มะเร็งต่อมลูกหมาก
โดยปกติเซลล์ต่อมลูกหมากมีเซลล์เกิดใหม่และเซลล์ที่ตายไปในอัตราที่เท่าๆ กัน จึงทำให้ต่อมลูกหมากคงขนาดเท่าเดิม การเกิดและการสลายตายไปของเซลล์นี้เป็นปกติในเกือบทุกระบบในร่างกาย เรียกว่า แอพอปโทซิส (apoptosis) เป็นกระบวนการตายของเซลล์รูปแบบหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้เป็นลักษณะปกติเสมือนหนึ่งร่างกายคนเรามีการตั้งโปรแกรมเอาไว้ จึงทำให้อวัยวะของร่างกายไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนาด เมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงในด้านฮอร์โมนเพศ อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น แต่เป็นการโตปกติตามช่วงอายุ โดยค่อยๆ โตขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งกีดขวางการไหล ของน้ำปัสสาวะ ทำให้มีความผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเล็กลง ปัสสาวะไม่หมด หรืออาจถ่ายปัสสาวะไม่ออก การโตของต่อมลูกหมากตามอายุนี้ เรียกว่า "ต่อมลูกหมากโต" (Benign prostatic hyperplasia) ซึ่งหมายความว่า ต่อมลูกหมากโตชนิดธรรมดา ไม่ได้เป็นมะเร็ง และสามารถพบได้ทั่วไปคือ เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้น จนอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไป จะมีอาการผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ ปัสสาวะลำบาก การโตของต่อมลูกหมากในลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นอาการเริ่มแรกของโรคมะเร็ง เซลล์ต่อมลูกหมากสามารถกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการโต ของต่อมลูกหมากแต่อย่างใด โดยอาจแทรกอยู่ในเนื้อต่อมลูกหมากที่โตตามปกติได้ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่เป็นมะเร็ง จนทำให้เซลล์มีลักษณะที่ผิดปกติไปจากเซลล์ทั่วไป คือ มีอัตราการแบ่งตัวที่รวดเร็ว มีความสามารถที่จะลุกลามไปสู่ส่วนอื่นๆ และยังสามารถกระจายตัวผ่านได้ทั้งทางเดินน้ำเหลืองและทางกระแสเลือด เมื่อเซลล์กลายเป็นมะเร็ง ต่อมลูกหมากจะโตมากขึ้น และมีลักษณะที่ผิดปกติ คือ แข็ง ตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งแตกต่างจากการโตตามปกติที่เรียบและมีความนุ่ม มะเร็งต่อมลูกหมากสามารถกระจายตัวผ่านได้ทางท่อน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองต่างๆ และไปยังกระดูกผ่านทางกระแสเลือด
๑. ความชุกชุมของมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับที่ ๑ ในเพศชาย ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในยุโรป เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ ๒ อัตราการตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในแต่ละเชื้อชาติมีความแตกต่างกัน ดังแสดงในตาราง
จะเห็นได้ว่า อัตราการตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในประชากรแต่ละเชื้อชาติและสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน พบว่า เมื่อมีการย้ายถิ่นฐาน เช่น ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ หรือชาวญี่ปุ่นที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา จะมีอัตราการพบมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังอยู่ในที่เดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นอกจากปัจจัยด้านเชื้อชาติแล้ว สิ่งแวดล้อม อาหาร วิถีการดำรงชีวิตก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย สำหรับสถิติในประเทศไทยนั้นอาจยังไม่ชัดเจน แต่จากรายงานใน พ.ศ. ๒๕๕๑ มีอัตราการพบ ๕.๕ คนต่อประชากรชาย ๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งยังห่างจากสถิติของประเทศอื่นมาก จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นลำดับที่ ๕ ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อายุที่มักจะพบคือ ๖๐-๗๐ ปี และพบน้อยมากในอายุต่ำกว่า ๕๐ ปี
๒. ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่า มีปัจจัยบางประการ ที่ทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากขึ้น ได้แก่
