พันธุ์ไม้ดอกหอมที่ใช้งานประดิษฐ์และบูชาพระ
พุทธชาด (Jasminum auriculatum Vahl.)
ไม้รอเลื้อยวงศ์เดียวกับมะลิชนิดนี้ มีชื่ออื่นๆ อีก ได้แก่ ไก่น้อย พุทธชาติ บุหงา และปะหนัน ใบเป็นใบประกอบชนิด ๓ ใบย่อย ซึ่งมักจะลดรูปลง เหลือเพียงใบเดียว บางใบอาจพบใบย่อยด้านข้างที่ลดรูปลงเหลือเป็นแผ่นเล็กๆ สีเขียว ๑-๒ แผ่น แผ่นใบรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ยาวเพียง ๒-๓ ซม. มีขนนุ่มๆ ดอกเป็นช่อโปร่ง ที่ปลายกิ่ง และซอกใบ ดอกสีขาวคล้ายมะลิลา แต่ขนาดเล็กกว่า เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑-๑.๕ ซม. ดอกจะบาน และเริ่มส่งกลิ่นหอม ตั้งแต่ตอนเย็นเรื่อยไป กลิ่นหอมแรงกว่าดอกมะลิ ผลกลมเล็กๆ เมื่อสุกมีสีดำรสหวาน เมล็ดกลม แข็ง สีดำ นำมาร้อยเป็นสร้อยลูกปัด สวมเล่นได้
พุทธชาดนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปทุกภาค โดยปลูกคลุมตามซุ้ม ในที่ค่อนข้างแจ้ง เพราะเจริญเติบ โตได้ดี ในที่ที่มีแสงแดดมาก ปลูกง่าย โดยใช้กิ่งตอน หรือกิ่งที่ปักชำ และออกดอกตลอดปี
ดอกพุทธชาดนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย หรือมาลัยรูปสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น กระแต ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ผู้หญิงไทยสมัยก่อน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในวังจะได้รับการสอน และฝึกหัด จนสามารถร้อยได้แทบทุกคน มาลัยที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ จะนำไปบูชาพระ หรือวางไว้ในห้องนอน
ซุ้มพุทธชาด
มะลิ (Jasminum spp.)
ดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยมากชนิดหนึ่งคือ ดอกมะลิ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันตลอดมา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้รับยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของความดีและความบริสุทธิ์ ในวรรณคดีไทยมีการกล่าว ถึงมะลิหลายชนิด ได้แก่ มะลิลา มะลิซ้อน มะลิวัลย์ และมะลุลี ซึ่งล้วนอยู่ในวงศ์เดียวกัน
มะลิลา (Jasminum sambac Ait.)
ทางภาคเหนือเรียกมะลิชนิดนี้ว่า มะลิป้อม เป็นไม้พุ่มเล็กๆ ที่ปลูกกันทั่วไปตามบ้าน เพราะออกดอกดกเกือบทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูร้อน และฤดูฝน มะลิลามีใบเดี่ยว รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ปลายใบ แหลมออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ดอกสีขาวออกเป็นช่อเล็กๆ ๑-๓ ดอก ที่ปลายกิ่ง และซอกใบ กลีบเลี้ยงเป็นเส้นแหลมๆ ๘-๑๐ เส้น กลีบดอกเชื่อมเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕-๘ กลีบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอก ๒-๓ ซม. ดอกจะเริ่มบาน และมีกลิ่นหอมในเวลาเย็น มะลิลาไม่ติดผล จึงขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนกิ่ง หรือปักชำกิ่ง และปลูกในที่แจ้ง แดดจัด
คนไทยใช้ดอกมะลิลาที่ปลูกไว้ตามบ้านลอยน้ำที่ใช้ล้างหน้า ลอยในน้ำเย็น สำหรับดื่ม ลอยในน้ำหวาน หรือน้ำเชื่อมใส่ขนม เพื่อให้มีกลิ่นหอมชื่นใจ นอกจากนั้น ยังใช้อบใบชาให้มีกลิ่นหอมอีกด้วย ปัจจุบัน มีการปลูกมะลิลาเพื่อเก็บดอกขาย ทำรายได้ให้เกษตรกรได้ดีมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาวมะลิออกดอกน้อยจึงมี ราคาแพงมาก ไม่ควรใช้ดอกมะลิที่ขายตามตลาดแต่งหน้าขนม หรือใส่ในน้ำเชื่อม เพราะอาจมียาฆ่าแมลงเจือ ปน ควรใช้เฉพาะการร้อยพวงมาลัย หรืองานประดิษฐ์ต่างๆ เท่านั้น การร้อยพวงมาลัยดอกมะลิ เพื่อใช้บูชาพระ หรือมอบให้ผู้ที่เคารพ เป็นสิ่งที่คนไทยนิยมกระทำมา ตั้งแต่ในอดีต ดังปรากฏในวรรณคดี
ดอกมะลิลา
ดอกมะลิวัลย์
มะลิซ้อน (Jasminum sambac Ait.)
