ่งเป็นทำนอง ที่ได้มาจากลัทธิพราหมณ์ เป็นทำนองที่มีจังหวะยืดยาวไม่มีจังหวะหน้าทับ แต่มีการสีซอสามสายคลอ เป็นเครื่องดนตรีประกอบ พร้อมกับการไกวบัณเฑาวะว์ เมื่อข้าหลวงหรือพระพี่เลี้ยงขับกล่อมไปจนจบวรรคหนึ่งๆ ซอสามสายก็จะรับเช่นนี้เรื่อยไป
เมื่อดุริยางคดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยทุกระดับเป็นปกติเช่นนี้ ในการรื่นเริงบันเทิงสนุกสนานของคนไทยจึงย่อมจะขาดดุริยางคดนตรีไปเสียมิได้ ดุริยางคดนตรีย่อมจะเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการละเล่นระบำรำฟ้อน การแสดงละครรำของชนชาวไทยสืบมาแต่ดึกดำบรรพ์ ดุริยางคดนตรีสมัยโบราณก็คงใช้การตบมือให้จังหวะและตีโกร่ง ตีกรับ ประกอบการฟ้อนรำ เช่น การละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ตามชนบท แล้วต่อมาจึงคิดประดิษฐ์เครื่องดุริยางคดนตรีขึ้นเองบ้าง เช่น กลอง และเอาแบบอย่างมาจากชาติอื่นบ้าง เช่น เครื่องปี่พาทย์ ซึ่งคงจะเอาแบบอย่างมาจาก "ปัญจดุริยางค์" ของอินเดียเป็นหลัก แล้วดัดแปลงต่อมาจนเป็นปี่พาทย์เครื่องคู่และปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในปัจจุบัน วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนและละครนั้นใช้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบ ส่วนเพลงที่บรรเลงประกอบการำของโขนละครที่ไม่ใช้บทร้องนั้นเรียกกันมาว่า "เพลงหน้าพาทย์" และเพลงหน้าพาทย์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครโดยทั่วไปนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น ๘ จำพวก คือ
ก. ประกอบกิริยาไปและมา
ข. ประกอบการเตรียมยกทัพ
ค. ประกอบการสนุกสนานเบิกบานใจ
ง. ประกอบการสำแดงฤทธิ์เดช
จ. ประกอบการรบหรือต่อสู้
ฉ. ประกอบการแสดงความรักที่เรียกในภาษาละครว่า "เข้าพระเข้านาง"
ช. ประกอบการนอน
ซ. ประกอบการเศร้าโศก และยังมีรำใช้บทหรือรำบทอีกอย่างหนึ่ง
๓. ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ หรือนาฏศิลป์
ท่ารำที่นำมาจากสิ่งธรรมชาติ
(ที่มา : ภาพเขียนจากตำราฟ้อนรำ) :พระจันทร์ทรงกลด
ท่ารำที่นำมาจากสิ่งธรรมชาติ
(ที่มา : ภาพเขียนจากตำราฟ้อนรำ) :บัวชูฝัก
ซึ่งเป็นหัวใจของการแสดงระบำและละครรำ การฟ้อนรำ หรือนาฎศิลป์ ย่อมประกอบด้วยท่าทางเคลื่อนไหว หรือกิริยาอาการ ซึ่งท่านคณาจารย์ทางนาฏศิลป์ได้คัดเลือกนำมาประยุกต์ขึ้น เป็นท่าฟ้อนรำ ท่าบางท่า ก็เอามาจากกิริยาท่าทางของมนุษย์ เช่น ท่ารำแม่บทในตำราฟ้อนรำของไทยหลายท่า เช่น ท่าที่เรียกว่าสอดสร้อยมาลา พิสมัยเรียงหมอน นางกล่อมตัว และโจงกระเบนตีเหล็ก เป็นต้น ท่าบางท่าก็เอามาจากกิริยาท่าทางของสัตว์ เช่น ท่าเรียกในตำราฟ้อนรำว่า สิงโตเล่นหาง แขกเต้าเข้ารัง นกยูงฟ้อนหาง กวางเดินดง ท่าชะนีร่ายไม้ หงส์ลินลา และท่าฟ้อนรำบางท่าก็นำมาจากสิ่งธรรมชาติ อย่างเช่น ท่าที่เรียกในตำราฟ้อนรำว่า ลมพัดยอดตอง บัวชูฝัก เครือวัลย์พันไม้ พระจันทร์ทรงกลด ท่ารำของไทยนั้น แม้จะเอามาจากกิริยาท่าทางของมนุษย์ สัตว์และสิ่งธรรมชาติ ตลอดจนบางท่าที่เราเลียนแบบมาจากต่างชาติ แต่ก็ได้ประดิษฐ์ดัดแปลงให้เข้ากับหลักแห่งความเชื่อถือ ประกอบด้วยจารีตประเพณีและวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย ซึ่งถือเป็นแบบฉบับสืบมา ฉะนั้น ท่าระบำรำฟ้อนของนาฏศิลป์ไทย แม้จะดูห่างไกลไปจากกิริยาท่าทางและสิ่งธรรมชาติจริงๆ ไปบ้าง ก็พึงทราบว่าท่านมิได้นำเอามาโดยตรง หากแต่ได้เลียนเอามา แล้วมีการประดิษฐ์ดัดแปลงให้เป็นศิลปะที่งดงามเพริศพริ้งยิ่งขึ้นอีกด้วย
