เล่มที่ 39
ภูมิสถาปัตยกรรม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของงานภูมิสถาปัตยกรรม

            ผืนแผ่นดินกลางแจ้งมีขอบเขตกว้างใหญ่ไพศาลและมีความหลากหลายทั้งในด้านธรรมชาติ และด้านเศรษฐกิจสังคม ดังนั้น ประเภทของงานภูมิสถาปัตยกรรมจึงหลากหลายตามไปด้วย โดยทั่วไป งานภูมิสถาปัตยกรรมมักจะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ นิเวศวิทยา คุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นได้ด้วยตา และเกี่ยวข้องกับทั้งคน สัตว์และพืชพรรณที่ใช้สอยหรือขึ้นอยู่ในพื้นที่นั้นๆ


งานภูมิสถาปัตยกรรมเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งคน สัตว์ และพืชพรรณประจำถิ่น

            ในการแก้ปัญหาของงานภูมิสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปนิกจะใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเป็นเครื่องมือ เพื่อบ่งชี้ปัญหา เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินและกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา งานที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้ความรู้และเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าศิลปะ เช่น การวิเคราะห์พื้นที่ขนาดใหญ่มาก เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับตั้งถิ่นที่อยู่และที่ทำกินของมนุษย์ จะต้องมีการกำหนดเขตน้ำท่วม เขตเกษตรกรรม พื้นที่ที่เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นเมือง และเขตอุตสาหกรรมหรือเพื่อการอนุรักษ์ ในขณะที่งานพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น การออกแบบลาน หรืออุทยานขนาดย่อมที่สวยงามจะใช้ศิลปะมากกว่า

ลักษณะของงานภูมิสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ เรียงลำดับจากงานขนาดใหญ่ไปหางานขนาดเล็ก โดยสังเขป ดังนี้

๑. งานวิเคราะห์ภูมิทัศน์และทรัพยากรภาค (Regional Landscape and Resource Analysis)
                               
            งานวิเคราะห์ภูมิทัศน์และทรัพยากรภาค คือ การวิเคราะห์พื้นที่ขนาดใหญ่ที่ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำ ที่มีขนาดเล็กลง ไม่ใช้เขตการปกครอง ทั้งนี้ เพื่อยึดหลักธรรมชาติมากำหนดเขตน้ำท่วม แหล่งน้ำ ความลาดชัน พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ความเหมาะสมของดินของพื้นที่เพาะปลูกสำหรับพืชแต่ละชนิด รวมทั้งพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ศึกษาพืชพรรณ และสัตว์ประจำถิ่น ปัจจัยทางอุทกวิทยา ภูมิอากาศ ธรณีวิทยา แหล่งทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ โดยมีการศึกษาการใช้ที่ดินเดิม โครงข่ายคมนาคมและปัจจัยประวัติศาสตร์ รวมทั้งสถานที่สำคัญ แหล่งวัฒนธรรม และลักษณะ ของประชากรเดิมที่ทับซ้อน บนพื้นที่ธรรมชาติ จากงานวิเคราะห์นี้ทำให้ทราบว่า พื้นที่ใดไม่ควรก่อสร้าง เพราะน้ำท่วมหรือเสี่ยงภัยธรรมชาติ หรือทำลายแหล่งประวัติศาสตร์ หรือทำลายวิถีชีวิตชุมชน งานภูมิสถาปัตยกรรมในระดับนี้เรียกว่า การวางแผนภูมิทัศน์ (Landscape planning) หรือการวางแผนเชิงพื้นที่โดยใช้ธรรมชาติหรือนิเวศวิทยาเป็นตัวนำ (Ecological approach)


การวิเคราะห์ภูมิทัศน์ภาค เพื่อบ่งชี้ความเหมาะสมเชิงธรรมชาติของพื้นที่ด้านต่างๆ
สำหรับกำหนดประเภทการใช้ที่ดินที่เหมาะสม

