พัฒนาการของลายไทย-ลายกระหนก โดยลำดับยุคสมัย ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ต้นแบบของลายประดับที่เรียกว่า ลายไทย คือ ลวดลายในศิลปะอินเดียโบราณ ที่แพร่หลายเข้าสู่ดินแดน ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว ครั้นเมื่อผ่านพัฒนาการในดินแดนต่างๆ รวมทั้งดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งดินแดนแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีพัฒนาการยาวนานภายใต้การอุปถัมภ์ของราชสำนัก สืบเนื่องมา จนถึงปัจจุบัน งานช่างทั้งในพระพุทธศาสนา และในราชสำนัก จึงมีส่วนเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว ด้วยลวดลายประดับ และได้แปรเปลี่ยนลักษณะไปตามความนิยมของดินแดนแต่ละท้องถิ่น และตามยุคสมัยที่เปลี่ยนมาเป็นลำดับ อนึ่ง พัฒนาการ ของลวดลายประดับจากดินแดนเหล่านั้นก็มีส่วนเกี่ยวเนื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน โดยการติดต่อไปมาหาสู่กัน
ลวดลายศิลปะอินเดียว แบบปาละ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
ลักษณะก่อนจะได้ชื่อ และเมื่อได้ชื่อว่า "ลายไทย"
ความเป็นต้นแบบใดๆ คือ สิ่งใดๆ ที่มีอยู่มาก่อน ในส่วนของงานช่างก็เช่นกัน ช่างได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจ ปรับปรุงร่วมกับจินตนาการ โดยมีจุดประสงค์ของการใช้งานหรือใช้ประดับเป็นแนวทางในการออกแบบงานประดับ ซึ่งลวดลายประดับ ในวัฒนธรรมศาสนาก็เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อทางศาสนา โดยมีแบบแผนกฎเกณฑ์กำกับอยู่ด้วย ซึ่งหากประดับในตำแหน่งสำคัญ ลวดลายก็มีความสำคัญเด่นชัดด้วย พื้นที่ประดับลวดลายจึงมีส่วนสำคัญ คือ เป็นเงื่อนไข ที่ใช้ในการออกแบบลวดลายประดับให้เหมาะสม ทั้งนี้ ลวดลายประดับแบบใหม่ล้วนเกิดจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้
การที่ดินแดนแห่งใดรับแรงบันดาลใจต่างๆ เข้ามาใช้ ก็สามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของเงื่อนไขความต้องการ และความนิยมในท้องถิ่นของตน เช่น ลวดลายประดับของสมัยทวารวดี ในช่วงแรกๆ นั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากงานช่าง ในวัฒนธรรมศาสนาจากอินเดีย แม้ว่าจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับต้นแบบ แต่ก็สังเกตได้ว่ามีลักษณะแปลกไปจากต้นแบบ ลักษณะที่แปลกนั้น ต่อมาก็พัฒนามาเป็นแบบอย่างเฉพาะในศิลปะทวารวดีในที่สุด และเมื่อผ่านยุคสมัยต่างๆ อันมีกระบวนการ ทางพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้กลายเป็นลายไทยอย่างที่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบัน ดังตัวอย่างของลายประดับที่สืบทอด มาตามยุคสมัย ดังนี้
๑. ลวดลายแบบทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖
ลวดลายประดับที่ใช้ในช่วงเวลาของศิลปะทวารวดีส่วนใหญ่พบในภาคกลาง เช่น นครปฐม อู่ทอง ราชบุรี ลพบุรี ปราจีนบุรี งานลวดลายประดับที่พบ ได้แก่ งานสลักหินประดับธรรมจักร ประดับองค์ประกอบบางอย่างของสถาปัตยกรรม รวมทั้ง ที่เป็นงานดินเผาและงานปูนปั้น ลวดลายแบบทวารวดีเกี่ยวข้องกับลวดลายประดับร่วมสมัยทางภาคเหนือ คือ ลำพูน (หริภุญชัย) ภาคอีสาน และภาคใต้ เชื่อกันว่า แหล่งวัฒนธรรมทวารวดีอยู่ในภาคกลาง
ลวดลายกระหนก ดินเผา แบบทวารวดี ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