๑. กรรมพันธุ์ หากมีประวัติคนในครอบครัว เช่น ปู่ บิดา พี่ชาย เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก สูงมากกว่าคนทั่วไป
๒. เชื้อชาติ สายพันธุ์ พบว่าในชนชาติทางตะวันตกจะมีอัตราการพบมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าชาวเอเชีย
๓. อาหารที่มีไขมันสูง หากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ จะมีปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มากกว่าอาหารที่มีไขมันต่ำ
๔. แสงแดด ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิตามินดี พบว่า ประเทศที่มีปริมาณแสงแดดน้อยๆ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย มีอัตราการพบมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า
๓. อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้นจึงจะปรากฏอาการ เนื่องจาก การที่ก้อนเนื้อกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าปัสสาวะไม่พุ่ง ลำเล็ก ต้องเบ่งปัสสาวะ แต่อาการดังกล่าว ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็งก็มีอาการเช่นเดียวกัน หากอาการมากขึ้น คือ ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะหรือเข้าสู่ถุงเก็บน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ ผู้ป่วยอาจปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีอสุจิปนเลือด เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้นอาจกดท่อไตส่วนปลายทำให้ปัสสาวะไหลลงมาไม่ได้ จะมีอาการไตวาย เช่น บวม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน การกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้ขาบวมจากการอุดกั้นของท่อน้ำเหลือง แต่กระดูกจะเป็นจุดที่มะเร็งต่อมลูกหมากกระจายมา ทำให้มีอาการปวดกระดูกตรงจุดที่มะเร็งกระจาย เช่น บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน ซี่โครง ถ้ากระดูกสันหลังที่มะเร็งต่อมลูกหมากกระจายมาทรุดหรือหัก อาจกดไขสันหลังทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต มีอาการชาขยับขาไม่ได้ กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ปัญหานี้ หากแก้ไขได้รวดเร็ว จะทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันกาลจะทำให้ผู้ป่วยพิการ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม
๔. การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรกไม่ปรากฏอาการ ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยจึงมุ่งค้นหาผู้ที่เป็นมะเร็งในระยะแรก คือ ผู้ชายที่ไม่มีอาการใดๆ หรือมีอายุที่น่าจะพบมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า มะเร็งต่อมลูกหมากในคนไทยมักจะพบ เมื่ออายุประมาณ ๖๐-๗๐ ปี แต่มีข้อมูลที่ศึกษาการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง พบว่า จากมะเร็งก้อนเล็กๆ และโตจนกระทั่งเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยจะใช้เวลาประมาณ ๑๐ ปี ดังนั้น ช่วงอายุที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองหามะเร็ง น่าจะอยู่ในช่วงอายุ ๔๕-๕๐ ปี แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็ควรได้รับการตรวจเร็วขึ้น เช่น อาจตรวจตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี ส่วนผู้ที่มีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากดังที่กล่าวมาแล้ว ยิ่งมีความจำเป็นต้องตรวจว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น สิ่งสำคัญคือ การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายโดยทั่วไป ประการสำคัญคือ การคลำต่อมลูกหมาก แพทย์จะสวมถุงมือโดยใช้สารหล่อลื่นช่วย แล้วสอดนิ้วเข้าไปทางช่องทวารหนัก การตรวจลักษณะนี้ แพทย์สามารถบอกถึงขนาดของต่อมลูกหมาก ผิวของต่อมลูกหมากว่า ตะปุ่มตะป่า แข็งมากผิดปกติหรือไม่ หรือมีการลุกลาม ออกสู่อวัยวะข้างเคียงหรือไม่
การตรวจต่อมลูกหมาก
