เล่มที่ 37
โรคไข้หวัดใหญ่
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิทยาไวรัส

            เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จัดอยู่ในวงศ์ออร์โทมิกโซวิริดี (Orthomyxoviridae) แบ่งออกเป็นชนิดเอ (A) ชนิดบี (B) และชนิดซี (C) โดยพบว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่เอติดเชื้อในสัตว์หลายชนิดและในคน ไวรัสไข้หวัดใหญ่บีและซีพบในคน แต่ไม่พบในสัตว์ ส่วนไวรัสโทโกโทไวรัส (Thogotovirus) ซึ่งอาจจัดเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดดี (D) เป็นเชื้อก่อโรคในสัตว์แต่ไม่พบในคน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ เป็นเชื้อที่พบในนกน้ำตามธรรมชาติโดยไม่ก่อโรค พบเชื้อไข้หวัดใหญ่เอได้ทุกชนิดย่อยในเป็ดป่า ห่านป่า และนกนางนวล


            ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอยังจำแนกโดยอาศัยสมบัติของแอนติเจนโปรตีนฮีแมกกลูตินิน (H) เป็นชนิดย่อย ๑๗ ชนิด คือ H1-H17 และเป็น ๙ ชนิด คือ N1-N9 โดยอาศัยสมบัติของเอนไซม์นิวรามินิเดส (NA) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรคตามฤดูกาล ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เอ H1N1, H2N2 และ H3N2 ไวรัสไข้หวัดใหญ่นกเป็นสายพันธุ์ H5N1 ไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ H1N1 สายพันธุ์คละใหม่ระบาดใน พ.ศ. ๒๕๕๒ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๙ เป็นไวรัส ที่มีหน่วยพันธุกรรมคละกันของไวรัสจากหมู ไวรัสจากนก และไวรัสจากคน สำหรับไวรัส H1N1 มีส่วนคล้ายกับเชื้อ H1N1 ที่เคยระบาดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๕๐๐ นอกจากนี้ยังมีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ ที่ติดต่อจากสัตว์ปีก มาก่อโรคในคนอีก เช่น H9N2, H7N7


            อนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่เอมีสารพันธุกรรมลักษณะเป็นท่อน ดังนั้น ในรายที่มีการติดเชื้อ ๒ สายพันธุ์ในเซลล์เดียวกัน จึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนท่อนสารพันธุกรรมเกิดการคละใหม่เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ ซึ่งเชื้อตัวใหม่จะก่อโรคที่รุนแรง ทำให้เกิดโรคระบาดในสัตว์หลายชนิด และอาจติดต่อมาสู่คน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้อาจกลายพันธุ์ หรือปรับตัวให้สามารถติดต่อจากคนสู่คน จนเกิดโรคระบาดทั่วโลก สำหรับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บีและซีไม่พบการระบาดใหญ่ สัตว์ที่พบว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอดังแสดงในแผนภาพอนุภาคไวรัสไข้หวัดใหญ่มีรูปร่างเป็นทรงกลม และอาจมีรูปร่างเป็นสายยาวในระยะเพิ่มจำนวน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘๐-๑๒๐ นาโนเมตร ชั้นนอกสุดเป็นเยื่อไขมัน หุ้มล้อมรอบเป็นซอง ชั้นถัดมาเป็นโปรตีนที่เป็นเนื้อพื้น ทำให้คงรูปร่างอยู่ได้ แบ่งเป็น M1 ที่อยู่โดยรอบอนุภาค และ M2 เป็นช่องให้ประจุผ่าน สำหรับโครงสร้างนอกสุดเป็นปุ่มที่ยื่นออกมาโดยรอบปุ่มมี ๒ ชนิด คือ โปรตีนที่ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่ม เรียกว่า ฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin: H) มีลักษณะเป็นรูปแท่ง และโปรตีนที่เป็นเอนไซม์นิวรามินิเดส (neuraminidase: N) มีลักษณะเหมือนดอกเห็ด ปริมาณสัดส่วนระหว่าง H ต่อ N ประมาณ ๔ : ๑