วิทยาการระบาด
การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในอดีต เกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอ ในศตวรรษที่ผ่านมา เกิดการระบาดใหญ่ ๓ ครั้ง คือ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นไข้หวัดใหญ่สเปน H1N1 ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นไข้หวัดใหญ่เอเชีย H2N2 และใน พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง H3N2 ซึ่งแต่ละครั้งมีความรุนแรงแตกต่างกัน ไข้หวัดใหญ่สเปนมีความรุนแรงสูงสุด และมีความสามารถก่อโรคสูง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกถึง ๔๐ ล้านคน การระบาดใน ๒ ครั้งหลังมีความรุนแรงน้อยกว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑ ล้านคน การระบาดแต่ละครั้ง เกิดขึ้นจากการที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากสัตว์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม และปรับตัว เข้ามาแพร่เชื้อในคน การระบาดจึงรุนแรงและแพร่กระจายเป็นวงกว้าง เนื่องจาก ประชากรมนุษย์ไม่มีภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้อพันธุ์ใหม่ ในขณะที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลนั้น มีประชากรส่วนหนึ่งเคยติดเชื้อมาแล้วในปีก่อนๆ ดังนั้น การแพร่ระบาด และความรุนแรงของโรคจึงน้อยกว่า
การระบาดใหญ่อาจเกิดขึ้นหลายระลอก และในขณะที่ไวรัสแพร่เชื้อนั้น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของไวรัส เพื่อให้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกในผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดจากการกลายพันธุ์ ทำให้โปรตีนที่ผิวไวรัสส่วน H หรือ N เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ ตามฤดูกาล ทำให้ในการผลิตวัคซีน ต้องเปลี่ยนสายพันธุ์ไวรัสเกือบทุกปี
ความรุนแรงในการก่อโรคของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ในผู้ป่วย เช่น การอักเสบรุนแรงในปอด ซึ่งเป็นผลมาจาก การทำงานรุนแรงผิดปกติของภูมิต้านทาน โดยที่ไวรัสกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายสร้างสารกระตุ้นการอักเสบออกมามากเกินไป ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงในปอด จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายจากคำถามว่า เหตุใดผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว จึงเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดในการระบาดใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเป็นผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก
การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นแม้จะสงบลงแล้ว แต่ยังคงพบเชื้อไวรัสอยู่ต่อไป อาจกล่าวได้ว่าเชื้อจากการระบาดใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ ยังคงมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่ระบาดตามฤดูกาลนั้นก็สืบเชื้อสายมาจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปน และอยู่ในประชากรมนุษย์มาตลอดเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาจทดแทนไวรัสเดิม ทำให้สายพันธุ์เดิมหายไป เช่น กรณีไวรัส H2N2 ที่หายไปเมื่อเกิดการระบาดของไวรัส H3N2 มาแทน ในกรณีไวรัส H1N1 2009 นี้ การระบาดใหญ่อาจทดแทนทำให้ไวรัส H1N1 ของไข้หวัดใหญ่คนตามฤดูกาลหายไปก็เป็นได้
นกนางนวล
ไข้หวัดใหญ่นก
เป็นโรคที่เกิดกับสัตว์ปีกหลายชนิด รังโรคตามธรรมชาติของไวรัส ก่อโรคแพร่กระจาย อยู่ใน นกเป็ดน้ำ (wild waterfowl) นกฝั่งทะเล (shorebird) และนกนางนวล (gull) ซึ่งไม่ได้ทำให้สัตว์เหล่านี้ มีอาการป่วย แต่จะทำให้สัตว์ปีกที่บินไม่ได้ที่คนเลี้ยงไว้ เช่น ไก่ ไก่งวง ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยปกติเชื้อไวรัสในสัตว์ปีกไม่ติดต่อโดยตรงสู่คน รวมทั้ง ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ปัจจุบันได้มีการติดต่อโดยตรงของสายพันธุ์ H5N1 สู่คน พบครั้งแรกในฮ่องกงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ และในช่วงต้น พ.ศ. ๒๕๔๗ ก็เริ่มพบการระบาดในสัตว์ปีกในประเทศต่างๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ต่อมาพบในประเทศอื่นๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา สาเหตุของการแพร่ระบาด อาจเกิดจากการอพยพย้ายถิ่นของนก จากพื้นที่แหล่งอาศัยเดิม จากการศึกษาทางวิทยาการระบาด ของไวรัสไข้หวัดนก ในประเทศไทย พบว่า ไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศไทย มีความใกล้ชิด เชิงวิวัฒนาการ กับไวรัสก่อโรคไข้หวัดนกในประเทศเวียดนาม และกับไวรัสในเป็ด ทางตอนใต้ ของประเทศจีน แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิด กับไวรัสไข้หวัดนก ที่ระบาดในฮ่องกง
ในประเทศไทย ได้เริ่มมีรายงานการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 และการระบาดในสัตว์ปีก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยพบแหล่งรังโรคในเป็ดไล่ทุ่งมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเป็นครั้งแรก คือ เสือดาว และเสือโคร่ง ในสวนสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก H5N1 ในไก่ อย่างรุนแรง ในหลายจังหวัดด้วย ส่วนการติดเชื้อในคน ในประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 รายแรกเป็นเด็กชายอายุ ๗ ปี จากจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๔๙ มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ ๒๒ ราย เสียชีวิต ๑๔ ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีความใกล้ชิดกับไก่เลี้ยง แต่มีอยู่ ๒ ราย ที่สงสัยว่าเป็นการติดต่อจากคนสู่คน