ความหมาย ความเป็นมา และขอบเขตของงานภูมิสถาปัตยกรรม
ภูมิสถาปัตยกรรม หมายถึง การนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะมาใช้ร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกลางแจ้ง ซึ่งมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง ปลอดภัย และสวยงาม สร้างปีติให้แก่ผู้พบเห็น หรือผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือดัดแปลงจากธรรมชาติ งานภูมิสถาปัตยกรรมเอื้อให้มนุษย์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ร่มรื่น สวยงาม ไม่แออัด และปราศจาก มลพิษทางทัศนียภาพ (Visual pollution)
สิ่งแวดล้อมอันร่มรื่นและสวยงามที่มนุษย์สร้างขึ้น
เราอาจสังเกตเห็นบ้านเมืองที่สวยงามน่ามองได้จากภาพในหนังสือหรือในภาพยนตร์ รวมทั้งจากการเดินทางไปเยือนสถานที่ ที่มีความสวยงามประทับใจ สร้างความทรงจำที่ดี ในทางตรงข้ามสถานที่ที่รกรุงรังหรือเต็มไปด้วยความน่าเกลียดนั้น ทำให้เรารู้สึกหดหู่และหงุดหงิด สิ่งที่ดีและไม่ดี ดังกล่าวนี้ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อเราสร้างสิ่งใดขึ้นในสิ่งแวดล้อม ของเราเอง เหตุใดเราจึงไม่ตระหนักถึงความสำคัญด้านความงามและประสิทธิภาพในการใช้สอยพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม รวมทั้งความมั่นคง ปลอดภัยควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจด้วย
สวนแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ภูมิสถาปัตยกรรมมีประวัติความเป็นมาว่าเกิดขึ้นนานแล้ว เดิมเน้นเฉพาะด้านความสวยงาม โดยการดัดแปลงภูมิประเทศ ให้สวยงาม มองแล้วเกิดปีติซาบซึ้ง งานภูมิสถาปัตยกรรมในระยะแรก ส่วนใหญ่จึงเป็นอุทยานของกษัตริย์ สวนของขุนนางหรือคหบดี ระยะเวลาก่อนหน้านั้น เมื่อมนุษย์หยุดเร่ร่อนและตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ก็ได้รวบรวม พืชสมุนไพรมาปลูกรวมกัน แล้วสร้างรั้วล้อมไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มากัดกินหรือทำลาย ต่อมาสมุนไพรบางชนิดออกดอกสวยงาม จึงนิยมปลูกกันมากขึ้น และกลายเป็นสวน เพื่อจรรโลงใจ ที่มาของคำว่า garden ซึ่งแปลว่า สวน นั้น มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า gardin, jardin ซึ่งแปลว่า บริเวณที่มีรั้วล้อม ดังนั้น สวนจึงมีขอบเขตเฉพาะ ซึ่งต่างจากภูมิทัศน์ ที่ไม่มีขอบเขตและเป็นภาพรวมของพื้นที่ ตามที่สายตามองเห็น
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่
๑. ความเป็นมาในสากล
ในสมัยโบราณ ถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ห่างไกลกันมากและยังไม่มีพาหนะ ที่ทำให้ไปมาหาสู่กันได้สะดวก วิวัฒนาการของแต่ละอารยธรรม จึงแตกต่างกันไป ตามลักษณะของภูมิประเทศและภูมิอากาศ ลักษณะเฉพาะ หรือรูปแบบของสวน ก็เช่นเดียวกัน โดยแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สวนตะวันออก (Oriental garden) และสวนตะวันตก (Occidental garden หรือ Formal garden) ดังจะได้กล่าวต่อไป
สวนซูโจวจำลองในสวนหลวง ร.๙ รัฐบาลจีนสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา
จีนเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่มีอารยธรรมผูกพันกับลัทธิเต๋าซึ่งเคารพธรรมชาติ ดังนั้น สวนจีนจึงเน้นธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลัก อาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นองค์ประกอบรอง ไม่ให้อาคารข่มธรรมชาติ ตัวอย่างของสวนจีนโบราณที่มีชื่อเสียงคือ กลุ่มสวน แห่งเมืองซูโจว ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนและพัฒนาต่อเนื่องกันมามากกว่า ๘๐๐ ปี (พ.ศ. ๑๕๔๐-๒๓๔๐) และสวนจีนได้กลายเป็นต้นแบบของสวนญี่ปุ่น โดยที่ญี่ปุ่นประกอบด้วยหมู่เกาะที่แยกโดดเดี่ยวจากแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น รูปแบบของสวนจึงมีวิวัฒนาการเป็นของตนเองที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า เป็นสวนญี่ปุ่นจากองค์ประกอบย่อยที่สืบเนื่องมาจากนิกายเซ็น คือ ความเรียบง่ายที่แฝงด้วยปรัชญา แต่โดยรวมแล้วยังคงเป็นสวนที่แสดงถึงความเป็นสวนตะวันออก แม้จะมีการตัดแต่งไม้พุ่ม ให้มีรูปทรงละม้ายหินหรือเกาะแก่ง
ลักษณะโดดเด่นของสวนแบบญี่ปุ่น ซึ่งมีต้นแบบมาจากสวนจีน
ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่รับอารยธรรมจากกรีกและโรมันโบราณ โดยเฉพาะโรมันที่พยายามเอาชนะธรรมชาติ เช่น การนำรูปทรงเรขาคณิตมาใช้กับสวน การตัดแต่งทรงของต้นไม้ที่ผิดไปจากธรรมชาติ เมื่ออารยธรรมโรมันเสื่อมถอยลง ยุคคริสเตียนได้เข้ามาแทนที่ ในด้านรูปแบบของสวน สวนคริสเตียนยุคแรกไม่เด่นชัด เนื่องจาก ศาสนาคริสต์ถูกกดขี่ปราบปราม การแสดงออกในสิ่งปลูกสร้างภายนอกจึงมีน้อย อย่างไรก็ดี เมื่ออารยธรรมมุสลิมรุ่งเรืองและขยายอิทธิพลไปสู่โลกตะวันตกมากขึ้น ในยุคกลาง อาณาจักรคริสเตียนจึงตอบโต้และเกิดเป็นสงครามศาสนาที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า สงครามครูเสด ชาวมุสลิมได้ยึดครองประเทศสเปนนานมากกว่า ๑ ศตวรรษ และได้นำสถาปัตยกรรมและรูปแบบสวนเปอร์เซียมาก่อสร้าง เป็นจำนวนมาก ดังจะได้กล่าวต่อไป
ลาน "อาซีเคีย" รูปแบบสวนเปอร์เซีย ที่เมืองกรานาดา ประเทศสเปน
สวนเปอร์เซียต้นแบบของสวนตะวันตก
อารยธรรมของโลกเริ่มจากการหยุดเร่ร่อน และตั้งถิ่นฐานถาวร พึ่งพาการเพาะปลูก ไม่ย้ายถิ่น เป็นที่ยอมรับกันว่า เริ่มต้นแถบลุ่มน้ำไทกรีส-ยูเฟรตีสอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็คือ ประเทศอิรักในปัจจุบัน ชนเผ่าซูเมอร์นับเป็นพวกแรกที่มาตั้งถิ่นฐาน เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ ปีก่อน สืบต่อกันมาด้วยชาวบาบิโลน ชาวอัสซีเรีย และชาวเปอร์เซียในภายหลัง เนื่องจาก ลุ่มน้ำไทกรีส-ยูเฟรตีสเป็นที่ราบ ชาวบาบิโลนและชนชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยแทนจึงเชี่ยวชาญในเรื่องการทดน้ำ มีการขุดคลอง และคูส่งน้ำรูปแบบเรขาคณิตตามแปลงเพาะปลูกโดยมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว ซึ่งต่อมากลายเป็นต้นแบบของศิลปะเปอร์เซีย ดังสะท้อนให้เห็นในลวดลายของพรมเปอร์เซียที่มีชื่อเสียง สวนที่โดดเด่นในยุคนี้ได้แก่ สวนลอยบาบิโลน ที่กล่าวถึงในนิยายปรัมปรา ปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นแล้ว สำหรับรูปแบบของสวนมีการสันนิษฐานแตกต่างกันไป ที่เหมือนกันคือ เป็นสวนที่สร้างบนภูเขาเทียมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันเป็นชั้นๆ และปลูกต้นไม้สวยงามนานาพรรณ สวนเชื่อมกันด้วยทางลาด และมีการทดน้ำส่งขึ้นไปเพื่อรดต้นไม้ นอกจากนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญในเรื่องการทดน้ำที่สืบทอดกันมา สวนเปอร์เซียจึงนิยมใช้น้ำ เป็นส่วนประกอบของสวน ในรูปของน้ำไหลตามรางยาวที่มักบุด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงิน และน้ำพุ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญ ของสวนเปอร์เซียอีกประการหนึ่ง
