วิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน
เดิมนักออกแบบภูมิทัศน์ใช้วิธีเรียนรู้ด้วยการฝึกงานกับผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง ซึ่งต้องใช้เวลามาก และเป็นการเพียงพอในขณะนั้น ต่อมา เศรษฐกิจและสังคมมีการพัฒนา เจ้าของงานภูมิทัศน์ค่อยๆ ขยายเป็นเทศบาล และนิติบุคคล รวมทั้ง ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเอกชน ซึ่งมีฐานะมั่งคั่งมากขึ้น การผลิตบุคลากรด้วยวิธีเดิมจึงยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การปฏิบัติวิชาชีพก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีไปจากเดิม มีการควบคุมวิชาชีพ เพื่อให้การปฏิบัติวิชาชีพเป็นไปอย่างเรียบร้อย จึงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้
ตราสัญลักษณ์ของสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย
๑. การศึกษา การศึกษาระดับปริญญาตรี
สาขาภูมิสถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นครั้งแรกของโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า ๒๕๐ แห่ง เปิดสอนสาขาวิชานี้ ถึงระดับปริญญาเอก ประเทศไทยเริ่มเปิดสอนระดับปริญญาตรี ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๗) มีมหาวิทยาลัยเปิดสอนถึงระดับปริญญาโทรวม ๕ มหาวิทยาลัย สาเหตุที่ความต้องการภูมิสถาปนิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เนื่องจาก สิ่งแวดล้อมของโลกเสื่อมลง ในขณะที่เศรษฐกิจมีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การลงทุนด้านการศึกษาเกี่ยวกับภูมิสถาปัตยกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อนำความรู้ไปแก้ไขและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่และปลอดภัย
งานภูมิสถาปัตยกรรมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งคน สัตว์ และพืชพรรณประจำถิ่น
๒. การปฏิบัติวิชาชีพ การปฏิบัติวิชาชีพ
ภูมิสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ถือว่าเริ่มมีมาตั้งแต่การประกวดแบบเซ็นทรัลพาร์ก ในนครนิวยอร์ก ทำให้มีสำนักงานออกแบบ ของภูมิสถาปนิกจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากการฝึกงานกับผู้เชี่ยวชาญ มีการจ้างออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรมอย่างแพร่หลาย จึงมีการรวมตัวกันจัดตั้ง สมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน (American Society of Landscape Architects) ที่นครนิวยอร์กใน พ.ศ. ๒๔๔๒ ซึ่งถือเป็นสมาคมวิชาชีพงานภูมิสถาปัตยกรรมแห่งแรก ของโลก ในเวลาต่อมา การก่อตั้งสมาคมวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมได้แพร่หลายไปทั่วโลก
งานภูมิสถาปัตยกรรมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งคน สัตว์ และพืชพรรณประจำถิ่น
พ.ศ. ๒๕๓๐ ประเทศไทยได้ก่อตั้ง สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ขึ้นภายหลังจากสมาคมภูมิสถาปนิกอเมริกัน ๘๘ ปี และเมื่อ ๖๐ ปีก่อน สมาคมภูมิสถาปนิกทั่วโลกได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น สหพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ (International Federation of Landscape Architects) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมของโลกและถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ให้สวยงาม น่าอยู่ และปลอดภัย มีการประชุมนานาชาติประจำปีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมภูมิสถาปนิกโลก ที่กรุงเทพฯ และเมืองพัทยา ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยทั่วไป สมาคมภูมิสถาปนิกมีหน้าที่จรรโลงวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมให้เจริญก้าวหน้าทันโลก พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และให้บริการที่ดีที่สุด แก่ผู้บริโภค