ลายประดับสลักหินแบบนูนต่ำ (คือ นูนพ้นพื้นลายเพียงเล็กน้อย) ชำรุดเป็นชิ้นส่วน แต่ก็คาดเดาได้ว่าคงเป็นข้างซ้ายของกรอบซุ้ม ความเชี่ยวชาญของฝีมือช่างที่ออกแบบโดยให้ลวดลายพลิกผันต่อเนื่อง ยักย้ายอย่างอิสระ แยกแขนง จากแกนลายที่โค้งอ่อน แสดงถึงแบบอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งไม่พบในศิลปะขอม
ลวดลายกระหนก สลักหิน แบบทวารวดี ที่มีลักษณะคล้ายใบผักกูด
ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
โดยทั่วไปแล้ว กระหนกแบบทวารวดีมีชื่อเรียกกันในหมู่ช่างปัจจุบันอีกชื่อหนึ่งว่า กระหนกผักกูด เพราะมีลักษณะใกล้เคียง กับใบผักกูดที่มีขอบใบเป็นหยักคดโค้งคล้ายคลึงกัน เมื่อกระหนกผักกูดมาประกอบอยู่รวมกันกับลายลักษณะอื่นก็ได้ เป็นลายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายเถาพรรณไม้ เรียกกันว่า ลายกระหนกเครือเถา (อนึ่ง ลักษณะคล้ายเครือเถาพรรณไม้ ยังมีชื่อเรียกต่างๆ กันตามลักษณะของกระหนก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นกระหนกผักกูดก็ได้)
ลวดลายสลักหิน แบบทวารวดี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
๒. ลวดลายแบบเขมรในดินแดนไทย พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๘
ในประเทศกัมพูชา ศิลปะขอมหรือเขมรโบราณมีขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดีย ไล่เลี่ยกับศิลปะทวารวดี ลวดลายแบบขอมจะใช้ประดับปราสาทที่ก่อสร้างด้วยอิฐ โดยสลักลวดลายประดับบนวัสดุก่อ จากนั้น จึงปั้นปูนเป็นรายละเอียดลงบนงานสลักนั้น สำหรับปราสาทที่ก่อด้วยศิลาในงานประดับลวดลายก็สลักลงบนศิลาที่ก่อ ส่วนงานปูนปั้น ประดับปราสาทในศิลปะขอมมีไม่มากนัก
ลวดลายกระหนก สลักหิน แบบขอม ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ปราสาทขอมที่พบในประเทศไทยทางภาคอีสานและภาคตะวันออก กำหนดอายุได้ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือหลังจากนั้น และมีที่ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ วัฒนธรรมขอม จึงแพร่หลายเข้าสู่ภาคกลาง ครั้นเสื่อมถอยลงในที่สุด เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ช่วงเวลานั้น งานก่อปราสาทแบบขอมนิยมใช้ศิลาแลง แต่มีที่เปลี่ยนมาปั้นปูนประดับ แทนการสลักบนศิลาแลงที่เป็นวัสดุก่อ เพราะศิลาแลงแม้แกร่งแต่เปราะ จึงไม่สามารถสลักลวดลายที่มีรายละเอียดได้
ลวดลายกระหนก สลักหิน แบบขอม ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ลายกระหนกแบบขอมมักสลักอย่างนูนสูง (นูนพ้นพื้นหลังมาก) เพราะสามารถสลักประดับปราสาทหินซึ่งมีรูปทรงสัดส่วนที่ล่ำสัน ถือเป็นรูปแบบที่สำคัญเพราะมีส่วนถ่ายทอดผสมผสานมาสู่กระหนกแบบไทยด้วย ตัวอย่างเช่น ลวดลายสลักหินประดับ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ กระหนกลักษณะต่างๆ ที่ประกอบกันของปราสาท เรียกว่า ลายกรวยเชิง โดยเรียกชื่อตามตำแหน่ง ส่วนล่างของผนังที่ลวดลายนี้ประดับอยู่
๓. ลวดลายแบบศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘
คาบสมุทรทางภาคใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ อยู่ในเขตวัฒนธรรมผสมผสาน โดยมีศิลปะศรีวิชัยเป็นหลัก ศิลปะศรีวิชัยส่วนใหญ่สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีลวดลายที่เป็นงานประดับเครื่องทรงของประติมากรรมรูปเคารพ ส่วนศาสนสถานก็ไม่อยู่ในสภาพเดิม ดังนั้น ในส่วนของลวดลายประดับจึงไม่หลงเหลืออยู่ด้วย ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ประติมากรรมพระพุทธรูป ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑสถาน วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ลวดลายกระหนกซึ่งประดับอยู่ที่ส่วนฐานเป็นส่วนเสริมความแข็งแรงของประติมากรรมด้วย และส่วนล่างของประภามณฑล ที่ล้อมรอบพระวรกายพระพุทธรูปมีงานประดับด้วยเช่นกัน (ประภามณฑลคือ พระรัศมี ล้อมรอบพระวรกายพระพุทธรูป)
