พันธุ์ไม้ที่ใช้ในการประทินผิว
ขมิ้น
ต้นและเหง้าขมิ้นอ้อย
ขมิ้นเป็นพืชหัวที่คนไทยมักปลูกกันไว้ตามบ้าน เพราะใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งใช้เป็นยาและปรุงแต่งอาหาร ที่นิยมใช้กันมากคือ การนำผงขมิ้นมาละลายน้ำ ทาผิว หลังจากอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ จะ ทำให้ผิวผ่องเป็นสีเหลืองนวล แก้ผดผื่นคัน และรักษาโรคผิวหนังไปด้วย ผู้ที่ใช้ผงขมิ้นทาผิวได้แก่ เด็กและผู้หญิง
ขมิ้นเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับขิง ข่า และกระชาย สูง ๓๐-๙๐ ซม. มีเหง้าใต้ดิน เนื้อในเหง้า สีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม มีกลิ่น ต้นขมิ้น มีลักษณะเป็นกอ ใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ รูปใบหอก ดอกช่อมี ก้านอวบ เจริญเติบโตจากเหง้าโผล่ขึ้นมาตรงซอกใบใกล้กลางกอ ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีใบประดับสี เขียวอ่อน หรือสีนวลเรียงซ้อนขึ้นมาเป็นชั้น ดอกสีเหลืองอ่อนๆ อยู่ตรงซอกใบประดับ
ขมิ้นที่นิยมปลูกกันมี ๒ ชนิด คือ ขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn.) และขมิ้นอ้อย (Curcuma zedoria Rosc.) ลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ขมิ้นอ้อยมีต้นสูงกว่า เหง้าและใบใหญ่กว่า เหง้าบางส่วนมักโผล่ขึ้นเหนือดิน เนื้อในเหง้าสีเหลือง ส่วนขมิ้นชัน เหง้ามักเป็นรูปไข่ และมีแขนง เป็นทรงกระบอก เนื้อในเหง้าสีเหลืองอมส้ม ขมิ้นทั้ง ๒ ชนิด ให้สีเหลืองสด ใช้ย้อมผ้า และย้อมจีวรพระได้
ตำราไทยใช้เหง้าขมิ้นชันรักษาโรคผิวหนังแก้ผื่นคัน จากการวิจัยพบว่า มีน้ำมันหอมระเหย และสารบางชนิด ซึ่งยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบัน มีการผลิตเป็นยารักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ และแผลในกระเพาะอาหาร ส่วนขมิ้นอ้อยใช้เหล้าแก้ท้องร่วง อาเจียน แก้ไข้
บานเย็น (Mirabilis jalapa Linn.)
ต้นของบานเย็นมีลักษณะเป็นพุ่ม
ไม้ดอกต้นเล็กๆ วงศ์เดียวกับเฟื่องฟ้า มีดอกสีสวย และบานในเวลาเย็น เป็นไม้ประดับที่ปลูกกันตามบ้านทั่วๆ ไป ต้นสูง ๓๐-๕๐ ซม. แตกแขนงเป็นพุ่มเตี้ยๆ มีรากพองเป็นหัวใต้ดิน ใบเดี่ยวรูปหัวใจ หรือคล้ายรูปสามเหลี่ยมปลายเรียวแหลม ออกเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อละ ๒-๕ ดอก แต่ จะทยอยกันบาน ดอกบานเย็นเป็นรูปกรวย ปลายดอกเป็น ๕ หยัก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ประมาณ ๓ ซม. กลีบดอกบางและนิ่ม มีหลายสี เช่น ชมพู แดง เหลือง ขาว ส้ม และสองสีปนกัน พันธุ์ดอกสีชมพูเข้ม เป็นที่รู้จัก และนิยมมาก จนมีชื่อเรียกสีชมพูเข้มแบบนั้นว่า สีบานเย็น ผลค่อนข้างกลม ผิวขรุขระ เมื่อแก่มีสีดำ มีเมล็ด ๑ เมล็ด
เมล็ดบานเย็นมีรูปร่างค่อนข้างกลม ภายในมีแป้งสีขาวเป็นผงละเอียด ผู้หญิงไทยรู้จักใช้ผัดหน้า ให้ผิวสวย และไม่เป็นสิว
มีหลักฐานว่า หญิงชาวจีนและญี่ปุ่นเคยใช้แป้งชนิดนี้ผัดหน้าแก้สิว เช่นเดียวกัน
บานเย็นมีถิ่นกำเนิดในเปรู สันนิษฐานว่า นำเข้ามาในไทย ในสมัยแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือก่อนหน้านั้น มีปลูกกันทั่วไป จนเป็นที่รู้จักคุ้นเคย และอาจคิดว่า เป็นไม้พื้นเมืองของไทย ดอกบานเย็นเริ่มบานประมาณ ๑๖.๐๐ น. และบานเรื่อยไปจนถึงเช้าจึงจะหุบ ดังนั้นที่คนไทยเรียกว่า บานเย็น จึงเป็นชื่อที่ เหมาะสม และสื่อความหมายได้ดีมาก ทางภาค เหนือเรียกว่า จำยาม หรือ ตามยาม ซึ่งหมายถึง เวลาบานของดอกเช่นเดียวกัน
ใบของบานเย็น มีลักษณะใบเดี่ยว รูปหัวใจ