การตรวจเลือดหาค่าพีเอสเอ (Prostate Specific Antigen: PSA) ซึ่งเป็นสารที่ผลิตจากต่อมลูกหมาก สามารถตรวจพบได้ ในกระแสเลือด สามารถบอกถึงโอกาสที่จะพบมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่การเพิ่มขึ้นของพีเอสเอ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก ค่าปกติที่ยอมรับโดยทั่วไปของพีเอสเอ คือ ๐-๔ นาโนแกรม/มิลลิลิตร (nanogram/ml) ถึงแม้ค่าพีเอสเอจะสูงกว่าปกติ ยังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบบริเวณต่อมลูกหมาก การกระทบกระเทือน เช่น การสวนปัสสาวะ หรือการส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ แม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ ยังทำให้ค่าพีเอสเอสูงเช่นกัน หรือแม้แต่ผู้ชายที่มีอายุมากกว่ามักจะมีผลเลือดสูงกว่าผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า กล่าวคือ ค่าพีเอสเอเพิ่มขึ้นตามอายุ ดังนั้น ค่าพีเอสเออย่างเดียวยังไม่เพียงพอในการยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก จะต้องมีการเจาะชิ้นเนื้อและนำชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ดังนั้น จึงได้คิดวิธีการที่ทำให้ค่าพีเอสเอ มีความเจาะจงมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยไม่จำเป็น เช่น การตรวจหาค่าฟรีพีเอสเอ (free PSA) ซึ่งเป็นพีเอสเอ ที่ยังเป็นอิสระ ไม่ได้จับกับสารอื่นใด ค่าพีเอสเอเดนซิตี (PSA density) ซึ่งเป็นการคำนวณหาค่าพีเอสเอ เมื่อเทียบกับปริมาตรต่อมลูกหมาก และหาอัตราการเพิ่มของค่าพีเอสเอต่อปี ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อค้นหา สิ่งที่จะใช้ทำนายการตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมาก ยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตหวังว่าจะมีสาร ที่สามารถใช้ทำนายโอกาสการตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากได้ดีกว่าค่าพีเอสเอ
การเจาะชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องทวารหนัก แล้วใช้เข็มที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเจาะต่อมลูกหมาก เพื่อนำเอาชิ้นเนื้อเล็กๆ ส่งให้พยาธิแพทย์ตรวจวินิจฉัยต่อไป ขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญที่สามารถจะวินิจฉัยได้ว่า เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ และพยาธิแพทย์ยังสามารถจัดลำดับความรุนแรงของเซลล์ ที่สามารถทำนายความก้าวร้าวและโอกาสที่อาจเป็นอันตราย หรือการลุกลามของมะเร็งได้อีกด้วย การจัดลำดับที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันเป็นวิธีของโดนัลด์ เอฟ. เกลียสัน (Donald F. Gleason) แพทย์ชาวอเมริกัน โดยการจัดลักษณะของเซลล์เป็นลำดับจาก ๑-๕ โดยที่เซลล์ในลำดับน้อยๆ จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยกว่า พยาธิแพทย์จะนำเอาลำดับของเซลล์ที่พบบ่อยที่สุดในชิ้นเนื้อของผู้ป่วย มารวมกับที่พบบ่อยเป็นลำดับ ๒ ในชิ้นเนื้อนั้นๆ ก็จะได้ค่าตัวเลขที่เรียกว่า คะแนนเกลียสัน (Gleason score) คะแนนเต็ม ๑๐ กล่าวคือ มีแต่เซลล์ลำดับที่ ๕ ทั้งสิ้น จึงนำเอา ๕ มาบวกกับ ๕ คะแนนต่ำสุด ๒ ซึ่งหมายถึง ลำดับที่ ๑+๑ ตัวอย่างในการรายงาน หากเซลล์ที่พบมากที่สุด คือ เกรด ๕ และเซลล์ที่พบลำดับที่ ๒ คือ เกรด ๓ จะรายงานว่า Gleason grade 8 (๕+๓) ยิ่งคะแนนมาก มะเร็งจะมีความก้าวร้าวมาก มีโอกาสลุกลาม กระจายตัวได้เร็วและรุนแรง
แสดงการจัดระยะเซลล์มะเร็งแบบเกลียสัน
การตรวจทางรังสี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ไม่ได้ใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่จะช่วยให้รายละเอียดก่อนการรักษา เช่น การผ่าตัด หรือการให้รังสีรักษา
การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วย เป็นการตรวจเพื่อค้นหาว่ามะเร็งมีการกระจายไปหรือไม่ วิธีที่นิยมปฏิบัติกันคือ การตรวจสแกนกระดูก (Bone scan) โดยการฉีดสารบางชนิดที่สามารถใช้กล้องพิเศษจับภาพได้ เข้าไปในร่างกาย เป็นการตรวจที่ให้ผลเร็วและไม่เจ็บปวด
ภาพแสดงผลการสแกนกระดูก
๕. การจัดระยะของโรค