ลวดลายกระหนก สำริด ประดับส่วนล่างของประภามณฑล พระพุทธรูป แบบศรีวิชัย
ที่ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑสถาน วัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช
๔. ลวดลายแบบหริภุญชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) มีส่วนเกี่ยวข้องกับศิลปะทวารวดีตอนปลาย สอดคล้องกับตำนานพระนางจามเทวีที่เสด็จจากเมืองลพบุรี ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย (เมืองลพบุรี ในตำนานเรียกชื่อว่า "ละโว้" สมัยนั้นอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี) อย่างไรก็ดี ยังไม่พบหลักฐานใดในพื้นที่ของเมืองลำพูนและปริมณฑลที่เก่าแก่ตามตำนานเรื่องเล่าของพระนางจามเทวี นอกจากเศียรพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ๒ เศียร ที่เป็นรูปแบบศิลปะทวารวดีทางภาคกลาง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน สำหรับลวดลายประดับที่พบมีทั้งดินเผาและปูนปั้นในศิลปะหริภุญชัย ที่กำหนดอายุได้ว่า ไม่น่าจะก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เช่น กระหนกปูนปั้นประดับแถวครีบรูปสามเหลี่ยม ตั้งบนกรอบซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ที่เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำพูน ศิลปะหริภุญชัย และเพราะเป็นงานปูนปั้น บางครีบจึงชำรุดหลุดร่วงไปแล้ว
ลวดลายกระหนก ปูนปั้น บนกรอบซุ้มแบบหริภุญชัย ที่เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
๕. ลวดลายแบบสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ผ่านมาถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ภาคกลางตอนบนมีราชธานีคือ สุโขทัย โดยมีเมืองเครือข่ายหลายเมือง ที่สำคัญคือ เมืองศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และพิษณุโลก สำหรับเมืองศรีสัชนาลัยยังคงมีหลักฐาน ลวดลายประดับแบบศิลปะสุโขทัยหลงเหลืออยู่ในโบราณสถานร้าง หรือวัดร้าง เช่นเดียวกับที่ยังคงหลงเหลืออยู่ตามวัดร้าง ในราชธานีสุโขทัย โดยมีหลักฐานด้านลวดลายประดับ และลักษณะทางสถาปัตยกรรม บางประการซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะทางเหนือ คือ แคว้นล้านนา ซึ่งมีเชียงใหม่เป็นราชธานี และศิลปะอยุธยา ซึ่งมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่ทางตอนล่าง
ลวดลายกระหนก ปูนปั้น แบบสุโขทัย ประดับเจดีย์ วัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ตัวอย่างงานประดับเจดีย์บริวารองค์หนึ่งภายในวัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย คือ ลวดลายปูนปั้นประดับปลายกรอบซุ้มด้านบน ซึ่งมีแถวกระหนกวงโค้งเรียงซ้อนสลับ กำหนดได้ว่า เป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง ของกระหนกในงานประดับของศิลปะสุโขทัย
๖. ลวดลายแบบล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๙-ปัจจุบัน
