เล่มที่ 23
ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พันธุ์ไม้ที่ใช้ทำสีย้อมผ้า

ฝาง (Caesalpinia sappan Linn.)

            ฝางเป็นไม้พุ่มใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ซึ่งผลัดใบในช่วงเวลาสั้นๆ และแตกใบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว มีหนามแข็งโค้งทั่วไปทั้งต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกคล้ายหางนกยูงไทย ดอกสีเหลือง ๕ กลีบ ออกดอกเป็นช่อ ที่ยอดและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ฝักกว้างสั้นรูปขอบขนานปลายตัด และมีติ่งจะงอย แหลมอยู่มุมหนึ่งขนาดยาว ๗-๑๒ ซม. เมื่อแก่ ฝักจะมีสีน้ำตาลแกมแดง พบขึ้นเป็นกลุ่มตามภูเขาหินปูน ที่แห้งแล้ง และชายป่าดิบแล้งทั่วๆ ไป ฝางออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน หลังจากนั้น ประมาณ ๓ เดือน ฝักก็จะแก่ ชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียก ได้แก่ ฝางส้ม ฝางเสน และหนามโค้ง การขยายพันธุ์ทำได้ ทั้งเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง

            คนไทยรู้จักใช้แก่น และเนื้อไม้ฝาง ซึ่งมีสีเหลืองอมส้ม ย้อมผ้าฝ้าย และผ้าไหม ให้เป็นสีแดง อย่างสวยงามมาแต่โบราณ

            มีบันทึกว่า สมัยอยุธยา ซึ่งไทยมีการติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ได้มีการส่งไม้ฝางไปเป็นของขวัญ ถวายพระเจ้ากรุงจีน และขณะเดียวกันก็ส่งเป็นสินค้าออกไปขายทั้งในญี่ปุ่นและจีนด้วย นับว่าฝางเป็นของที่มีค่ามากอย่างหนึ่งตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน มีการส่งเสริมการใช้สีย้อมผ้าที่ได้ จากธรรมชาติ ฝางจึงได้รับความสนใจนำมาปลูก และใช้ย้อมผ้ากันมากขึ้น

            แก่นไม้ฝางยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอีกประการหนึ่ง คือ การนำมาทำน้ำยาอุทัย สำหรับผสมน้ำเย็นให้มีสีสวย ดื่มแก้กระหายให้ความชื่นใจ เป็นที่นิยมของคนไทย สีชมพูเข้มของน้ำยาอุทัย เป็นสีที่สดใสมาก แต่ปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะสลายตัวง่าย ไม่สะสมในร่างกาย ตำรายาไทยใช้แก่นฝาง เป็นยาบำรุงโลหิต ขับประจำเดือน ใช้เป็นยาภายนอกรักษาน้ำกัดเท้าและแก้คุดทะราด

ต้นฝาง
กรรณิการ์ (Nyctanthes arbor-tristis Linn.)

            กรรณิการ์เป็นไม้ดอกหอม ที่มีปลูกในเมืองไทยมา ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ผู้ใดนำเข้ามา

            กรรณิการ์เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๓ เมตร มีขนคายตามกิ่งก้านและใบ กิ่งมักเป็นสี่เหลี่ยม โดยเฉพาะกิ่งอ่อน ใบเดี่ยว ขนาด ๒.๕-๔ ซม. x ๕-๙ ซม. รูปไข่ หรือรูปใบหอกปลายใบแหลม ขอบใบเป็น รอยจักตื้นๆ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ดอกสีขาวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ ซม. ออกดอกเป็นช่อสั้น ทั้งที่ปลายกิ่ง และซอกใบ ดูผิวเผินคล้ายดอกมะลิ แต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่า ตัวหลอดกลีบดอกสีส้ม หรือสีแสด ปลายแยกเป็น ๕-๗ กลีบ กลีบบิดเวียนคล้ายกังหัน ปลายกลีบหยักเว้า เป็น ๒ แฉกไม่เท่ากัน กรรณิการ์จะออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ดอกบาน และมีกลิ่นหอมใน เวลากลางคืน และเช้าผลแบน รูปร่างค่อนข้างกลม ปลายผลมีติ่งแหลมเล็กน้อย ในแต่ละผลมีเมล็ด ๒ เมล็ด

            ดอกกรรณิการ์มีทั้งความสวย และกลิ่นหอม คนไทยจึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกในที่ได้รับแสงแดดมาก และดินดี ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ดตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง ชาวฮินดูถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มักปลูกไว้ ตามโบสถ์และใช้ดอกบูชาพระ คนไทยไม่ใช้ดอกกรรณิการ์บูชาพระ อาจเป็นเพราะดอกบานในเวลากลางคืน ไม่สะดวก ในการเก็บ พอตอนเช้าดอกก็จะร่วงอยู่ตามดิน คนไทยก็จะไม่เก็บมาบูชาพระอีก เพราะร่วงลงสู่พื้นแล้ว

            หลอดกลีบดอกสีแสดใช้ย้อมผ้าไหมให้มีสีเหลือง หรือสีส้ม สวยงาม เปลือกมีสารฝาด และเป็นสมุนไพร ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดศีรษะ ใบใช้เป็นยาแก้ไข้และโรคปวดตามข้อ รากเป็นยาบำรุงกำลัง และยังสามารถสกัด น้ำมันหอมระเหยจากดอกนำไปใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย

ดอกมะลิ
ดอกกรรณิการ์

มะเกลือ (Diospyros mollis Griff.)

            มะเกลือเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับมะพลับ และตะโก เป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป พบมากในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ต้นที่โตเต็มที่ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร เปลือกต้นสีดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ใบเดี่ยวรูปรี ปลายแหลม ยาวเพียง ๔-๕ ซม. ดอกสีเหลืองมี ๔ กลีบ ขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมมาก แยกเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ผลกลม ผิวเกลี้ยง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. สีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ มะเกลือออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน และติดผลระหว่าง เดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

            ในสมัยก่อน ผ้าสีดำที่คนไทยใช้ จะย้อมด้วยมะเกลือ โดยชาวบ้านย้อมกันเอง ผ้าย้อมมะเกลือสีดำสนิท สวยงาม ถ้ายิ่งซักหลายครั้ง จะยิ่งดำเป็นมัน แต่จะมีกลิ่นมะเกลือด้วยเสมอ ดังเช่นที่สุนทรภู่เขียนไว้ ในนิราศภูเขาทอง

            แก่นไม้มะเกลือมีสีดำสนิท เนื้อละเอียดแต่แข็งและทนทานมาก มีน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย ใช้ทำเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดนตรีได้ดีมาก นอกจากนี้ มะเกลือยังมี คุณค่าทางสมุนไพร ผลมะเกลือดิบเป็นยาขับพยาธิที่คนไทยรู้จักใช้กันมานาน โดยใช้ผลมะเกลือจำนวนเท่าอายุ เด็กที่ป่วย ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือเล็กน้อย แล้วรับประทาน หรือคั้นน้ำ แล้วผสมกับน้ำกะทิรับประทานเป็นยาขับพยาธิ ต้องทำแล้วรับประทานทันที อย่าปล่อยให้เป็นสีดำ เพราะอาจ เป็นพิษทำให้ตามัว หรือตาบอดได้ นอกจากนี้ ยังมีการสกัดสารที่มีฤทธิ์ขับพยาธิจากผลมะเกลือนำมาผลิต เป็นยาเม็ดสำเร็จรูปใช้รับประทาน แต่มีรายงานว่า ผู้ใช้บางรายเกิดอาการตามัว หรือตาบอดจากยานี้เช่นกัน

กิ่งและผลมะเกลือ