การจัดระยะของโรคจะบ่งบอกว่ามะเร็งได้กระจายไปมากหรือน้อยเพียงใด ในปัจจุบันนิยมจัดระยะของโรคเป็นระบบ TNM ซึ่ง T หมายถึง ขนาดของก้อนมะเร็ง N หมายถึง การกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง M หมายถึง การกระจายไปยังอวัยวะอื่น แต่บางคนยังเคยชินกับการแบ่งระยะแบบเดิม คือ ระยะที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ซึ่งระยะที่ ๑ หมายถึง ก้อนมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ระยะที่ ๒ หมายถึง ก้อนใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามพ้นออกมาสู่ข้างนอก ระยะที่ ๓ หมายถึง กระจายสู่อวัยวะข้างเคียง และระยะที่ ๔ หมายถึง กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลจากต่อมลูกหมาก แต่การแบ่งแบบนี้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วยและญาติมาก เพราะระยะที่ ๔ เป็นระยะที่มากที่สุด ไม่มีระยะที่มากกว่านี้แล้ว จึงเข้าใจว่าเป็นระยะสุดท้าย ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นมะเร็งในระยะสุดท้าย แต่ในความเป็นจริงมะเร็งต่อมลูกหมากระยะนี้ยังรักษาได้ ถึงแม้ไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยยังสามารถมีอายุยืนยาวได้อีกหลายปี แม้ว่ามะเร็งจะกระจายไปแล้วก็ตาม การจัดระยะโรคนับว่า มีความจำเป็น เพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
๖. การรักษา
การพิจารณาให้การรักษาใดๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมีอยู่หลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค อายุของผู้ป่วย สุขภาพ และโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ การยอมรับของผู้ป่วยและญาติ ความพร้อมของบุคลากรและสถานที่นั้นๆ ยังไม่มีการรักษาใดๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย หากผู้ป่วยที่อายุมากมีมะเร็งขนาดเล็กและยังอยู่ในต่อมลูกหมาก อาจไม่ต้องทำการรักษา เพราะกว่าก้อนมะเร็งจะโตขึ้นจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาอีกนับ ๑๐ ปี ทั้งนี้ มีผลการวิจัยในต่างประเทศ ยืนยันการตรวจศพผู้สูงอายุที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น พบว่า มีมะเร็งต่อมลูกหมากซ่อนอยู่โดยที่ผู้นั้นไม่มีอาการใดๆ มาก่อนเลย ดังนั้น การพิจารณาเลือกวิธีการรักษาใดๆ ในแต่ละรายจึงต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ผลดีและผลเสีย ก่อนตัดสินใจให้การรักษาผู้ป่วยแต่ละราย แต่การรักษาที่ดีในสถาบันชั้นนำทั่วโลกแนะนำให้การรักษาแบบสหสาขา ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ อายุรแพทย์ รังสีแพทย์ พยาธิแพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือบนฐานข้อมูล และสอบทานข้อมูลผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ได้แก่
๑. การเฝ้าติดตาม (active surveillance) จากที่ได้กล่าวแล้วว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก ด้วยสาเหตุอื่น หรือตรวจศพพบว่า มีมะเร็งต่อมลูกหมากซ่อนอยู่จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ขณะผู้ป่วยมีชีวิตไม่ได้มีอาการใดๆ และจากการศึกษาถึงการเจริญเติบโต ของก้อนมะเร็ง คาดว่าจากจุดเล็กๆ น่าจะใช้ระยะเวลานับ ๑๐ ปี ดังนั้น ในกรณีผู้ป่วยที่มีอายุมาก และคาดว่าจะมีอายุยืนยาวอีกไม่ถึง ๑๐ ปี หรือสุขภาพไม่ดีที่อาจมีปัจจัยเสี่ยงในการรักษา แพทย์สามารถพิจารณาวิธีการรักษาโดยการเฝ้าติดตามผู้ป่วยรายนี้ และนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะๆ เช่น การตรวจร่างกาย เช่น ตรวจเลือดหาค่าพีเอสเอ และเฝ้าระวังว่าจะเริ่มมีปัญหาจากมะเร็งหรือไม่ เพื่อพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่เหมาะสมจะเลือกวิธีนี้ในการรักษา ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากเกินกว่าอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ในประเทศไทย จากการสำรวจสำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๒ เพศชายอยู่ที่อายุ ๖๙.๕ ปี หากผู้ป่วยที่มีอายุเกินกว่าอายุคาดเฉลี่ยมาก และมีมะเร็งก้อนเล็กจึงควรเลือกใช้วิธีนี้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุน้อย หรือมีมะเร็งก้อนใหญ่ และมีอาการแล้ว ไม่อยู่ในเงื่อนไข ที่จะเลือกรักษาด้วยวิธีดังกล่าวนี้
