ประวัติของการโคลนนิ่ง
โดยปกติการสืบพันธุ์ของคนหรือสัตว์ต้องอาศัยการผสมกันระหว่างตัวอสุจิกับไข่ หลังจากผสมกันแล้วจะแบ่งตัวพัฒนาเป็นตัวอ่อน แล้วคลอดออกมาเป็นคนหรือสัตว์ ซึ่งจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนพ่อและแม่อย่างละครึ่ง แต่การโคลนนิ่ง จะต่างจากการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ เพราะการโคลนนิ่งเป็นกระบวนการสร้างสิ่งมีชีวิต ให้มีลักษณะทางกายภาพ และพันธุกรรม เหมือนกัน โดยไม่ต้องใช้เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (อสุจิ) และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย (ไข่) มาผสมกัน แต่จะนำเซลล์จากสัตว์ ที่ต้องการโคลนนิ่งมาใช้เป็นเซลล์ต้นแบบ (donor cell) แล้วฉีดเข้าไปในไข่ที่กำจัดนิวเคลียสออกแล้ว ทำให้ลูกที่ได้มีเพศ และพันธุกรรมเหมือนกับเซลล์ต้นแบบ
ดร.เอียน วิลมุต หัวหน้าคณะวิจัยโคลนนิ่งแกะ "ดอลลี่"
การโคลนนิ่งเริ่มมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน คือ ดร.ทอมัส คิง (Thomas King) และคณะ ซึ่งได้ทำการทดลองโคลนนิ่งกบ โดยการแยกนิวเคลียสของตัวอ่อนกบออกมา และย้ายไปไว้ในไข่กบที่ยังไม่ปฏิสนธิ ซึ่งกำจัดนิวเคลียสออกไปแล้ว ผลปรากฏว่าไข่ดังกล่าว สามารถเจริญเติบโตขึ้นเป็นลูกอ๊อด ต่อมา นักวิจัยคณะนี้ ได้พัฒนาเทคนิคการโคลนนิ่ง ที่เรียกว่า การถ่ายโอนนิวเคลียส (nuclear transfer) ซึ่งวิธีนี้ยังคงเป็นที่นิยมใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ วิธีการโคลนนิ่งในช่วงแรกนิยมใช้เซลล์ของตัวอ่อนที่เกิด จากการปฏิสนธิตามธรรมชาติเป็นเซลล์ต้นแบบ ต่อมา นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ทำการทดลองโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยใช้เซลล์ตัวอ่อนของสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นเซลล์ต้นแบบ จนได้ลูกสัตว์โคลนนิ่งเกิดมา ได้แก่ แกะ โค หนูถีบจักร แพะ หนูขาว กระต่าย ลิงวอก ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า เซลล์ร่างกายนั้น ไม่สามารถนำมาโคลนนิ่งเพื่อผลิตสัตว์ตัวใหม่ให้เกิดมาได้ แต่จากความพยายามในการวิจัย โดยการใช้เซลล์ร่างกายเป็นเซลล์ต้นแบบ เพื่อการโคลนนิ่ง ผู้บุกเบิกจนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ ดร.เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) และคณะ ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ที่สถาบันวิจัยรอสริน ประเทศสกอตแลนด์ ได้รายงานการเกิดมาของ "ดอลลี่" (Dolly) ลูกแกะโคลนนิ่งจากการใช้เซลล์เต้านมของแกะโตเต็มวัยที่มีอายุ ๖ ปีเป็นเซลล์ต้นแบบ จากนั้นเป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ศึกษาวิจัยทดลองนำเซลล์จากส่วนต่างๆ ของร่างกายในสัตว์อีกหลายชนิดมาทำเป็นเซลล์ต้นแบบ จนได้ลูกสัตว์เกิดมา เช่น โค กระบือ สุกร แมว ม้า ล่อ กระทิง หนูขาว หนูถีบจักร กระต่าย เฟอร์เร็ต* (ferret)
*สัตว์จำพวกหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายพังพอน เลี้ยงไว้สำหรับไล่กระต่าย และหนู