            งานภูมิสถาปัตยกรรมแนวนี้มีกำเนิดประมาณ ๕๐ ปีก่อน ในสหรัฐอเมริกา โดยศาสตราจารย์เอียน แมกฮาร์ก (Ian Mcharg) เครื่องมือสำคัญที่ใช้ คือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographical Information System: GIS) ผลผลิตของงานนี้ จะนำไปใช้ ในการกำหนดนโยบายการตั้งถิ่นฐานและการพัฒนาเมืองแห่งชาติของประเทศต่างๆ ตามที่สหประชาชาติ ได้จัดให้มีการประชุมนานาชาติที่เมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ประเทศแคนาดา และประกาศเป็นปฏิญญาร่วมกันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีนโยบายระดับชาติเช่นนี้ และยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ทำให้การวางแผนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ เช่น การกำหนดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่น้ำหลาก สร้างความเสียหายมหาศาล และยังเป็นการสูญเสีย พื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่ควรให้เกษตรกร เป็นผู้ครอบครองไปอย่างถาวรอีกด้วย


การวางผังเมืองที่ยึดเขตการปกครอง ไม่ยึดลักษณะธรรมชาติ และปล่อยให้เมืองขยายตัวกระจายลงไปในลุ่มน้ำต่ำ
น้ำจึงท่วมเมือง การกระจายมาก ทำให้ระยะการเดินทางประจำวันไกล ใช้เวลามาก การจราจรติดขัด
ทำให้เป็นเมืองไม่น่าอยู่

๒. งานผังเมือง ผังชุมชน และเคหการ

            ปัจจุบัน มนุษย์ส่วนใหญ่ยังชีพโดยไม่ต้องเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ด้วยตนเองเหมือนในอดีต ดังนั้น จึงไม่จำเป็น ต้องใช้พื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์หรือที่ลุ่มน้ำหลาก สำหรับแหล่งโบราณคดีหรือแหล่งธรรมชาติที่งดงาม นำมาพัฒนาเป็นเมือง และชุมชนพักอาศัยที่ร่มรื่นน่าอยู่น่าเที่ยว ภูมิสถาปนิกได้ทำงานร่วมกับนักวางแผนภาคหรือนักผังเมือง กำหนดพื้นที่ เพื่อขยายเมือง ในพื้นที่ดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ แต่ปลอดจากภัยธรรมชาติ และกำหนดพื้นที่สีเขียว เป็นระบบตามลักษณะธรรมชาติของพื้นที่ รวมทั้ง ออกแบบปลูกต้นไม้ริมถนนในเมืองให้ร่มรื่นน่าอยู่


การวางผังเมืองแบบยั่งยืนที่นำด้วยธรรมชาติ โดยรักษาพื้นที่เพาะปลูก และสร้างเมืองบนพื้นที่น้ำไม่ท่วม
วางผังเมืองเป็นกลุ่มก้อนหนาแน่น เพื่อย่นระยะการเดินทาง
สีเขียวเข้ม คือ กลุ่มต้นไม้ใหญ่ ปลูกเป็นป่า และปลูกเป็นแนวยาว (ผังเมืองนครฮานอย ประเทศเวียดนาม)

            งานภูมิสถาปัตยกรรมยังรวมถึงการออกแบบหรือปรับปรุงภูมิทัศน์ลานเมือง บริเวณโครงการที่พักอาศัย หมู่บ้านหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งรวมที่พักผ่อน และสนามเด็กเล่นที่สวยงาม มีระบบทางเท้าและทางจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย ไม่ตัดกับถนนใหญ่


๓. งานวางผังและออกแบบบริเวณวิทยาเขตและนิคมอุตสาหกรรม

            ภูมิสถาปัตยกรรมในงานขนาดเล็กลงจากระดับชุมชนหรือส่วนของเมือง ได้แก่ งานวางผังและออกแบบบริเวณขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการออกแบบบริเวณกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งผังการใช้ที่ดินและการจราจร ผังภูมิทัศน์ และการปลูกต้นไม้ใหญ่ ให้สวยงาม สงบแต่มีสง่า เช่น มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการบรรยากาศในการเรียนรู้ ผังหลักของมหาวิทยาลัย จึงมีความสำคัญ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีการใช้งานยาวนาน ซับซ้อน และมีการขยายตัว การไม่วางผังล่วงหน้า ย่อมเกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ เช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม หากมีผังภูมิทัศน์จะช่วยให้นิคมมีบรรยากาศดี โดยการปลูกต้นไม้จำนวนมาก เพื่อเป็นฉากบังสายตา แบ่งเขตพักอาศัยกับเขตโรงงาน ปกปิดสิ่งไม่น่ามอง และยังช่วยดูดซับอากาศเสีย ฝุ่นละออง ผลิตออกซิเจน ตลอดจนช่วยลดอุณหภูมิ


