ความสำเร็จของการโคลนนิ่งในประเทศไทย
เทคนิควิธีการโคลนนิ่งโคดังที่กล่าวมา มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากนำไปใช้จนประสบความสำเร็จอย่างแพร่หลาย สำหรับประเทศไทยสามารถโคลนนิ่งลูกโคจากเซลล์ใบหูโคพันธุ์แบรงกัสเพศเมีย ได้ลูกโคชื่อว่า อิง เกิดเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ นับเป็นลูกโคโคลนนิ่งตัวแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตัวที่ ๖ ของโลก นอกจากนี้ ยังมีลูกโคพันธุ์บราห์มันเทาเพศเมีย ชื่อว่า นิโคล เกิดเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ จากการใช้เซลล์ใบหูโคบราห์มันเทาเพศเมีย ลูกโคทั้งอิงและนิโคลเป็นผลงานของดร.รังสรรค์ พาลพ่าย และคณะ ขณะปฏิบัติงาน ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อิง (ตัวสีดำ) ลูกโคโคลนนิ่งตัวแรกของประเทศไทย
ต่อมาได้มีการโคลนนิ่งโดยใช้เซลล์ใบหูโคพันธุ์บราห์มันเทาเพศผู้ชื่อว่า ตูมตาม เป็นเซลล์ต้นแบบ ได้ลูกโคโคลนนิ่งจำนวน ๗ ตัว เกิดมา ระหว่างวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึง ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และยังมีลูกโคโคลนนิ่ง จากเซลล์ใบหูโคพันธุ์บราห์มันแดงเพศเมีย เกิดมา ๕ ตัว และลูกโคโคลนนิ่งจากเซลล์ใบหูโคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชียนเพศเมีย เกิดมา ๓ ตัว รวมทั้งใช้เซลล์ใบหูโคต้นแบบเพศผู้ชื่อว่า ดอยอินทนนท์ มาผลิตลูกโคโคลนนิ่งพันธุ์ขาวลำพูนเพศผู้ชื่อว่า ขาวมงคล เกิดมาเป็นตัวแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และ เศวต เกิดมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งลูกโคโคลนนิ่งที่ได้ทั้งหมดเป็นผลงานของ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย และคณะ จากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี