เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในประเทศไทย มี ๖๔ จังหวัดเกือบทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมค่าเสียหายมากถึง ๑.๔ ล้านล้านบาท ซึ่งเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น หากเราพัฒนาเมืองและเขตอุตสาหกรรม ให้อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง การไม่เคารพธรรมชาติ และการใช้ที่ดินไม่ตรงกับสมรรถนะและศักยภาพของที่ดิน ก่อให้เกิดปัญหาที่แก้ไขได้ค่อนข้างยาก แต่ปัญหาเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน จึงมีการตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดมนุษย์จึงไม่พัฒนาเมืองและเขตอุตสาหกรรมในบริเวณที่ดินไม่ดี แต่น้ำไม่ท่วม และปลอดจากภัยธรรมชาติ แล้วช่วยกันรักษาที่ลุ่มดินอุดมสมบูรณ์ไว้ให้แก่เกษตรกร มนุษย์ละเลยไม่นำปัจจัยธรรมชาติมาใช้ในการพัฒนาถิ่นที่อยู่ของตนเอง ใช่หรือไม่
เมืองที่สร้างบนพื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะกับการทำนา อาจเกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ควรมีการวางแผนภูมิทัศน์ โดยการเลือกแผนที่ที่เหมาะสมพัฒนาเป็นเมือง
ภูมิสถาปัตยกรรมเป็นวิชาชีพที่เน้นการวิเคราะห์และประเมินลักษณะของผืนแผ่นดินว่าเป็นอย่างไร ส่วนใดมีความเหมาะสมกับการใช้สอยประเภทใด ส่วนใดควรสงวนรักษาไว้ แล้วจึงลงมือวางผังและออกแบบถิ่นที่อยู่ รวมทั้งที่ทำมาหากินให้กลมกลืนกับธรรมชาติและระบบนิเวศ ซึ่งแนวคิดนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาและคำถามพื้นฐานข้างต้น นอกจากนี้ ภูมิสถาปัตยกรรมยังเน้นความสำคัญด้านสุนทรียภาพหรือความงาม ทั้งที่เป็นความงามของธรรมชาติหรือภูมิประเทศ และความงามในสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมีศัพท์บัญญัติว่า สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built environment) ดังนั้น ภูมิสถาปัตยกรรมจึงเป็นสาขาการออกแบบวางผังทางกายภาพ (สิ่งที่จับต้องได้) ที่เชื่อมระหว่างการผังเมืองและสถาปัตยกรรม ที่โยงยึดกับธรรมชาติ
สะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี
ภูมิทัศน์ที่เป็นมลพิษ ทางทัศนียภาพ
แต่หากคำนึงในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการควบคุม
ก็ควรมีการก่อสร้างอาคารหลังต้นไม้ หรือปลูกต้นไม้เป็นกลุ่ม
ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนส่งผลให้ภูมิอากาศแปรปรวนและทวีความรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมวลมนุษย์ ดังนั้น การลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศจึงมีความสำคัญ ภูมิสถาปัตยกรรมเป็นสาขาวิชา ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ และการสร้างความร่มรื่นเขียวขจีให้เกิดขึ้นทั้งในเมืองและในชนบท บางประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และหลายประเทศในทวีปยุโรป ได้ออกกฎข้อบังคับให้ปลูกต้นไม้บนหลังคา ที่เรียกว่า หลังคาเขียว (Green roof) และมีนโยบายลดภาษีให้แก่อาคารที่สร้างผนังเขียว (Green wall) เพื่อลดความร้อนเข้าสู่ภายในอาคาร นอกจากนี้ การปลูกต้นไม้จำนวนมากในเมือง ยังช่วยลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศได้มากด้วย ดังนั้น งานภูมิสถาปัตยกรรมจึงมีบทบาทสำคัญมากกว่าในอดีต