๒. การผ่าตัด ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะต้นที่ก้อนมะเร็งยังคงอยู่ในต่อมลูกหมากนั้น แพทย์จะผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก แล้วนำเอาคอกระเพาะปัสสาวะมาเย็บต่อกับท่อปัสสาวะ การผ่าตัดสามารถทำได้ โดยการมีแผลผ่าตัด หรือการเจาะช่องเล็กๆ แล้วผ่าตัดผ่านกล้องวีดิทัศน์ หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ทั้ง ๓ วิธี
ศัลยแพทย์ควบคุมกล้องวีดิทัศน์
ในระหว่างการผ่าตัด
การผ่าตัดโดยมีแผลผ่าตัดทำได้ทั้งผ่านทางหน้าท้อง และผ่านทางฝีเย็บ ซึ่งอยู่ระหว่างอัณฑะกับช่องทวารหนัก ศัลยแพทย์จะใช้แผลนี้ เข้าไปผ่าตัด เอาต่อมลูกหมากออก ศัลยแพทย์สามารถสัมผัสกับบริเวณผ่าตัดโดยตรง ส่วนการผ่าตัดผ่านทางกล้องวีดิทัศน์จะผ่าตัดผ่านการเจาะรูเล็กๆ แล้วใช้กล้องที่มีการออกแบบมาเป็นพิเศษสอดเข้าไปผ่าตัด ทั้งนี้ ศัลยแพทย์ไม่ได้สัมผัสกับบริเวณที่ผ่าตัดโดยตรง ดังนั้น ต้องมีการฝึกฝน ให้ชำนาญ ข้อดีของการผ่าตัดผ่านวีดิทัศน์มีหลายประการ เช่น ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว นอนที่โรงพยาบาลระยะสั้นกว่า ส่วนการผ่าตัด โดยการใช้หุ่นยนต์ เป็นวิวัฒนาการที่ต่อยอดมาจากการผ่าตัด ผ่านทางกล้องวีดิทัศน์ ศัลยแพทย์จะควบคุมการผ่าตัดอยู่ข้างๆ เตียงผ่าตัด การขยับเคลื่อนไหวของกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัด จะควบคุมด้วยหุ่นยนต์ การทำงานละเอียดกว่าและได้ผลดีดีกว่า อย่างไรก็ดี การผ่าตัดผ่านกล้องวีดิทัศน์และหุ่นยนต์ จะต้องมีการลงทุน เกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ ซึ่งมีราคาแพงและต้องใช้เวลาในการฝึกฝนศัลยแพทย์ ดังนั้น โรงพยาบาลโดยทั่วไป อาจยังไม่มีความสามารถในการผ่าตัดแบบนี้ การผ่าตัดแบบมีแผลจึงยังคงใช้เป็นมาตรฐาน
ข้อดีของการผ่าตัด เพื่อการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก คือ เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีในมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ก้อนมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก หากการผ่าตัดสามารถนำเอาก้อนมะเร็งออกได้หมดจะเป็นผลดีมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว เท่ากับญาติพี่น้องที่ไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนข้อเสียคือ เป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องดมยาสลบ ใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว แม้จะใช้กล้องวีดิทัศน์ก็ตาม การนอนที่โรงพยาบาลแม้จะสั้นกว่า แต่ก็ยังต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นต่อที่บ้าน จนกว่าจะปฏิบัติภารกิจตามปกติได้ อาการข้างเคียงจากการดมยาสลบและการผ่าตัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับสุขภาพ และโรคประจำตัว ของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย อาการข้างเคียงที่สำคัญ ได้แก่ การกลั้นปัสสาวะ และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งนี้เนื่องจาก ต่อมลูกหมากจะมีกล้ามเนื้อหูรูดแนบติดกันอยู่ ซึ่งเป็นกลไกการกลั้นปัสสาวะ เมื่อผ่าตัดออกจึงกระทบต่อการกลั้นปัสสาวะ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและประสบการณ์ของศัลยแพทย์ด้วย หากยุ่งยากในการผ่าตัดหรือขาดความระมัดระวัง จะทำให้มีภาวะการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แต่ถ้าผ่าตัดด้วยความระมัดระวังจะทำให้ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้เป็นเพียงชั่วคราว ส่วนปัญหาด้านสมรรถภาพทางเพศจะเกี่ยวเนื่องกับเส้นประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ซึ่งอยู่ชิดกับต่อมลูกหมาก หากการผ่าตัดกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาทนี้จะมีผลทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้