การวางผังภูมิทัศน์อย่างสร้างสรรค์และระมัดระวัง (แผนผังขวา) ช่วยให้โครงการหมู่บ้านแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวส่วนกลางขนาดใหญ่ น่าอยู่ และเข้าถึงได้ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับผังภูมิทัศน์เดิม ก่อนปรับปรุง (แผนผังซ้าย)

๔. งานออกแบบสวนสาธารณะ สนามกีฬา และสนามเด็กเล่น

            งานการวางระบบ การกำหนดปริมาณ และการกำหนดแบบสวนสาธารณะประจำเมือง ชุมชน หมู่บ้าน รวมทั้งสนามกีฬา และสนามเด็กเล่น เป็นงานที่เรียกว่า งานวางแผนนันทนาการ เริ่มจากการออกแบบซึ่งอยู่ในขั้นการทำให้แผนเป็นจริง มีการเขียนแบบการก่อสร้าง เช่น อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สวนหลวง ร.๙  อุทยานเบญจสิริ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนสาธารณะเหล่านี้เป็นสถานที่ที่มีผู้คนทุกระดับฐานะมาใช้งาน ดังนั้น ก่อนการออกแบบ จึงต้องมีการสำรวจความต้องการของผู้ที่จะเข้ามาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะการเดินทางที่สะดวก โดยทั่วไป สวนสาธารณะจะจัดให้มีส่วนออกกำลังกายที่หลากหลายสำหรับตั้งแต่เด็กเล็กไป จนถึงผู้สูงอายุ และมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ต้องการความสงบร่มรื่น นอกจากนี้ ความปลอดภัยในสวนสาธารณะก็มีความสำคัญ จึงต้องออกแบบ ไม่ให้เปลี่ยว และไม่ให้มีรถยนต์วิ่งไปมา สวนสาธารณะมีตั้งแต่สวนขนาดใหญ่มากจนถึงขนาดเล็ก และอาจมีสนามแข่งขันกีฬาที่ไม่เป็นทางการ อีกทั้งมีสนามเด็กเล่นซึ่งจำเป็นมากสำหรับชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นและมีเด็กจำนวนมาก


งานออกแบบภูมิทัศน์และวางผังหลักการปลูกต้นไม้ใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องมีความรอบคอบ
เพราะต้องใช้เวลานานกว่าต้นไม้จะโต

๕. งานปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง

            การออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง เช่น พื้นที่ว่างใต้ทางด่วน ลานเมืองที่เป็นจุดเด่น หรือพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว ควรมีการออกแบบเชิงอนุรักษ์ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เช่น ภูมิทัศน์ในอุทยานแห่งชาติ ที่ควรปราศจากสิ่งที่มนุษย์สร้าง ในขณะที่ต้องมีลานจอดรถ ห้องน้ำ อาคารรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องออกแบบไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมที่ผิดยุคสมัยปรากฏโดดเด่น ทำลายบรรยากาศความเก่าแก่ของโบราณสถาน


พื้นที่ว่างใต้ทางด่วน ก่อนการปรับปรุงภูมิทัศน์ (บน) และภาพจำลองภายหลังการปรับปรุงภูมิทัศน์ (ล่าง)

๖. งานออกแบบและวางแผนภูมิทัศน์ ทางหลวงและถนนในเมือง

            การสร้างถนนเปิดโอกาสให้เรามองเห็นภูมิประเทศได้หลากหลายที่สุดจากการเคลื่อนที่ไปตามเส้นทาง ได้เห็นกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในถิ่นนั้น ๆ เช่น การทำนาเกลือ การทำนา การทำสวนยางพารา โดยเห็นธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม ปัจจุบัน ความนิยมในการขับรถหรือนั่งรถเพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจเพิ่มมากขึ้น งานออกแบบและวางแผนภูมิทัศน์ทางหลวง และถนนในเมืองจึงมีความสำคัญ หลายๆ ประเทศมีการควบคุมการพัฒนาตามแนวเส้นทางหลวงไม่ให้สร้างสิ่งอุจาดสายตา เช่น ป้ายโฆษณา สายไฟฟ้า สิ่งปลูกสร้างที่ไม่น่ามองและบังทิวทัศน์ที่สำคัญ