สวนรูปแบบทรงเรขาคณิต ที่สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี
สงครามครูเสดอันยาวนานนับศตวรรษ ทำให้เกิดการถ่ายทอดด้านศิลปะ และวัฒนธรรม ระหว่างตะวันออกกลางกับยุโรป สวนที่มีรูปแบบเป็นทรงเรขาคณิต ดูไม่เป็นธรรมชาติ ได้กลายเป็นรูปแบบของสวนตะวันตกในเวลาต่อมา ตัวอย่างเช่น สวนพระราชวังแวร์ซาย (Jardins de Versailles)
ในซีกโลกตะวันออก การรุกรานยุโรปของชาวมองโกลและการค้นพบเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปกับจีนที่เรียกว่า เส้นทางสายไหม (Silk Road) ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างตะวันตกกับตะวันออกมากขึ้น ซึ่งเริ่มจากการเดินทางของ มาร์โก โปโล (Marco Polo) พ่อค้าและนักสำรวจชาวอิตาเลียน โดยทั่วไปแล้ว ไม่ปรากฏลักษณะธรรมชาติเด่นชัดในสวนของยุโรป บนแผ่นดินใหญ่ แต่จะมีความชัดเจนมากกว่าในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นเกาะโดดเดี่ยว แม้สวนขนาดเล็กที่มีรั้วปิดล้อมของอังกฤษ ยังคงปรากฏรูปแบบเรขาคณิตอยู่บ้าง แต่ในงานภูมิทัศน์มีความชัดเจน ภูมิทัศน์อังกฤษ (English landscape) ได้ปฏิเสธรูปแบบเรขาคณิตที่ไม่เป็นธรรมชาติ และพยายามซ่อนสิ่งปลูกสร้าง ที่ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ สวนอังกฤษจึงได้รับอิทธิพลจากภาพเขียนทิวทัศน์ชนบท (landscape paintings) ของยุโรป โดยเฉพาะ ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย) หรือ ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๐ เป็นต้นมา ซึ่งมีการสร้างสวนอังกฤษที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก
อารยธรรมมุสลิมได้เผยแพร่สู่ภูมิภาคตะวันออกเข้าไปในอนุทวีปอินเดีย เป็นจักรวรรดิโมกุล (Mughal Dynasty) ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๙๖-๒๔๐๑งานที่มีชื่อเสียงของจักรวรรดิโมกุลคือ ทัชมาฮาล ที่เมืองอัคระ ตอนเหนือของอินเดีย รูปแบบของสวนโมกุลมีอิทธิพลต่อศิลปะภูมิทัศน์ของอินเดียในเวลาต่อมา
ทัชมาฮาล เมืองอัคระ ประเทศอินเดีย มีรูปแบบสวนโมกุล
สวนสาธารณะ
สวนสาธารณะที่สร้างขึ้นจากเงินภาษีของประชาชนแห่งแรกของโลก คือ เบอร์เคนเฮดพาร์ก (Birkenhead Park) ใกล้เมืองลิเวอร์พูล ในประเทศอังกฤษ เปิดใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๐ (ตรงกับในสมัยรัชกาลที่ ๓) จากปัญหาการขาดแคลน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ที่เป็นผลสืบเนื่องจากความแออัดของการอพยพมาทำงานในภาคอุตสาหกรรม กษัตริย์อังกฤษจึงได้ทรงอุทิศอุทยานส่วนพระองค์ขนาดใหญ่หลายแห่งให้เป็น "อุทยานของประชาชน" เช่น อุทยานวิกตอเรียไฮด์ปาร์ก ในเวลาต่อมา แบบอย่างสวนสาธารณะของอังกฤษได้แผ่อิทธิพลสู่สหรัฐอเมริกา และกลายเป็นต้นกำเนิด ของภูมิสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบัน
สวนปินยอร์ (Pinjore) รํบหรยาณา ประเทศอินเดีย
บิดาแห่งภูมิสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของโลก
เฟรเดอริก ลอว์ ออล์มสเตด (Frederic Law Olmstead) ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของภูมิสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ในวัยหนุ่ม ออล์มสเตดได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศอังกฤษ เพื่อนำข้อมูลมาเขียนบทความเกี่ยวกับสวนสาธารณะในหนังสือพิมพ์ และวารสารในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออล์มสเตด ได้เยี่ยมชมเบอร์เคนเฮดพาร์กและรู้สึกประทับใจมาก บทความในหนังสือพิมพ์และจดหมายของเขาได้ มีส่วนทำให้นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กตัดสินใจจัดซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๑,๒๕๐ ไร่ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทอดยาวตามเกาะแมนฮัตตัน เพื่อสร้างสวนสาธารณะ โดยมีการเรียกประกวดแบบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยให้ผู้เข้าประกวดแบบใช้นามแฝง ซึ่งปรากฏว่า แบบของออล์มสเตดที่ทำร่วมกับสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อ คัลเวิร์ต วอกซ์ (Calvert Vaux) โดยใช้นามแฝงว่า กรีนสเวิร์ด (Greensward) ได้รับการคัดเลือกนำไปก่อสร้างเซ็นทรัลพาร์ก (Central Park) ซึ่งเปิดใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖
รูปแบบสวนอังกฤษ
ปัจจัยที่มีส่วนทำให้แบบของออล์มสเตดได้รับการคัดเลือกนั้นเนื่องจากได้นำปัจจัยด้านศิลปะ วิศวกรรม พฤกษศาสตร์ และพฤติกรรมของผู้ที่จะมาใช้สวนสาธารณะ รวมทั้ง ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาบูรณาการร่วมกัน ไม่ได้ใช้เฉพาะปัจจัยด้านความงามเพียงอย่างเดียว ดังที่เคยถือปฏิบัติมา ซึ่งกระบวนการออกแบบ และแนวทางการดูแลงานก่อสร้าง ได้กลายเป็นมาตรฐานทางวิชาชีพในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ออล์มสเตดยังเป็นบุคคลแรก ที่เรียกการออกแบบในสาขานี้ว่า ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) และเรียกผู้ที่ปฏิบัติงานวิชาชีพนี้ว่า ภูมิสถาปนิก (Landscape architect) ออล์มสเตดเป็นผู้ที่ออกแบบสวนสาธารณะและโครงการอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ในสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ต่อมา สำนักงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ของออล์มสเตด ซึ่งมีบุตรชายเป็นผู้ช่วยสำคัญได้ย้ายไปที่เมืองบอสตัน (Boston) สหรัฐอเมริกา และประกอบวิชาชีพนี้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงแก่กรรม ปัจจุบัน สำนักงานของออล์มสเตดยังคงอยู่ที่เมืองบอสตัน
๒. ความเป็นมาในประเทศไทย
สมัยสุโขทัย
จากศิลาจารึกมีการกล่าวถึงลักษณะการทำสวนไว้อย่างสั้นๆ ว่า ทิศตะวันตกเป็นป่าอรัญญิก ทิศตะวันออกเป็นป่าหมาก ป่าพลู ป่ามะม่วง ป่ามะขาม ทิศเหนือเป็นป่ามะพร้าวและป่าขนุน ทิศใต้เป็นป่ามะพร้าว ป่าขนุน ป่ามะม่วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ผล นอกจากนี้ยังกล่าวถึงดงตาลในเมือง การปลูกบัวตามตระพัง (สระน้ำ) ทั่วไปไว้ชมความงาม แต่ไม่ได้กล่าวถึงสวนว่า มีรูปแบบเป็นอย่างไร
สวนบัวในตระพังที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัย
สมัยอยุธยาตอนต้น