พญามังรายทรงยึดเมืองหริภุญชัยได้ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีใน พ.ศ. ๑๘๓๙ ทรงรวบรวมเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือเป็นเครือข่าย เมืองเหล่านี้รวมเรียกว่า แคว้นล้านนา อันเป็นที่มาของชื่อ ศิลปะล้านนา แทนชื่อเดิมที่เรียกกันว่า ศิลปะเชียงแสน มีแต่พระพุทธรูปที่ยังคงเรียกกันต่อมาว่า พระพุทธรูปเชียงแสน ส่วนชื่อศิลปะล้านนายังเป็นชื่อเรียกงานช่าง ในภาคเหนือ ที่หมายถึงงานช่างสมัยโบราณและบางครั้งอนุโลมรวมสมัยปัจจุบันด้วย
ลวดลายกระหนก ปูนปั้น ประดับเจดีย์ วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สะท้อนถึงวัฒนธรรมจีน พม่า และสุโขทัย
อนึ่ง เชียงแสนมาจากชื่อเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของราชธานีเชียงใหม่ เมืองนี้มีตัวอย่างงานปูนปั้น ประดับเจดีย์ประธานของวัดป่าสัก จึงมีชื่อเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์วัดป่าสัก หากพิจารณาจาก พงศาวดารโยนก ที่ระบุการสร้างเมืองเชียงแสนของพระเจ้าแสนภู ใน พ.ศ. ๑๘๗๑ หลังจากนั้นอีก ๓ ปี คือ ใน พ.ศ. ๑๘๗๔ โปรดให้สร้างวัดที่กลางเมือง ในที่นี้เข้าใจว่าคือ วัดป่าสัก ซึ่งพอเข้าใจได้ว่า วัดป่าสักสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนภู พระองค์เป็นพระราชนัดดาของพญามังรายผู้ทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา ลวดลายปูนปั้น โดยรวมที่ประดับเจดีย์ประธานทรงปราสาทห้ายอดของวัดป่าสักนั้น เชื่อกันว่าปั้นขึ้นเมื่อคราวแรกสร้างวัด สะท้อนถึงระยะที่เมืองเชียงแสนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีน พม่า และสุโขทัย
ลวดลายปูนปั้น เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
๗. ลวดลายแบบก่อนกรุงศรีอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๑๙
ลพบุรีมีชื่อเดิมว่า "ลวปุระ" แหล่งข้อมูลที่สำคัญของวัฒนธรรมทวารวดีแห่งนี้มีความต่อเนื่อง โดยผ่านวัฒนธรรมขอม ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงเมื่อราวเริ่มศตวรรษถัดมา จึงเข้าสู่แนวทางใหม่และค่านิยมใหม่ คือ แบบอย่างของเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งพัฒนาจากปราสาทแบบขอม เช่น ปรางค์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี แม้ว่าวัดสำคัญแห่งนี้ไม่ได้ปรากฏหลักฐานการสร้างโดยตรง แต่ประมาณอายุได้ในราว พ.ศ. ๑๘๐๐ จากงานศึกษาแบบอย่างงานช่างของปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นปรางค์ประธานร่วมกับข้อมูลเอกสารของจีนที่ระบุว่า ลพบุรีส่งทูตไปเมืองจีนระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๒-๑๘๔๒ ซึ่งแสดงถึงความเป็นอิสระ และความสำคัญของลพบุรี ที่เหมาะสำหรับงานก่อสร้างวัดสำคัญขนาดใหญ่เช่นนี้ ลวดลายปูนปั้น ประดับปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุยังมีความหนานูน จากพื้นมาก (ที่เรียกว่า นูนสูง) เพราะเกี่ยวข้องกับลวดลายประดับในศิลปะขอมมาก่อน ร่องรอยหลักฐานของลวดลายประดับบางแห่ง แสดงถึงงานที่ซ่อมบูรณะมาเป็นระยะๆ จากในอดีต โดยสังเกตได้จากลักษณะของลวดลายที่แตกต่างกัน ส่วนฝีมือช่างปั้น ในระยะแรกทำเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายเฟื่องอุบะ ซึ่งหมายถึง ลายประดับรูปสามเหลี่ยมเรียงต่อเนื่องกัน ดูเหมือนแขวนห้อยอยู่ ที่ส่วนบนของผนัง (ส่วนบนของผนัง ในภาษาช่างเรียกว่า ยอดผนัง ก็มี) ลายเฟื่องอุบะดังกล่าว มีลายกระหนกประกอบอยู่อย่างสำคัญ

ลายปูนปั้น ที่ปรางค์ประธาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี
๘. ลวดลายแบบกรุงศรีอยุธยา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙-พ.ศ. ๒๓๑๐
ใน พ.ศ. ๑๘๙๓ ดินแดนทางภาคกลางมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี งานช่างหลวงของกรุงศรีอยุธยามีพื้นฐานอันเกิดจาก วัฒนธรรมสั่งสม และปรุงแต่งด้วยการผสมผสานของวัฒนธรรมขอมกับแหล่งบันดาลใจใหม่ คือ ราชธานีแคว้นสุโขทัย และจากราชธานีแห่งแคว้นล้านนา ตามลำดับ ในศตวรรษแรกของราชธานีกรุงศรีอยุธยาได้ผนวกเอาแคว้นสุโขทัย ไว้ในอาณาจักรของตน ในทางช่างย่อมหมายถึง การรวมเอาศิลปะสุโขทัยไว้ในศิลปะอยุธยา ทั้งนี้ แตกต่างจากแคว้นล้านนา ซึ่งมีเหตุการณ์ทั้งด้านสงครามและมิตรภาพกับกรุงศรีอยุธยา ได้แผ่อิทธิพลศิลปะอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราชธานีกรุงศรีอยุธยา ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศทั้งใกล้และไกล จึงเพิ่มพูนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่มเติมความหลากหลายในงานช่างด้วยเช่นกัน
ลวดลายปูนปั้น ประดับที่ปรางค์ประธาน วัดส้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ราชธานีกรุงศรีอยุธยาผ่านช่วงระยะเวลากว่า ๔๐๐ ปี หลักฐานทางด้านงานช่างอันถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรม ในพระพุทธศาสนา ภายใต้พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงนำในการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัด ศิลปะ ของช่างหลวง จึงสืบทอดเป็นแบบแผนประเพณี และแพร่หลายสู่สังคมระดับล่าง ทั้งในราชธานี และเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาจักร หลักฐานทางด้านงานช่างที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในส่วนของลวดลายปูนปั้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งประดับอยู่ที่ปรางค์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นปรางค์ประธานของวัดส้ม ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ กรมศิลปากรเคยทำการขุดตรวจบริเวณฐานด้านตะวันตกเมื่อราวกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา พบว่า ระดับพื้นดินเดิมของวัดนี้ อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินปัจจุบันไม่น้อยกว่า ๑ เมตร และมีร่องรอยของการปฏิสังขรณ์เปลี่ยนแปลงที่ส่วนฐาน หลักฐานด้านลวดลายประดับที่พบนูนหนาน้อยลงมาก สอดคล้องกับรูปแบบและสัดส่วนของปรางค์ที่บอบบาง แม้ว่าจะสืบทอดรูปแบบมาจากปราสาทแบบขอมก็ตาม แต่ลวดลายประดับลดความซับซ้อนและบอบบางลง ทั้งนี้ รวมไปถึงกระหนก ที่ประกอบอยู่ด้วย ตัวอย่างที่เป็นฝีมือช่างเมื่อแรกสร้าง เช่น ลายเฟื่องอุบะ

ลวดลายปูนปั้น ประดับที่ปรางค์ประธาน วัดส้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สมัยอยุธยาตอนกลาง
เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๒ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุถึงงานสร้างพระวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ เป็นพระวิหารขนาดย่อมอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งยังคงหลงเหลือหลักฐานของลวดลายปูนปั้นประดับผนัง โดยลักษณะของลวดลาย แสดงถึงการเกี่ยวข้องกับรสนิยมของงานประดับในศิลปะล้านนา คือ ลายมีลักษณะของพรรณพฤกษาร่วมอยู่ด้วย
ลวดลายปูนปั้น ประดับผนังพระวิหารด้านทิศใต้ วัดพระศรีสรรเพชญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สมัยอยุธยาตอนปลาย
