คำนิยาม
โรคไข้หวัดใหญ่ (influenza) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสทางระบบการหายใจที่รู้จักกันมานานแล้ว ชื่อ โรคมาจากคำว่า "ลา อินฟลูเอนซา" (la influenza) โดยเริ่มเรียกกันที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ซึ่งมาจากรากศัพท์ ในภาษาละตินว่า "อินฟลูเอนเชีย" (influentia) แปลว่า "มีอิทธิพล" โดยสันนิษฐานว่า การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นผลจากอิทธิพลของดวงดาว
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกแยกได้จากไก่ ซึ่งป่วยเป็นโรคระบาดกาฬโรคสัตว์ปีก ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ต่อมา แยกเชื้อได้จากหมู ที่ป่วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ และแยกเชื้อได้จากคน ซึ่งป่วยเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากนั้น จึงได้มีการศึกษาวิทยาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ทั้งในสัตว์และในคน รวมทั้งการวิจัย เพื่อพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสตลอดมา
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ มักพบจำนวนมาก
ในฤดูหนาวและฤดูฝน
ประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวจัดทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ มักพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก ในฤดูหนาว ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัว หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต ด้วยโรคปอดบวมแทรกซ้อนมากขึ้น จึงมีการเตรียมผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จากเชื้อที่กำลังระบาด และฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง ที่จะติดเชื้อ และเกิดอาการโรครุนแรง ก่อนถึงฤดูระบาด ในแต่ละปี
สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดปี โดยพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในฤดูฝน (เดือนกรกฎาคมและสิงหาคม) และพบจำนวนมากขึ้นอีกครั้งในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม) เนื่องจาก ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรงและหายได้เอง ในอดีต โรคไข้หวัดใหญ่ จึงไม่ได้รับความสนใจว่า เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๔๖ เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่นก ในสัตว์ปีก และติดต่อมาสู่คน ซึ่งมีอาการที่รุนแรง และมีอัตราตายสูง ปัญหาเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ จึงจัดเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเตรียมพร้อม เพื่อรับการระบาดใหญ่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้
ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า influenza A H1N1 2009 เชื้อที่แยกได้มีลักษณะสารพันธุกรรมที่มีกำเนิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่หมู ปรากฏว่า โรคได้แพร่กระจายไปในหลายประเทศ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และมีผู้เสียชีวิตจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว