เล่มที่ 40
มะเร็งต่อมลูกหมาก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อาหารและการดูแลสุขภาพ

            จากการวิจัยมีหลักฐานยืนยันว่า อาหารบางชนิดสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือสามารถป้องกันการเป็นมะเร็งกลับซ้ำภายหลังการรักษา ได้แก่

การดื่มไวน์แดง

            กล่าวกันว่ามีส่วนในการป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สามารถยับยั้งการโต ของมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เมื่อศึกษาในคน ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่า ไวน์แดงสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก และยับยั้งการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งนี้ ผลของการยับยั้งเซลล์มะเร็งน่าจะเกี่ยวกับตัวต้านออกซิเดชัน (antioxidant)

น้ำชาเขียว และใบชาเขียว

ชาเขียว

            มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลเสรี ซึ่งผลจากการศึกษา สังเกต และเฝ้าติดตาม เชื่อว่า สามารถลดอัตราการพบและการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ควรได้รับในปริมาณเท่าใดต่อวัน

น้ำมะเขือเทศ

            มีสารที่เรียกว่า ไลโคพีน (lycopene) สามารถชะลอการเจริญของเซลล์ต่อมลูกหมาก จึงน่าจะช่วยชะลอการลุกลาม ของมะเร็งต่อมลูกหมาก สารไลโคพีนจะแตกออกจากเซลล์มะเขือเทศหลังจากการปั่นหรือผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม ส่วนการเคี้ยวธรรมดาไม่ทำให้สารนี้แตกออกมาได้ ดังนั้น การรับประทานผลมะเขือเทศจึงไม่ได้ผลเท่ากับการดื่มน้ำมะเขือเทศ

น้ำมะเขือเทศ และผลมะเขือเทศ

น้ำทับทิม

มีการศึกษาและสังเกตว่า ผู้ที่ดื่มน้ำทับทิมทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากโตช้าลง

บรอกโคลี

อาจทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากโตช้าลง

ถั่วเหลืองและนมถั่วเหลือง

น่าจะทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากโตช้าลง ทั้งนี้ เพราะมีผลคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงบ้าง หรืออาจด้วยเหตุอื่นที่ยังไม่ชัดแจ้ง


            ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงและลดปริมาณลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดง ซึ่งเชื่อกันว่า อาจมีส่วนทำให้มะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามเร็วขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พอดี เพราะมีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่สามารถลดน้ำหนักลงจากเดิมจะมีอัตราการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก ช้ากว่าผู้ป่วยที่ยังมีน้ำหนักเกิน อีกประการหนึ่งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่มากเกินไป จนทำให้ร่างกายอ่อนล้า เช่น การเดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ วันละไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓-๕ วัน และควรรับแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้ป่วย