ความสำคัญของลายไทยในสังคมไทย
ในสังคมไทยสิ่งที่ถือว่าเป็นงานช่างมีอยู่ทั้งภายในราชสำนัก ในวัด และตามบ้านเรือน คือ ลายไทย-ลายกระหนก ลวดลายประดับดังกล่าว มีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานความเป็นมา ย้อนอดีตกว่าพันปี ก่อนจะมาเรียกชื่อว่า ลายไทย-ลายกระหนก ในปัจจุบัน โดยมีเค้าอยู่ในศิลปะสมัยทวารวดีของไทย อันเป็นสมัยแรกเริ่มวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายจากประเทศอินเดียโบราณมาสู่ดินแดนในภูมิภาคนี้
๑. ลายไทยคือลายกระหนก ลายกระหนกคือลายไทย
ชื่อเรียก ลายไทย อาจมีมาอย่างช้าเพียงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คำว่า ไทย ในสมัยโบราณสะกดว่า ไท เช่น มีคำว่า เมืองไท ปรากฏบนด้านหนึ่งของเหรียญเงินตราทองแดง ประวัติของเหรียญดังกล่าวมีใน พ.ศ. ๒๓๗๘ ซึ่งตรงกับรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชกระแสรับสั่งให้ นายรอเบิร์ต ฮันเตอร์ (Mr.Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษ จัดทำตัวอย่างเหรียญ เมื่อได้ทอดพระเนตรเหรียญตัวอย่างซึ่งทำมาถวาย ๒ แบบ แล้วไม่โปรด จึงไม่ได้จัดทำเพื่อนำออกใช้ ปัจจุบัน เหรียญสำคัญดังกล่าวเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม
เหรียญเงินตราทองแดง "เมืองไท" จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย วังบางขุนพรหม กรุงเทพฯ
ลายไทยมีอยู่มากมายหลายลักษณะตามการออกแบบของช่างแต่ละยุคสมัย โดยส่วนใหญ่มักมีลายสำคัญประกอบอยู่ด้วยเสมอ คือ ลายที่เรียกว่า กระหนก ซึ่งมีลักษณะคล้ายเลข ๑ เติมจุก ดังนั้น เมื่อเรียกลายไทยจึงหมายรวมถึงลายกระหนกด้วย ลักษณะที่คล้ายเลข ๑ ของกระหนกอาจอ้วนป้อม ผอมเพรียว หรือเรียวสะบัดปลาย และรายละเอียดจะมีมากหรือน้อยก็ตาม ขึ้นอยู่กับรสนิยมเฉพาะตัวของช่าง และความนิยมของแต่ละยุคสมัยด้วย
ชื่อเรียก กระหนก หรือ ลายกระหนก ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใช้เรียกกันมาตั้งแต่ระยะใดของสมัยที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เข้าใจเพียงว่า แต่เดิมคงเรียกว่า ตู้พระธรรม หรือตู้ลายทอง หรือตู้ลายรดน้ำ เพราะคำว่า "กระหนก" แปลว่า ทอง ลายกระหนก จึงแปลว่า ลายทอง เมื่อเวลานานไป กระหนกจึงเปลี่ยนไปเป็น ลักษณะหยักปลายสะบัดของลายทอง คือลายกระหนก
ธนบัตร ฉบับราคา ๑๐๐ บาท ออกแบบให้มีแถบลายไทย-ลายกระหนกอยู่เบื้องล่างพระบรมฉายาลักาณ์ รัชกาลที่ ๕
การที่กระหนกผสมกลมกลืนอยู่กับลายต่างๆ แล้วเรียกรวมๆ ว่า ลายไทย จึงอาจกล่าวได้ว่า กระหนกเป็นสาระสำคัญของลายไทย คือ ความหมายของลายไทยคือลายกระหนก หรือลายกระหนกคือลายไทย
๒. วัง วัด และบ้าน เชื่อมโยงกันด้วยลายไทย
ลายไทย-ลายกระหนก ซึ่งมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน มีหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับช่างแต่ละยุคสมัยจะคิดประดิษฐ์ลวดลาย ไปตามความรู้สึก หรือตามจินตนาการ แล้วตั้งชื่อตามลักษณะของลวดลายนั้นๆ เพื่อสื่อสารให้รับรู้กัน เช่น ลายประจำยามก้ามปู ลายเฟื่องอุบะ ลายเครือเถา ฯลฯ
ลวดลายกระหนกที่ใช้ประดับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
ลักษณะของลายไทยมีเป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกมากมายจนไม่สามารถจำได้หมด ความหลากหลายของลายไทย ที่มักมีกระหนกร่วมอยู่ด้วย จึงนำมาใช้ในการประดับประดาสิ่งของและสถานที่ เช่น พระมหาปราสาทราชมณเฑียร หรืออาจนำไปใช้ภายในวัด ในบ้านเรือน สิ่งพิมพ์ แผ่นป้ายตามถนนหนทาง รวมทั้งในโรงแรม แม้แต่ในกระเป๋าเงิน ก็สามารถพบเห็นกระหนกด้วยเช่นกัน โดยอาจมีมากบ้างน้อยบ้าง ได้แก่ ส่วนที่เป็นลายประดับธนบัตรทุกรุ่น ทุกราคา