ท่ารำที่นำมาจากสิ่งธรรมชาติ
(ที่มา : ภาพเขียนจากตำราฟ้อนรำ) :เครือวันข์พันไม้
ท่ารำที่เลียนแบบจากกิริยาท่าทางของมนุษย์
(ที่มา : ภาพเขียนจากตำราฟ้อนรำ) :เทพประนม
ท่ารำหรือนาฏศิลป์ของไทยนั้น เป็นการประดิษฐ์ขึ้นให้เห็นงามด้วยความคิดฝันเป็นจินตนาการ ท่ารำของโขนละครไทยจึงเป็นอย่างวิถีแห่งกวี หลักการในเรื่องศิลปะของไทยเรา เป็นเรื่องที่ควรพิจารณานำมาศึกษาในด้านจิตใจหรือเจตนารมณ์ แล้วจะมีความเข้าใจ และเมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว ก็จะซาบซึ้งในรสของศิลปะเป็นอย่างดี ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ศิลปะของไทยนั้นหลายอย่างหลายประการเราเลียนมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะท่ารำหรือนาฏศิลป์ เราเลียนมาจากกิริยาท่าทางของคนและสัตว์ บางท่าเลียนมาจากธรรมชาติ แต่เมื่อเราเลียนมาแล้ว เราเอามาประดิษฐ์ให้เป็นศิลปะที่งดงามตามลีลา ท่ารำ และเยื้องกรายให้เข้ากับท่วงทำนองขับร้องและดนตรี เช่น จะชี้นิ้วก็มีท่ายกแขนวาดข้อมือแล้วชี้นิ้ว ศิลปินคนใดทำได้สวยงามก็จะน่าดูมาก การรำซ้ำท่าหรือทำนองดนตรีที่มีลีลาซ้ำก็เป็นแบบแผนประเพณีนิยมของไทย เป็นการย้ำซ้ำจังหวะซึ่งถือว่าเก๋ ในศิลปะทางวรรณคดีของไทยยังใช้คำซ้ำ เช่น พะพราย ยะยิ้ม ยะแย้ม บางครั้งยืดเสียง เช่น เพราะ-ไพเราะ ฯลฯ แต่ก็มิได้ซ้ำเฉยๆ หากแต่มีการพลิกแพลง ถ้าดูและฟังด้วยความเข้าใจก็จะรู้สึกว่างดงามและไพเราะ ผู้ดูผู้ฟังจำต้องใช้ความคิดและปัญญาโดยสร้างจินตนาการของตนเองตามไปด้วย ถ้าทราบหลักการและจารีตประเพณีของไทย แล้วตั้งใจและใช้ความสังเกตเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้สามารถติดตามเรื่องและเข้าใจความหมาย ทั้งอาจมองเห็นไปถึงจิตใจอันประณีตแจ่มใสของประชาชนคนไทย ซึ่งแฝงอยู่ในศิลปะที่สวยงามเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ท่ารำที่เลียนแบบจากกิริยาท่าทางของมนุษย์
(ที่มา : ภาพเขียนจากตำราฟ้อนรำ) :พรหมสี่หน้า
ท่ารำที่เลียนแบบจากกิริยาท่าทางของมนุษย์
(ที่มา : ภาพเขียนจากตำราฟ้อนรำ) :พิศมัยเรียงหมอน
ฉะนั้น สถานที่สำหรับแสดงโขนละครฟ้อนรำของไทยแต่โบราณ จึงไม่มีฉากประกอบจะมีแต่ม่านกั้น มีช่องประตูเข้าออก ๒ ข้าง หลังม่านเป็นที่พักของผู้แสดงโขนและละคร ข้างหน้าม่านออกมามีเตียงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับให้โขนละครตัวสำคัญนั่ง หรือนอน หรือยืนตามแต่บท ถัดออกมาเป็นที่ว่าง จะปูเสื่อหรือพรมก็ได้ตามแต่ฐานะ สำหรับให้ตัวโขนละครนั่ง ยืน เดิน หรือรบพุ่งต่อสู้กัน ตามแต่จะมีบทบอกให้แสดง ถ้าเป็นละครนอก เมื่อยังไม่ถึงบท ผู้เล่นจะไปนั่งอยู่กับคนดูก็ได้
ตัวโขนละครในท้องเรื่องจะอยู่ในปราสาท ราชวัง ในสวรรค์วิมานในป่าเขาลำเนาไพร ใต้บาดาล หรือท้องทะเลมหาสมุทร จะเหาะเหินเดินอากาศ หรือว่ายน้ำลงเรือ ก็คงอยู่ที่บนเตียงและบริเวณหน้าม่านนั่นเอง แต่คนดูก็สามารถสร้างจินตนาการ หรือความคิดเห็นติดตามเรื่องไปได้ อย่างสนุกสนาน หรือโศกซึ้งตรึงใจ โดยอาศัย บทร้อง บทเจรจา กับเพลงปี่พาทย์ ดุริยางคดนตรี และ กิริยาท่าทางของตัวละครและโขน แสดงว่า ประชาชนคนไทยสมัยก่อน มีจินตนาการสูงมาก สามารถติดตามเรื่องการแสดง โขนละครได้เป็นอย่างดี โดยมิต้องอาศัยสูจิบัตร