เรื่องที่ใช้ในการแสดงละครรำ
บทละครสมัยกรุงศรีอยุธยา :สังข์ทอง
บทละครสมัยกรุงศรีอยุธยา :พระสุธน-มโนห์รา
เรื่องที่ใช้ในการแสดงละครรำมักนำมาจากชาดกบ้าง นิทานพื้นเมืองบ้าง เช่น ละครชาตรี นำเอาเรื่องพระสุธนนางมโนห์รามาจาก สุธนกุมาราวทาน ในคัมภีร์ชาดกสันสกฤตชื่อ ทิวยาวทาน เช่นที่ท่านผู้แต่งคัมภีร์ปัญญาสชาดกนำเอาไปแต่งเป็นชาดกภาษาบาลี ชื่อ สุธนชาดก อีกต่อหนึ่งนั่นเอง ส่วนเรื่องรถเสนนั้นนำเอานิทานพื้นเมืองเรื่องพระรถเสนและนางกังรี เช่นที่มีกล่าวในพงศาวดารล้านช้างไปแต่งขึ้น แต่ละครรำของไทยมิได้แสดงกันอยู่เพียงเรื่องมโนห์ราและรถเสน เพียง ๒ เรื่องนี้เท่านั้น มีบทละครสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายเรื่อง บทละครนอกสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติหลายเรื่อง (แต่ไม่บริบูรณ์สักเรื่องเดียว) บทละครนอกสมัยกรุงศรีอยุธยา ๑๔ เรื่อง คือ
เรื่องการะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริวงศ์ นางมโนห์รา โม่งป่า มณีพิไชย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต
นอกจากนี้ ยังมีบทละครนอกสำนวนกลอนเป็นของเก่าก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒ อยู่อีก ๕ เรื่อง คือ ไกรทอง โคบุตร ไชยเชษฐ์ พระรถและศิลป์สุริวงศ์
เรื่องสำหรับใช้เป็นบทละครนี้ เมื่อขยายการแสดงให้หรูหราโอฬารขึ้น ก็ต้องมีผู้แสดงมากขึ้น การแสดงละครตามบทกลอนในเรื่องเหล่านี้ มีการนำเอาศิลปะต่างๆ เข้ามาใช้ประกอบการแสดงด้วย เช่น ศิลปะทางกวีนิพนธ์ กล่าวคือ กลอนบทละครซึ่งแต่งเป็นกลอนแปด มีกำหนดหน้าพาทย์ ฯลฯ