ลวดลายประดับตู้ลายรดน้ำ หรือที่เรียกว่า ตู้ลายทอง หรือ ตู้พระธรรม ที่มีชื่อเสียงมากจน ได้ชื่อว่า ตู้ครูวัดเซิงหวาย เป็นฝีมือช่างระดับครู ตู้พระธรรมใบนี้ได้จากวัดเซิงหวาย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่า ก่อนที่ตู้ลักษณะนี้จะเป็นตู้พระธรรมอยู่ตามวัด คงเป็นตู้เครื่องเรือนของเจ้านายในราชสำนักมาก่อน ใช้สำหรับเป็นที่เก็บเครื่องใช้ไม้สอย หรือเสื้อผ้า ต่อมาคงมีผู้นำไปถวายวัดและปฏิบัติตามต่อๆ กันมา จนกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัด และกลายมาเป็นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์ เรียกว่า ตู้พระธรรม ในที่สุด
ลวดลายกระหนกประดับตู้ลายทอง หรือตู้พระธรรม วัดเซิงหวาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
๙. ลวดลายแบบรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕-ปัจจุบัน
หลังจากกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย และก่อนมาเป็นสมัยราชธานีใหม่กรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพฯ จะมีสมัยธนบุรีอยู่ในช่วงระยะเวลา ๑๕ ปี งานช่างที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้างของสมัยธนบุรีย่อมสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา แต่คงเพราะได้รับการปฏิสังขรณ์มาก จนไม่สามารถศึกษาได้แน่ชัด นอกจากจิตรกรรมของ สมุดภาพฉบับกรุงธนบุรี ซึ่งมีประวัติ เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่บานแผนกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "ตรัสสั่งให้พญาศรีธรรมาธิราช จัดพระสมุดเนื้อดี ส่งให้ช่างไปเขียนภาพ ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชบอกเรื่องราวและคัดข้อความ..."
ตัวอย่างจิตรกรรมจากสมุดภาพฯ แสดงถึงทุสสเจดีย์ ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นอกนิฏฐาพรหม ซึ่งระบุเรื่องราวในนิทานพุทธประวัติไว้ว่า มหาเจดีย์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระภูษาของเจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์ เมื่อครั้งทรงผนวช ได้ประทานให้ฆฏิการพรหม อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ในมหาเจดีย์องค์นี้ ลวดลายประดับทั้งหมดในภาพซึ่งมีแบบต่างๆ ล้วนมีลายกระหนกประกอบอยู่ด้วยแทบทั้งสิ้น
จิตรกรรมจากสมุดภาพฉบับกรุงธนบุรี แสดงถึงทุสสเจดีย์บนสวรรค์ชั้นอกนิฏฐาพรหม ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ
วัดถือเป็นศูนย์รวมของงานช่างหลายอย่างหลายแขนง นำมาใช้เป็นสื่อในการเผยแผ่ศาสนา วัดผูกพันแนบแน่นกับวิถีชีวิตของคนไทย กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า วัดคือสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาและสังคมไทยด้วย งานสร้างหรือปฏิสังขรณ์วัดเป็นพระราชกิจสำคัญ ของพระมหากษัตริย์ที่มีมาตั้งแต่วัฒนธรรมศาสนาแพร่หลายเข้ามา เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว พระมหากษัตริย์โปรดให้พระราชวงศ์ รวมทั้งข้าราชบริพารโดยเสด็จพระราชกุศลในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งการสร้างและการปฏิสังขรณ์ ดังนั้น งานประดับของช่างไทยสมัยโบราณจึงเจริญรุ่งเรืองควบคู่กับพระพุทธศาสนาและราชสำนักเรื่อยมา
ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน เช่น งานช่างในพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ลวดลายกระหนกที่หน้าบรรพ (หน้าบัน) หอพระราชพงศานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือชื่อสามัญว่า "วัดพระแก้ว" สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง มีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ หมู่มหาปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวังอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลาง ของราชธานี เช่นเดียวกับวัดในพระบรมมหาราชวังในสมัยต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ โปรดเกล้าฯ ให้สงวนรักษา บูรณปฏิสังขรณ์ และทำนุบำรุงสร้างเสริมอย่างดียิ่งตลอดมา เช่น ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลได้ขอพระราชทานดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งสำคัญใน พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื่องในโอกาสจัดงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน หลังจากนั้นมาก็ได้มีการปฏิสังขรณ์เป็นระยะๆ
ลวดลายกระหนกที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
ในบรรดาลวดลายประดับที่มีอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นลวดลายนานาชนิด ได้แก่ งานปูนปั้น ลงรัก ปิดทอง และประดับชิ้นกระจกหลากสี งามแวววับจับตา เช่น พระอุโบสถ ซึ่งมีลวดลายประดับอันงดงามหลากหลายประเภท ล้วนเป็นส่วนผสมผสานของลายกระหนก อันเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า ลายไทยคือลายกระหนก
๑๐. ลายไทย-ลายกระหนกในสังคมไทยปัจจุบัน
งานช่างได้ผ่านยุคสมัยต่างๆ มาเป็นช่วงเวลากว่าพันปีอยู่ในดินแดนไทย ซึ่งปัจจุบันคือประเทศไทย จนพัฒนามาเป็น แนวประเพณีร่วมสมัยอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นงานช่างที่ควบคู่กับศาสนาและสถาบันกษัตริย์ มีการสร้าง และบูรณปฏิสังขรณ์วัดที่เปลี่ยนไปตามความนิยมใหม่ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จนมาถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บทบาทของเอกชนได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เพิ่มความหลากหลายให้แก่งานช่างไทย ช่างโบราณ หรือที่เรียกกันว่า งานช่าง แนวแบบแผนประเพณี ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในวัด หรือในปราสาทราชวัง ดังเช่นอดีตที่ผ่านมา แต่ได้แพร่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในหน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน หรือตามห้องแสดงภาพ งานช่างไทยแนวแบบแผนประเพณีสามารถแยกย่อยออกเป็นหลายเรื่องราว และหลายรูปแบบหลายลักษณะ จากเรื่องของการเลือกใช้วัสดุ และการแสดงออก ที่แยกประเด็นออกไปจากเดิม มาเป็นการมีแบบอย่างเฉพาะ ของยุคร่วมสมัยปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์จากวัฒนธรรมตะวันตก และวัฒนธรรมตะวันออก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ รูปแบบของวัฒนธรรมไทยจึงได้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และมาสะท้อนให้เห็นในงานช่างไทย ทั้งในศูนย์กลาง คือ กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้-ไกล โดยมีลายกระหนกเป็นแบบอย่าง ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มตามลักษณะของงานประดับที่มีลายกระหนกเป็นหลักได้ ๓ กลุ่ม ดังนี้

ภาพจิตรกรรม ฝีมือถวัลย์ ดัชนี ที่มีลายกระหนกแบบร่วมสมัย
ในหอศิลป์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย อาคารเบญจจินดา กรุงเทพฯ