สุนทรียภาพทางหลวง (Highway Aesthetics)
การออกแบบและวางแผนภูมิทัศน์ทางหลวง เกี่ยวข้องกับงานในการวางแนวถนน
การปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตทางและนอกเขตทางที่มองเห็นระหว่างการเดินทาง แต่ไม่เน้นรายละเอียด
เพราะการเห็นในขณะเคลื่อนที่จะเห็นภาพที่เป็นกลุ่มก้อนระยะไกล ส่วนระยะใกล้จะเลือนเพราะความเร็ว

            การนำปัจจัยทางภูมิทัศน์ที่ยึดหลักการวางแนวถนน "แนบและกลมกลืน" ไปกับรูปทรงธรรมชาติของแผ่นดิน พร้อมกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและทิวทัศน์ ทำให้การตัดถนนและถมดินหรือหิน เพื่อช่วยลดการกัดเซาะพังทลาย ที่จะได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติมีค่าใช้จ่ายน้อยลง นอกจากนี้ยังทำให้ค่าบำรุงรักษาเขตทางทั้ง ๒ ข้าง ถูกลงด้วย ประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีกฎหมายบังคับที่เข้มงวดให้ทำการศึกษา และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านทัศนียภาพ ในการตัดทางหลวงใหม่ เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว งานภูมิทัศน์ทางหลวง (Highway landscape) ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง เนื่องจากการออกแบบภูมิทัศน์ทางหลวงคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมองเห็น กับความเร็ว และระยะปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ งานภูมิทัศน์ทางหลวงยังรวมถึงการเลือกตำแหน่ง และการออกแบบที่พัก และจุดชมทิวทัศน์ริมทางหลวงด้วย สำหรับถนนในเมืองที่สร้างไปแล้วและต่อมามีสภาพแวดล้อมไม่น่ามอง ภูมิสถาปนิกจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบรายละเอียดสิ่งประกอบถนน การปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ปลูกไม้ประดับ การออกแบบป้ายและสิ่งประกอบถนน รวมทั้งการจัดวางตำแหน่งโคมไฟ และอื่นๆ ในต่างประเทศ ภูมิสถาปนิกจึงมีเป็นจำนวนมาก โดยทำงานอยู่ในหน่วยงานออกแบบทางหลวง หรือหน่วยงานเทศบาลที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงถนน


๗. งานอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปกรรม และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

            งานออกแบบภูมิทัศน์พื้นที่ใช้สอยภายในอุทยานแห่งชาติ เช่น ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จะต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับการออกแบบภูมิทัศน์พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ คือ การซ่อนสิ่งที่ไม่กลมกลืนกับบรรยากาศของยุคสมัย ด้วยการปลูกต้นไม้หรือทำเนินให้มองไม่เห็น สิ่งปลูกสร้างใหม่ที่จำเป็นก็จะต้องออกแบบไม่ให้ขัดแย้งกับโบราณสถานนั้นๆ ด้วยเช่นกัน รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์และพื้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ก็อยู่ในขอบเขตงานภูมิสถาปัตยกรรมด้วย


ภูมิทัศน์อุทยานประวัติศาสตร์ ที่ไม่สามารถควบคุมการก่อสร้างที่ก่อมลพิษทางทัศนียภาพและจิตใจ
อีกทั้งไม่มีการใช้เทคนิคทางภูมิทัศน์ "ซ่อน" อาคารคอนกรีตสมัยใหม่ด้านหลัง

๘. งานตกแต่งสวนและออกแบบปลูกต้นไม้ (Planting design)

            ในงานที่มีพื้นที่ขนาดเล็กนั้น การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมจะใช้ปัจจัยด้านศิลปะมากกว่าด้านวิทยาศาสตร์ เน้นการมองเห็น ที่สร้างความจรรโลงใจ โดยการใช้พืชพรรณที่เหมาะสมด้วยสีสัน และผิวสัมผัส (ความหยาบละเอียด) ส่วนงานออกแบบปลูกต้นไม้ (Planting plan) ซึ่งหมายถึง การวางผังกำหนดชนิดและตำแหน่งของพืชพรรณทั้งหมด รวมทั้งขนาดของแต่ละต้น ที่ผู้รับจ้าง ต้องนำมาปลูก จะต้องคิดไว้ล่วงหน้าให้สอดคล้องกับการใช้สอย การสัญจร และภูมิอากาศ เช่น ช่วยบังแดด ช่วยปิดบังมุมมอง ที่แลดูอุจาดสายตา