มะลิซ้อนเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกับมะลิลา แต่ต่างพันธุ์กัน ขนาดของพุ่มจะใหญ่และสูงกว่ามะลิลา ดอกเดี่ย วหรือเป็นช่อ ๒-๓ ดอก กลีบดอกสีขาวซ้อนกันหลายชั้น คล้ายกุหลาบดอกเล็กๆ เส้นผ่าน ศูนย์กลาง ๒-๓ ซม. ดอกจะบานและมีกลิ่นในเวลาเย็น แต่กลิ่นหอมน้อยกว่ามะลิลา นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ตามบ้าน หรือใช้ดอกปักแจกันบ้าง บูชาพระบ้าง ไม่ใช้ในการอบกลิ่นหรือร้อยมาลัย คนไทยใช้ดอกมะลิซ้อน เป็นสัญลักษณ์วันแม่แห่งชาติ
ทั้งมะลิลา และมะลิซ้อน มีสรรพคุณทางสมุนไพรเหมือนกัน ดอกแห้งใช้ปรุงยาหอมบำรุงหัวใจ และแก้โรคลม ใบสด ตำให้ละเอียด ผสมน้ำมันพืช เป็นยาพอก หรือทารักษาแผลพุพอง ลำต้นใช้แก้โรคคุดทะราดและแก้ไข้
ดอกมะลิซ้อนที่บาน
มะลุลี (Jasminum pubescens Willd.)
มะลุลีเป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกับมะลิอีกชนิดหนึ่ง ที่มีดอกหอม มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น มะลิพวง มะลิเลื้อย มะลิซ่อม เป็นไม้รอเลื้อย กระจายพันธุ์อยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบปลูกอยู่ทั่วไป เป็นที่นิยม เพราะปลูกง่ายเจริญเติบโตเร็ว ออกดอกตลอดปี และจะออกดอกมากเป็นพิเศษประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ มะลุลีมีใบเดี่ยว รูปไข่ ปลายใบแหลม ใบดกมาก จึงปลูกคลุมซุ้มไม้ได้ดี ดอกเป็นช่อ แน่นตามปลายกิ่งและซอกใบ มีสีขาว แต่ละช่อมีมากกว่า ๑๐ ดอกขึ้นไป จึงเห็นเป็นช่อใหญ่สวยงาม มีขนนุ่มๆ โดยเฉพาะที่กลีบเลี้ยงซึ่งเป็นแฉกแหลมๆ ลักษณะของดอกคล้ายมะลิลา แต่กลีบแคบยาว และปลายแหลมกว่า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒.๕-๓ ซม. ใช้ทั้งช่อเป็นดอกไม้บูชาพระ กลิ่นหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน คล้ายกลิ่นมะลิวัลย์

ช่อดอกมะลุลี
พิกุล (Mimusops elengi L.)
พิกุลเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียและพม่า ในประเทศไทย พบอยู่ตามธรรมชาติ ในป่าทางภาคใต้ และภาคตะวันออก นอกจากนั้นส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ที่ปลูกประดับ เพื่อให้ร่มเงา และให้กลิ่นหอม สมัยก่อนมักปลูกพิกุลตามวัด
พิกุลเป็นไม้ต้น สูง ๖-๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นรูปเจดีย์ ใบดกแน่นค่อนข้างทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี หรือรูปไข่ ปลายใบแหลม กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. สีเขียวเข้ม เป็นเงางาม ออกดอกตลอดทั้งปี เป็นช่อสั้นๆ ๒-๓ ดอก ตามซอกใบ ดอกกลมมีกลีบหยักแหลมๆ อยู่โดยรอบ กลีบดอกมีจำนวนมากถึง ๒๔ กลีบ และเรียงซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น สีขาวนวลส่วนกลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอ่อนเป็นจักแหลมๆ ๘ อัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์ กลางดอก ๑-๑.๕ ซม. ลักษณะการเรียงตัวของกลีบดอกพิกุลนี้ มีความงดงามละเอียดอ่อน จึงมีการนำมาเป็น แบบลวดลายของเครื่องประดับ ลายผ้าทอ และลายเครื่องจักสาน เรียกกันว่า "ลายดอกพิกุล"
พิกุลออกดอกเกือบตลอดปี ดอกมีกลิ่นหอมแรง และทนทาน เมื่อแห้งแล้ว ก็ยังคงมีกลิ่นหอม ดอกบานตอนเช้ามืด และร่วงในตอนกลางวัน ผลรูปไข่ปลายแหลม ยาว ๒-๓ ซม. เมื่อสุกมีสีส้มหรือแสด เนื้อสีเหลือง รสหวานปนฝาด รับประทานได้ ขยายพันธุ์ได้ทั้งการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
การที่คนไม่นิยมปลูกพิกุลตามบ้าน เพราะบางคนถือว่า กลิ่นดอกพิกุลเป็นกลิ่นของความเศร้า ไม่ควรนำมาอยู่ใกล้ตัว ปัจจุบันความคิดความเชื่อเหล่านี้ คงน้อยลงมากแล้ว เพราะมีการปลูกพิกุลทั่วไป แม้ แต่ตามบ้าน
ดอกพิกุลใช้ร้อยพวงมาลัย และมาลัยรูปสัตว์ เก็บไว้ได้นาน ใช้อบผ้า และใช้ผสมกับดอกไม้หอมชนิดอื่นๆ ทำเป็นบุหงา ในวรรณคดีมักกล่าวถึงเสมอ
นอกจากคุณค่าดังกล่าวข้างต้นแล้ว พิกุลยังเป็นสมุนไพร ดอกใช้ปรุงยาหอม ยานัตถุ์ และเป็นหนึ่งในเกสรทั้ง ๕ ทั้ง ๗ และทั้ง ๙ เปลือก

ต้นพิกุลมีเรือนยอดเป็นรูปเจดีย์