กลุ่มที่ ๑ แบบฉบับแห่งชาติ
แบบอย่างของกระหนกในกลุ่มนี้ มีกฎเกณฑ์และมีสัดส่วนเฉพาะ อนุโลมกล่าวได้ว่าเป็นงานช่างหลวง เช่น งานออกแบบธนบัตร ซึ่งมีลายกระหนกเป็นส่วนประดับสำคัญที่สะท้อนสัญลักษณ์ของความเป็นชาติไทย งานช่างจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และบรรดาครู-อาจารย์ช่าง สังกัดสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนช่างศิลป์ (ซึ่งในปัจจุบันคือ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) มหาวิทยาลัยราชภัฏในส่วนของงานช่างแนวประเพณี (ศิลปะประจำชาติ) และศิลปินแห่งชาติ ในสาขาที่เกี่ยวกับงานช่างแบบแผน ประเพณีไทย บรรดาครู-อาจารย์หรือนายช่างในกลุ่มนี้ หลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานออกแบบซุ้มหรือป้ายเฉลิมพระเกียรติ ในวาระต่างๆ รวมทั้งความวิจิตรของลายไทยหลายประเภท เช่น ที่ประดับพระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในระหว่างวันที่ ๑๔-๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ลวดลายประดับแบบฉบับแห่งชาติ
ประดับพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
กลุ่มที่ ๒ แบบท้องถิ่น
ภายใต้แบบฉบับแห่งชาติ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็มีแบบของตน ที่เรียกในที่นี้ว่า แบบท้องถิ่น ถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งมาสู่อีกรุ่นหนึ่ง ในท้องถิ่นนั้น ปัจจุบันช่างในกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยลงเป็นลำดับ ลวดลายประดับท้องถิ่นที่มีลายกระหนกประกอบอยู่อย่างสำคัญ เช่น ลวดลายปูนปั้นประดับศาสนสถานของภาคเหนือ
ลักษณะลวดลายปูนปั้นแบบท้องถิ่นของภาคเหนือที่วัดเด่นสะหลีศรีเมืองแถน จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันงานของช่างท้องถิ่นที่สะท้อนความเป็นพื้นถิ่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะกำลังถูกแทนที่ด้วยงานช่างหลวง (หรือที่เรียกว่า แบบฉบับแห่งชาติ) เพราะผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาทางศิลปะทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งศึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวกับแบบฉบับของช่างหลวงมีจำนวนมากขึ้น เมื่อจบการศึกษาก็กลับไปประกอบอาชีพช่างที่ภูมิลำเนาเดิม หรือรับจ้าง งานของวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ช่างเหล่านี้ล้วนศึกษารายละเอียดของแบบฉบับแห่งชาติหรือช่างหลวง จึงทำให้แบบอย่าง ของลวดลายประดับแนวแบบฉบับแห่งชาติแพร่กระจายจนครอบคลุมลักษณะลายกระหนก ซึ่งเป็นฝีมือช่างพื้นถิ่นมากขึ้น เช่น งานช่างในท้องถิ่นภาคอีสาน สำหรับลายไทย-ลายกระหนกของทางภาคใต้ ซึ่งเป็นการเขียนสีลวดลายประดับเรือกอและ ยังคงรักษาแบบฉบับของท้องถิ่นไว้อย่างมั่นคง
กลุ่มที่ ๓ แบบร่วมสมัย
เป็นกลุ่มศิลปินร่วมสมัยปัจจุบันที่มีแนวทางเฉพาะตัว เป็นการเขียนลายไทย-ลายกระหนก ที่มิได้เจาะจงเฉพาะ การอยู่ภายใต้แบบแผนประเพณีโบราณเท่านั้น แต่ผลงานของศิลปินกลุ่มนี้ กลับสะท้อนถึงพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมไทย ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน ไม่ได้เคร่งครัดอยู่ในแบบฉบับแห่งชาติ
ลวดลายกระหนกแบบร่วมสมัย ที่อุโบสถวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ฝีมือเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์