๙. งานออกแบบภูมิทัศน์สวนหลังคาหรือดาดฟ้า

            ที่ดินในเมืองมีราคาแพงมาก บางแห่งจึงมีการใช้ประโยชน์พื้นที่บนดาดฟ้าอาคารคอนกรีต โดยทำเป็นสวนที่พักผ่อนหย่อนใจ การออกแบบก่อสร้างสวนหลังคาต้องระมัดระวังเรื่องน้ำหนัก การรั่วซึม แดดกล้าและลมแรง รวมทั้งปัญหาการดูแลรักษา และป้องกันอันตราย โดยสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ขนาดปานกลางบนดาดฟ้าตรงตำแหน่งหัวเสา 


การทำแปลงปลูกผัก เป็นการใช้ประโยชน์จากดาดฟ้า หรือหลังคา

หลังคาเขียว  (Green roof)

            หลังคาเขียวคือ สวนหลังคาที่มีน้ำหนักเบาและดูแลรักษาง่ายเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยการเป็นฉนวนและการระเหยคายน้ำ ของพืชที่ช่วยลดค่า การถ่ายเทความร้อนผ่านทางหลังคา (Roof Thermal Transfer Value: RTTV) ช่วยให้การใช้พลังงานในอาคารลดลง หลายประเทศมีการลดภาษีเพื่อจูงใจให้มีผู้สร้างหลังคาเขียวมากขึ้น เพราะหลังคาเขียว มีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ เป็นการบรรเทาภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลก เช่น หลังคาเขียวอาคารศูนย์ไปรษณีย์มอร์แกน ในเกาะแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ขนาด ๒.๕ เอเคอร์ หรือ ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร สามารถประหยัดค่าพลังงานได้ถึงปีละ ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ๙๐๐ บาทต่อ ๑ ตารางเมตร


ภาพเปรียบเทียบบนหลังคาเขียวที่มีการปลูกพืชบนหลังคา
ช่วยลดความร้อน ดูดซับแก๊สคาร์บอกไดออกไซด์ ฝุ่นละอง ฯลฯ และยังช่วยบรรเทาน้ำท่วมดาดฟ้าหรือหลังคา
เพราะต้นไม้และดินสามารถช่วยอุ้มน้ำฝน แตกต่างจากหลังคาธรรมดา

หลังคาเขียวแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ 

๑) หลังคาเขียวที่ต้องมีการดูแลมาก (Intensive green roofs) ซึ่งเหมือนการทำสวนบนหลังคาที่มีการใช้สอย เช่น สวนดาดฟ้าโรงแรม ที่มักมีสระว่ายน้ำและส่วนประกอบอื่น

๒) หลังคาเขียวแบบกึ่งดูแล (Semi-intensive green roofs) ซึ่งใช้ประโยชน์ได้บ้าง และต้องการการดูแลปานกลาง

๓) หลังคาเขียวที่ต้องการการดูแลน้อยมาก (Extensive green roofs) โดยใช้พืชพรรณทนแล้ง เช่น ไม้อวบน้ำขนาดเล็กที่แผ่คลุมดิน 


การสร้างหลังคาเขียวช่วยลดภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ หลังคาเขียวยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ มลพิษ และฝุ่นละอองในบรรยากาศ รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณน้ำฝนจากหลังคา ในช่วงฝนตกหนักไม่ให้ท่วมถนนในเมืองได้ระดับหนึ่งด้วย


การสร้างหลังคาเขียวช่วยลดภาวะโลกร้อน

กำแพงเขียวหรือผนังเขียว (Green wall)

กำแพงเขียว หรือผนังเขียว คือ การปลูกพืชพรรณที่ผนังหรือกำแพงในแนวตั้งด้านทิศตะวันตกและทางทิศใต้ของอาคาร เพื่อลดค่าการถ่ายเทความร้อนผ่านเปลือกผนังอาคารโดยรอบอาคาร (Overall Thermal Transfer Value) ที่ไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่บังแดดได้

กำแพงเขียวอาจแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท คือ

๑) แบบใช้ไม้เลื้อยชนิดเกาะติดผนัง เช่น ต้นตีนตุ๊กแก หรือต้นไอวีในประเทศเขตหนาว

๒) แบบใช้ไม้เลื้อยชนิดเกาะเกี่ยว ซึ่งมีหลากหลายชนิดและบางชนิดมีดอกสวยงาม เช่น เถาพวงแสด หรือเถาพวงชมพู ซึ่งต้องขึงลวดหรือทำที่สำหรับเลื้อย

๓) แบบหน่วยอิสระ ซึ่งประกอบด้วยวัสดุปลูกและระบบการให้น้ำอัตโนมัติ ใช้พืชโตช้า หรือค่อยๆ โต ขนาดเล็ก ทนทาน ดูแลรักษาง่าย แบบหน่วยอิสระนี้สามารถติดตั้งบนตึกสูงที่เกินความสูงของไม้เลื้อยทั่วไป

๔) แบบใช้ไม้เลื้อย เช่น ต้นกระดุมทอง พลูด่าง ตานหม่อน โดยปลูกบนกระบะแล้วปล่อยให้ทอดยาวลงสู่เบื้องล่าง เช่น ด้านตะวันตกและด้านใต้ของอาคารจอดรถขนาดใหญ่หลายชั้น


กำแพงเขียวแบบใช้ไม้เลื้อยชนิดเกาะเกี่ยว

            นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดความร้อน และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว กำแพงเขียวยังช่วยลดความแข็งกระด้าง ของอาคารคอนกรีตที่หนาแน่นในเมืองได้มาก
ปัจจุบันงานภูมิทัศน์กำแพงเขียวกำลังอยู่ในโครงการรณรงค์ เพื่อลดภาวะโลกร้อน และสร้างความร่มรื่นน่าอยู่แก่เมือง โดยเฉพาะกำแพงเขียว แบบหน่วยอิสระสำเร็จรูป ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีการใช้กัน ตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่และโรงแรม


กำแพงเขียวแบบใช้ไม้เลื้อย
ชนิดเกาะติดผนัง

๑๐. งานออกแบบสวนภายในอาคาร (Interior landscape)

            ในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมาก อาคารมักมีขนาดใหญ่และภายนอกอาคารมักขาดพื้นที่สีเขียว จึงมีการจัดทำสวน ภายในอาคารทดแทน ส่วนใหญ่มักเป็นอาคารโรงแรมหรู หรือสำนักงานขนาดใหญ่ สวนภายในอาคารขนาดใหญ่ ที่มีหลังคาโปร่งแสงคลุมนี้เรียกว่า สวนเอเทรียม (Atrium) พืชพรรณที่ใช้เป็นพืชที่ทนที่ร่มได้ดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ใบของเมืองร้อน การเลือกพืชพรรณมาจัดสวนภายในอาคารต้องคำนึงถึงเรื่องการดูแลรักษา และการให้น้ำที่น้อยกว่าสวนภายนอกอาคาร สวนภายในอาคารขนาดใหญ่มักออกแบบให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมด้วย ในบางจุดที่แสงไม่พออาจให้แสงเทียม โดยใช้หลอดไฟพิเศษที่มีช่วงความยาวคลื่นแสงตามที่พืชต้องการ บางครั้งพืชพรรณที่จัดเตรียมสำหรับนำมาปลูก ในงานภูมิทัศน์ภายในอาคารจะต้องผ่านการปรับให้คุ้นกับสภาพแสงน้อย (Acclimatization หรือ Hardening) ก่อน มิฉะนั้น ใบอาจร่วงได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังไม่ให้มีความชื้นมาก เพราะจะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนัก งานภูมิทัศน์ภายในอาคารจึงต้องคำนึงถึงแสงธรรมชาติที่เพียงพอ และการใช้พืชพรรณที่ทนต่อสภาพแสงน้อย


สวนภายในอาคารขนาดใหญ่ ต้องคำนึงถึงเรื่องการดูแลรักษา และการให้น้ำ