สมัยนี้มีเพียงหลักฐานทางวรรณคดีซึ่งกล่าวถึง สวนหลวงสบสวรรค์ ที่สร้างขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ก่อน พ.ศ. ๒๐๙๑) ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าลักษณะของสวนเป็นอย่างไร และมีขนาดเท่าใด อาจเป็นไปได้ว่า เป็นรูปแบบสวนไทยที่สร้าง ด้วยวัสดุมีชีวิต คือ ต้นไม้นานาพรรณ ดิน และน้ำ องค์ประกอบเหล่านี้มักไม่ทนทานถาวรเท่ากับวัสดุที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรม จึงไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นมาถึงปัจจุบัน อาจสันนิษฐานได้ว่า กรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำหลาก สวนส่วนใหญ่ จึงอาจเป็นสวนบนชานเรือน ดังที่พรรณนาไว้ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีบันทึกของ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งบันทึกไว้ว่า ในเวลาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประทับอยู่ในพระราชวังลพบุรี ได้เสด็จลงทำสวนด้วยพระองค์เอง แม้ว่าในบันทึกกล่าวถึงพรรณไม้จำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้พรรณนาถึงความงามและลักษณะของสวน อาจเป็นไปได้ว่า สวนที่อยู่บนพื้นดินตามพระราชวังอาจปลูกบนกระบะยกสูง เพื่อให้พ้นจากน้ำหลาก และก่อขอบด้วยอิฐฉาบปูนเป็นลวดลายย่อมุมดังที่เราคุ้นเคยกัน
สมัยรัตนโกสินทร์
ความชัดเจนของรูปแบบสวนไทยปรากฏในสมัยนี้ เริ่มจากการมีลักษณะแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงเริ่มปรากฏอิทธิพลของสวนจีนมากขึ้น จากการค้าขายทางเรือสำเภากับประเทศจีน มีการสร้างสวนหินก่อสูง ที่เรียกว่า เขามอ ในพระบรมมหาราชวัง และเขาไกรลาส ตามคติพราหมณ์ รวมทั้งยังมีการประดับตุ๊กตาหินรูปต่างๆ ตลอดจนการปูแผ่นหินแกรนิต ที่พื้นลานทางเดินในพระบรมมหาราชวัง และวัดสำคัญในกรุงเทพฯ กล่าวกันว่า แผ่นหินแกรนิต เป็นสินค้าผลพลอยได้ จากการนำแผ่นหินเหล่านี้มาใช้เป็นอับเฉาถ่วงท้องเรือสำเภาที่บรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักเบากลับจากจีน แทนหินหนักธรรมดา ทำให้เรือไม่โคลงมากเมื่อมีคลื่นลมแรง ต่อมาในปลายรัชกาลที่ ๔ เริ่มปรากฏอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกมากขึ้น รวมทั้งงานภูมิสถาปัตยกรรมด้วย โดยมีหลักฐานปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเห็นได้จากพระราชวังบนเขาสัตนาถ ที่จังหวัดราชบุรี
"เขามอ" สวนหินก่อสูงในพระบรมมหาราขวัง กรุงเทพฯ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓
เป็นการจัดสวนที่ได้รับอิทธิพลของสวนจีน
งานจัดสร้างสวนมีมากขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้ทรงว่าจ้างนายช่างชาวตะวันตกมาออกแบบก่อสร้างอาคาร และสวนแบบตะวันตก เป็นจำนวนมากในพระนคร เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นศิลปะเรอเนสซองซ์ รวมทั้งอาคารและสวนในพระบรมมหาราชวัง และสถานที่ซึ่งอยู่รอบพระบรมมหาราชวังหลายแห่ง เช่น กระทรวงกลาโหม กรมการรักษาดินแดน และกระทรวงพาณิชย์ ที่ท่าเตียน (ซึ่งปัจจุบันได้รับการบูรณะดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้) นอกจากนี้ยังทรงขยายเมืองกรุงเทพฯ ทางทิศเหนือ และทรงสร้างสวนหลายแห่ง เช่น สวนดุสิต สวนสุนันทา รวมทั้งทรงสร้างพระตำหนักตากอากาศและสวนบนเกาะสีชัง ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน
สวนสราญรมย์ กรุงเทพฯ ประดับน้ำพุแบบสวนตะวันตก
โดยสรุป สวนไทยในสมัยก่อนแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ สวนบ้าน ที่เน้นด้านการใช้ประโยชน์เป็นอาหารและยา สวนวัด ที่เน้นความสงบร่มรื่นและคติทางศาสนา และสวนวัง ที่นอกจากเน้นความร่มรื่นแล้ว ยังมุ่งที่ความงาม ปีติในรูปแบบและสีสัน โดยรูปแบบได้รับอิทธิพลจากคติพุทธ-ฮินดู